พระรับเงินทอง
ภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับ และไม่ยินดีในเงิน และทอง ผู้ที่บวชคือผู้ที่สละแล้ว เมื่อศึกษาแล้วเข้าใจ ก็ทราบว่าไม่สมควรเลยที่จะเอาเงิน และทรัพย์สินไปให้ภิกษุ
ผู้ฟัง บางครั้งบางคราว ก็ประสบด้วยตัวเองว่า พระภิกษุบางรูปท่านคงมีเวลาแล้วก็มีเงินทองมากเกินความจำเป็น ท่านก็ไปเดินจับจ่ายใช้สอยในห้างสรรพสินค้า ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมก็ควรจะมีความเข้าใจถ่องแท้ว่าเงิน และทองไม่สมควรกับเพศของพระภิกษุเลย แต่คิดว่าคำสอนเหล่านี้ขาดหายไปในหมู่ของสังคมชาวพุทธว่าเราควรปฏิบัติกับพระภิกษุอย่างไร ในการที่จะให้ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนตามจุดประสงค์ที่ท่านบวช
อ.อรรณพ ก็เป็นสิ่งที่อาจจะสนทนากันหลายครั้ง แต่ว่าเป็นเรื่องใหญ่มากเลยเรื่องนี้ เพราะว่าเป็นศีลข้อที่ ๑๐ ที่แม้แต่สามเณรก็ไม่สามารถที่จะรับเงินรับทองได้ เพราะฉะนั้น เป็นการที่พวกเราที่ใช้ชื่อว่าชาวพุทธไม่ได้ศึกษาพระธรรม และเราก็คิดว่าผู้ที่บวชเป็นภิกษุท่านบอกอย่าไรเราก็เชื่อตาม บางทีคฤหัสถ์ก็แคลงใจ ก็ถามว่าการกระทำอย่างนี้ถูกหรือไม่ อย่างเช่น อาจจะถามท่านว่าถวายเงินได้หรือไม่ สมมุติว่าท่านบอกว่าได้ เราก็ทำตามเลย เพราะพระภิกษุบอกแล้วว่าได้ก็คือได้ แต่จริงๆ ใครจะเปลี่ยนพระวินัยไม่ได้ ใครจะบอก จะเปลี่ยนเอาเองไม่ได้ เพราะพระวินัยแต่ละข้อ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพุทธบัญญัติเป็นสิกขาบทแต่ละข้อ และการบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อก็มีที่มาที่ไป ไม่ใช่พระองค์จะทรงบัญญัติเองทีเดียวเลย แม้พระองค์จะมีพระสัพพัญญุตญานที่ทรงรู้ทุกอย่าง พระองค์จะบัญญัติทีเดียวเลยก็ได้ใช่หรือไม่ ไม่ใช่ว่าพระองค์ท่านไม่ทราบ แต่ว่าให้มีเหตุการณ์อันสมควรที่จะทำให้บัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ เช่น ในเรื่องเงิน และทองเป็นศีลข้อที่ ๑๐ ซึ่งแสดงว่าเป็นข้อที่สำคัญ จากศีล ๕ ของคฤหัสถ์ หรือศีลอุโบสถก็เพิ่มเติมอีกเป็น ๘ ข้อ แล้วก็มีการแบ่งละเอียดออกมา แยกข้อนัจจคีตวาทิตออกมาเป็น ๒ ข้อ แล้วก็เป็นข้อที่ ๑๐ ก็คือข้อรับเงิน และทองซึ่งเป็นสิกขาบทของสามเณร
เพราะฉะนั้น ผู้ที่บวชคือผู้ที่สละแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ได้ศึกษา ไม่เข้าใจ แต่เมื่อศึกษาแล้วเข้าใจไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราไม่เอื้อเฟื้อเลย บางคนอาจจะคิดว่าไม่เอื้อเฟื้อภิกษุ ท่านจะอยู่อย่างไร ท่านไม่มีสตางค์ ท่านจะอยู่อย่างไร ท่านจะไปไหนอย่างไร ค่าน้ำค่าไฟ ญาติโยมทั้งหลายก็มีความเห็นอกเห็นใจ แล้วก็อยากที่จะบำรุงดูแลท่าน แต่ไม่สมควรเลยที่จะเอาเงิน และทรัพย์สินไปให้ภิกษุ ท่านจะบอกว่าได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ท่าน แต่คฤหัสถ์ต้องมีความรู้พระวินัยด้วย ถ้าไม่รู้ ใครเขาบอกอย่างไรก็ไปเปลี่ยนวินัยได้อย่างนั้นหรือ เพราะฉะนั้น ต้นเหตุของความเสื่อมอย่างมากของพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นเรื่องของพระภิกษุก็คือข้อรับเงินรับทอง เมื่อภิกษุท่านมีเงินมีทองท่านก็จะไปทำอย่างที่คุณผู้ฟังพูด อาการนี้ก็ดูไม่งามเลยที่ภิกษุจะเข้าไปซื้อจับจ่ายใช้สอยเช่นเดียวกับคฤหัสถ์ ซึ่งไม่ได้ต่างกันเลย ก็เป็นการที่ไม่เหมาะควร หรือแม้จะเอาเงินทองไปทำสิ่งที่ดูว่ามีประโยชน์ แต่ก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เช่น การก่อสร้าง และอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นธุระของพระภิกษุสงฆ์เลย เพราะเงิน และทองก็จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย ความเสียหายของพระพุทธศาสนาอย่างมาก ใช่หรือไม่
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคฤหัสถ์เอื้อเฟื้อไม่ให้เงินทองกับพระภิกษุก็นับว่าเป็นการเอื้อเฟื้อส่วนตัวกับท่านด้วย ทำให้ท่านไม่ต้องอาบัติ และไม่ต้องได้รับอันตรายจากอาบัตินั้น ซึ่งถ้าสิ้นชีวิตก่อนที่จะปลงอาบัติก็เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อการที่จะได้ไปเกิดในสุคติภูมิ ก็คือต้องไปเกิดในทุคติภูมิ เอาเงินให้ท่านหมายถึงว่าให้ท่านไปอบาย ไม่ทราบว่าพูดแรงไปหรือไม่ แต่เป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าเราเอาเงินเอาทองไปให้ท่าน แล้วท่านก็รับไปแล้วท่านก็ไม่ได้ปลงอาบัติก็เท่ากับว่าหยิบยื่นทางเสื่อมให้กับท่าน แล้วก็ยังทำลายพระวินัย ซึ่งเป็นรากแก้วของพระศาสนา ท่านแสดงไว้ว่าพระวินัยเป็นรากแก้วของศาสนา เพราะฉะนั้นเมื่อรากแก้วถูกทำลายเสียแล้ว โดยการที่ช่วยเอื้อเฟื้อในการไม่เอื้อเฟื้อพระธรรมวินัย แต่ทำลายพระธรรมวินัย เมื่อพระวินัยเสียหาย รากแก้วของพระศาสนาเสียหาย พระศาสนาก็อันตรธาน เพราะสุดท้ายก็เหลือแต่เพศมีผ้าเหลืองผูกคอ แต่ว่าศีลก็วิบัติไปหมดแล้ว ก็จะค่อยๆ เสื่อมไปเหมือนกับที่พระองค์ท่านได้ตรัสพยากรณ์ไว้แล้วว่า โคตรภู ภิกษุ ตอนท้ายๆ ของพุทธศาสนาจะมีศีลอันวิบัติไม่ต่างกับคนธรรมดาเลย ทำมาหากินเหมือนกัน แต่ว่าคงไปทำพิธีกรรมจึงมีผ้าเหลืองผูกคอบ้าง แล้วคนเขาก็มาเชิญไปทำพิธีกรรม พอต่อมาทำพิธีกรรมแล้วก็ไม่เห็นประโยชน์อะไร ผู้ที่เอาผ้าเหลืองมาผูกคอบ้าง มาทัดหูบ้าง มาผูกข้อมือบ้าง ก็ไม่เห็นประโยชน์แล้ว เพราะฉะนั้นคนสุดท้ายที่โยนผ้าเหลืองทิ้งไปก็คือหมดเพศไป แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้ามีแต่เพศ แต่ไม่มีความเข้าใจ นั่นก็คือเป็นการเสื่อมจนใกล้จะถึงที่สุดแล้ว ใช่หรือไม่
เพราะฉะนั้นการที่เราได้มีโอกาสมาศึกษาพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะเห็นประโยชน์อย่างมากในเรื่องนี้ ไม่ทำลายพระพุทธศาสนาด้วยความไม่รู้หรือด้วยความเห็นใจผู้ที่เป็นพระภิกษุกลัวว่าท่านจะลำบาก แต่เรากำลังหยิบยื่นอะไรให้ท่าน แล้วเรากำลังทำอะไรกับพระศาสนา