รู้ประมาณในการบริโภค


    โลภะทำให้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค และการจะละคลายขัดเกลาความติดข้องในการบริโภคอาหาร รวมทั้งกิเลสทั้งหมดได้ ต้องเป็นการอดทนที่จะเข้าใจในความไม่ใช่เรา คือรู้ในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการไม่มีกิเลสได้จริงๆ


    ผู้ฟัง เกิดมาเป็นมนุษย์เราก็ทานอาหารที่ ๓ มื้อ แต่ลิ้นที่เราได้ลิ้มรสอาหารอันอร่อย ก็มีความรู้สึกว่าเราอยากทานต่อ อันนั้นมันเป็นตัวกิเลสใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ อยาก ต้องเป็นกิเลสแน่ ท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวว่าก่อนจะอิ่ม ๔ หรือ ๕ คำ ก็ควรจะดื่มน้ำจะได้อิ่มไปเลย แต่เราอิ่มแล้วต่ออีก ๕ หรือ ๖ คำ เพียงแค่จะลดลงก็ยากใช่ไหม เพราะฉะนั้นความเป็นตัวตน เราไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างทรงแสดงไว้ว่า เป็นปัญญาเท่านั้นที่สามารถที่จะนำไปในกิจทั้งปวง แม้จะมีข้อความว่า รู้ประมาณในการบริโภค ไม่ได้สั่ง ไม่ได้ห้าม ไม่ได้บอกว่าจะต้องทำอย่างนั้น แต่ผู้มีปัญญารู้เลยว่า บริโภคเพราะกิเลสใช่ไหม อิ่มแล้วต่ออีก ๕ คำ เพราะกิเลสใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ที่จะบริโภคมากหรือน้อย รู้ประมาณในการบริโภคคือสามารถที่จะเห็นความจริงในขณะที่กำลังบริโภค ว่าขณะนั้นมีกิเลสมากน้อยแค่ไหน และกิเลสนั้นจะหมดได้อย่างไร ต่อเมื่อขณะนั้นรู้ว่าไม่ใช่เรา ใครห้ามโลภะได้ ใครห้ามโทสะได้ แต่ว่าปัญญานำไปในกิจทั้งปวง รู้เลยว่าเพราะกิเลสจึงได้บริโภคมากอย่างนั้น

    อ. อรรณพ ทรงให้ความสำคัญกับการรู้จักประมาณในการบริโภคมาก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วการบริโภคก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอย่าลืม ดูเหมือนว่ากิเลสไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใครใช่หรือไม่ แต่ความจริงกิเลสเท่านั้นที่ทำร้ายจิต อย่างอื่นไม่สามารถที่จะทำร้ายจิตได้เลย และจะสังเกตได้ ถ้ามีปัญญาจะบริโภคตามที่สมควรจริงๆ แล้วแต่กำลังของปัญญาด้วย ขณะเดียวกันบริโภคมากหรือน้อย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้นหนทางเดียวคือ ปัญญาเท่านั้นที่ขณะนั้นสามารถที่จะรู้ลักษณะของธรรมไม่ใช่เรา ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีทางที่จะคลายกิเลส และดับกิเลสได้เลย อาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่บริโภคไม่ได้

    อ. อรรณพ ก็เลยดูว่าทำไมร้ายแรงจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องบริโภค และเวลาที่บริโภคอาหารก็เพลินไปทั้งทางตา อาหารไม่น่ารับประทานเลย ไม่อยากรับประทานด้วย แต่ถ้าจัดสวยอย่างดีดูน่ารับประทาน มาแล้วทางตาติดข้องแล้ว อย่างอื่นอาจจะไม่พร้อมกัน แต่อาหาร ทั้งทางตาที่เห็น และก็ถ้ามีเสียงดนตรีไทยเพราะๆ กลิ่นของอาหาร อาหารนี้รสเป็นอย่างไร แล้วรสด้วย และกระทบสัมผัสแข็งไปก็ไม่ได้ ต้องกรอบหรือนิ่ม หรือกำลังพอดีนี้ แสดงว่าทั้งหมดเลย แล้วก็จำเป็นต้องบริโภค ถ้าเป็นอย่างอื่นเราเว้นไม่ทำได้ แต่ใครเว้นไม่รับประทานอาหารได้หรือไม่ เมื่อไม่ได้ ก็บริโภคด้วยความติดข้อง ทั้งหมดเลยครบถ้วน เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็น เกิดมาก็อาหารจำเป็นแล้ว และยังไม่ทันจะติดข้องอย่างอื่นมากมาย ยังเป็นเด็กเล็กๆ นี้ เพิ่งเกิดมาวันเดียวก็ต้องบริโภค และก็ยิ่งเติบโตขึ้นทุกวัน ความติดข้องก็เพิ่มขึ้น หรือใกล้ที่จะสิ้นชีวิตอายุมากแล้ว ก็ยังติดข้องในอาหารด้วย อย่างอื่นอาจจะติดข้องน้อยลงลดลงไป แต่อาหารก็ยังต้องรับประทาน ลืมว่าบริโภคเพียงเพื่อมีชีวิตอยู่ คงไม่เฉพาะอาหารเรื่องเดียว แต่สังเกตได้จากผู้ที่ได้เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นความติดข้องลดน้อยลง โดยไม่ต้องไปคิดกะเกณฑ์อะไร แต่ถ้าพยายามเหลือเกิน ที่จะให้ไม่ต้องการอย่างนั้น ไม่ต้องการอย่างนี้ แต่ยังมีกิเลสอยู่ก็ต้องเป็นไปตามกิเลส แต่ทั้งๆ ที่ติดยังคงติด ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นก็เป็นพวกที่ทนได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้เลยว่าแต่ละคำในพระไตรปิฏกเป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด เช่น ทนต่อความร้อน ความหนาว ฟังดูไม่เห็นยากเลย เขาก็ทนกันได้ หนาวเขาก็ไม่ห่มผ้า ก็มี ไม่ใส่เสื้อหนาวก็ได้ ร้อนเขาก็ทนได้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทนได้ คิดว่าดีแล้ว แต่ยังมีกิเลส เพราะฉะนั้นทนร้อนทนหนาวได้ เพื่อที่จะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ทนดีกว่าใช่ไหม ดีกว่าเป็นเรา และทน แต่ปัญญาที่รู้ว่า ทนเพราะเห็นว่าจะเดือดร้อนทำไม ในเมื่อเดือดร้อนก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัญญาแล้วก็สามารถที่จะทนได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจากอะไรทั้งสิ้น ความร้อน ความหนาว อาหารไม่อร่อยหรืออะไรต่างๆ นี้ก็ค่อยๆ ลดน้อยลงไป ตามกำลังของปัญญา

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าพวกที่อดทนได้ อย่าอดทนเพียงแค่หนาวร้อน หรืออาหารที่อร่อยหรือไม่อร่อย แต่อดทนที่จะรู้ความจริงว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ทรงแสดงเพียงแค่ให้อดทนหนาวร้อน แต่มากยิ่งกว่านั้นก็คือว่า อดทนต่อการที่จะเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าบางคนพอได้ยินเสียงใครติ ใครว่า โกรธแล้ว แต่ว่าผู้ที่มีปัญญาอดทนต่อคำที่เขากล่าวถึงในทางที่ไม่น่าพอใจได้ เพราะเหตุว่าปัญญาก็รู้ตามความเป็นจริง ว่าแท้ที่จริงแล้ว โกรธไม่ได้ทำร้ายคนที่เขาว่าเรา แต่ว่าทำร้ายผู้โกรธในขณะนั้น ถ้าเราโกรธเมื่อใด เมื่อนั้นก็คือว่าถูกทำร้ายด้วยกิเลส

    อาหารอร่อยอดทนไม่รับประทาน ได้ไหม เห็นหรือไม่ ความอดทนไม่ใช่แค่อดทนเรื่องเดียวคือหนาวร้อน อดทนต่อการไม่มีกิเลสหรือว่าละคลายกิเลส และอดทนที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ทุกคนไม่อยากโกรธ หาทางไม่โกรธ แต่ลืมที่จะรู้ว่าที่ถูกต้องไม่ใช่ว่าไม่อยากจะโกรธ หาทางไม่โกรธ แต่รู้ว่าขณะนั้นโกรธเป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    ทั้งหมดต้องประมวลมาสู่ธรรมที่กำลังปรากฏทุกอย่างเป็นธรรม อดทนที่จะไม่โกรธ อดทนที่จะไม่รัก อดทนกับทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะขณะนั้นก็คือไม่ยินร้ายก็ยินดี เพราะฉะนั้นอดทนทั้งยินดี และยินร้าย


    หมายเลข 10594
    7 พ.ค. 2567