เพื่อน


    สุ. อย่างในบางกาล บางเทศกาลก็มีการชักชวนกันที่จะให้รักษาศีล ๘ นุ่งขาวห่มขาว แต่ว่าในขณะนั้นอกุศลมากเหลือเกิน เพราะเหตุว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ก็มีศรัทธาชั่วขณะที่ถูกชักชวนให้ไปรักษาศีล ๘ และก็เห็นว่าศีล ๘ นี่ก็ดีทั้ง ๘ ข้อก็ไปรักษา แต่ผลคือขณะนั้นได้อะไร เป็นอกุศลหรือเป็นความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม นี่ก็เป็นความละเอียดประณีตขึ้นของกุศลธรรมตามลำดับขั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่ดีแต่ไม่พอ เพราะฉะนั้นกัลยาณมิตรจริงๆ จึงต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นถูก มีความรู้ มีทั้งศีล สมาธิ ปัญญาด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะศีลอย่างเดียวโดยที่ว่าอย่างอื่นไม่มี

    อ.วิชัย ฉะนั้นความเป็นผู้ว่าง่ายพร้อมกับการมีกัลยาณมิตร หมายถึงว่าต้องมีความเข้าใจถูกในสิ่งที่น้อมใจเชื่อนั้นด้วย

    สุ. คือทุกคนตั้งแต่เกิดมาได้อะไรจากโลกนี้ที่จะไปสู่ภพหน้า ถ้าเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ได้ไปเลย แต่ได้โลภะความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้โทสะ ได้อกุศลมากมายตลอด ที่ไม่เข้าใจความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นถ้ามีปัจจัยที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรม ประโยชน์สูงสุดคือฟังแล้วพิจารณา ไม่พิจารณาไม่ได้ เพราะว่าพระธรรมละเอียดลึกซึ้งมาก เมื่อพิจารณาแล้วเป็นความเข้าใจของเรายิ่งขึ้น นั่นคือประโยชน์สูงสุดที่จะได้ไปจากโลกนี้ ไม่อย่างนั้นอะไรๆ จากโลกนี้ไม่ได้ติดตามไปเลย ถ้าเป็นความเห็นผิดยิ่งแย่ ก็ได้ความเห็นผิดสืบต่อไป เพราะฉะนั้นในชาตินี้จะเอาความเห็นถูกต้องไปหรือจะเอาความเห็นผิดไป เพราะยังไงๆ ก็จะต้องจากโลกนี้ไปแน่ และม่ใช่ไปแต่เฉพาะชาติหน้าชาติเดียว ชาติต่อๆ ไปความเห็นผิดก็งอกงามสะสมต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงเป็นคำสอนให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง โยนิโสมนสิการหรือว่าการพิจารณาโดยแยบคายโดยถูกต้องก็เพื่อให้มีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ถ้าไม่เข้าใจก็สอบถามโดยละเอียดได้ด้วยเหตุนี้ที่จะให้หมดความสงสัยก็คือโดยการสอบถาม ไม่ใช่เก็บไว้แล้วคิดว่าพระธรรมก็คือพูดไม่ได้ ถามไม่ได้ เกรงใจหรือกลัวว่าคำตอบนั้นอาจจะไม่ตรงกับอัธยาศัย อันนั้นก็คือเป็นผู้ว่ายาก

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงกัลยาณมิตร ถ้ากล่าวโดยบุคคลก็จะมีทั้งเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แต่ถ้ากล่าวกัลยาณมิตรโดยสภาพธรรมก็รู้สึกจะตรงกว่า

    สุ. เพราะว่ามิตรก็คือผู้ที่มีความหวังดีต่อกัน แต่ผู้ที่มีความหวังดีต่อกัน มีกุศลหรือมีอกุศลด้วย ตราบใดที่ยังไม่ใช่ผู้ที่หมดจากกิเลส เพราะฉะนั้นส่วนที่เป็นโทษของบุคคลนั้นเอง ไม่เป็นโทษแก่บุคคลอื่นก็คืออกุศลของตนเอง แต่ส่วนความดีที่มี ก็เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเอง และกับผู้อื่นด้วย เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามที่เป็นกัลยาณมิตรคือผู้ที่มีความหวังดีที่จะให้ผู้อื่นไม่ได้เดือดร้อน แต่ว่าผู้ที่ได้รับความหวังดีนั้นต้องรู้ด้วย ต้องเป็นผู้ฉลาด พระพุทธศาสนาสอนให้มีปัญญา อันนี้ลืมไม่ได้เลย มีการพิจารณาโดยละเอียดจึงจะสามารถเข้าใจพระธรรมได้โดยถูกต้องชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าใครเป็นเพื่อนที่ดีหรือเขากล่าวว่าเป็นเพื่อนที่ดี หวังดี จะบอกอะไร จะเตือนอะไร จะพูดอะไร เราก็พิจารณาสิ่งที่เขาพูดได้ว่าเขาเห็นผิดหรือเขาเห็นถูกทั้งๆ ที่เขามีความหวังดีที่เขากล่าวว่าเป็นความหวังดี แต่ความเห็นของเขาถูกหรือผิด ก็เป็นแต่ละบุคคลซึ่งมีโอกาสได้ฟังพระธรรมก็จะได้พิจารณาให้ละเอียดขึ้น

    ผู้ถาม เป็นเรื่องยากมากเลย ผู้ที่ไปคบหาสมาคมกับผู้อื่น และก็คิดว่าเขาเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกแล้ว แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นผู้เห็นผิด ตรงนี้แหละทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าเขาเห็นถูกหรือเห็นผิด

    สุ. ธรรมก็เป็นเรื่องละเอียด และเรื่องตรง ข้อความก็มีปรากฏในพระไตรปิฎกแต่ก็มีผู้อ้างบอกว่าอย่าเชื่ออาจารย์ จะมีคำพูดอย่างนี้ แต่คนที่พูดกำลังบอกให้คนนั้นเชื่อตัวเองหรือเปล่า แล้วถ้าคนนั้นเชื่อ คนนั้นก็คืออาจารย์ของคนที่ถูกบอก ก็แปลว่าเขาเชื่ออาจารย์โดยการฟังจากคำว่า “อย่าเชื่ออาจารย์” คือเปลี่ยนตัวอาจารย์มาเป็นคนที่บอกให้ไม่เชื่ออาจารย์ แต่ว่าเชื่อคนนั้น นี่ก็เป็นความละเอียดที่จะต้องพิจารณาว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ว่าผู้ที่ฟังต้องรู้ว่าทรงแสดงว่าให้เชื่อในเหตุ และในผล ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะปัญญา สามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูก ในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ อันนี้ถ้าใครสามารถที่จะทำให้มีความเข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงตรงกับคำพูดของผู้นั้นที่ทำให้ผู้นั้นสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้องขึ้น จากการที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจเลย เพราะฉะนั้นที่จะกล่าวว่ายาก ว่าจะเชื่อ ว่าใครพูดถูกพูดผิด ก็คือมีสิ่งที่ปรากฏตลอดชีวิต แล้วไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจเลย แต่ว่าเมื่อไหร่ที่เริ่มมีความรู้ขึ้น นั่นก็คือว่าตรงกับสภาพธรรมที่ทรงแสดง ตรงกับพระธรรมที่ทรงแสดง แต่ไม่ใช่สอนให้เราไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่มีในชีวิตประจำวันแท้จริงเป็นอะไร ไปเอาข้อความหรือว่าความคิดอะไรก็ได้ที่จะทำให้ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เพื่อให้เห็นถูก รู้ถูก รู้อะไรถูก เห็นอะไรถูก รู้ถูกเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสิ่งนี้เกิดแล้วจึงปรากฏ ไม่ให้คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว เพราะไม่สามารถจะไปรู้ความจริงของสิ่งที่เกิดแล้ว ดับแล้วๆ ไม่กลับมาอีกเลย แล้วสิ่งที่ไม่มาถึงก็ยังไม่มาถึง เพราะฉะนั้นขณะนี้อะไรกำลังปรากฏจากที่ไม่เคยเข้าใจอะไรเลย ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อย่างรี้จะผิดไหม จะเป็นคำสอนที่ผิดหรือเปล่า ถ้าทำให้สามารถเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202


    หมายเลข 10611
    31 ส.ค. 2567