พระวินัยลึกซึ้งโดยกิจ
ถ้าไม่สนใจศึกษาธรรมะ มีหรือจะศึกษาพระวินัย
ท่านอาจารย์ พระวินัยก็เป็นธรรม ธรรมก็เป็นวินัย ไม่ใช่ว่าพระวินัยไม่ใช่ธรรม
อ.อรรณพ การศึกษาพระวินัยจะทำให้ทราบถึงความละเอียดของกิเลสซึ่งปกติชีวิตคฤหัสถ์จะไม่เห็นได้เลย คืออย่างไร
ท่านอาจารย์ เอาพระวินัยมาอ่านเป็นข้อๆ ทุกข้อรู้ได้เลย
อ.อรรณพ คือถ้าเป็นชีวิตคฤหัสถ์ก็จะไม่ได้ละเอียดลงไปในกิเลส
ท่านอาจารย์ แน่นอน ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าพระภิกษุคือผู้สงบ แล้วก็ดูว่าชีวิตของคฤหัสถ์สงบหรือไม่ พระภิกษุหุงหาอาหารไม่ได้ สงบหรือไม่
อ.อรรณพ สงบที่ไม่ต้องวุ่นวาย
ท่านอาจารย์ แล้วเวลาจะบริโภคอาหาร สงบด้วยปัญญา คือสามารถที่จะรู้ว่ามีชีวิตอยู่เพียงแค่บริโภค ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น แล้วก็เห็นคุณของผู้ที่เขาทำความดีกับตน เพราะเหตุว่าอาหารนั้นได้มาจากไหน คฤหัสน์ให้มาใช่หรือไม่ ทุกก้อนข้าว ทุกคำข้าว ทุกเมล็ดข้าว เขาให้เพื่อบูชาคุณความดีใช่หรือไม่ หรือว่าอยู่ดีๆ เขาก็เอามาให้ แต่เขาเห็นบาตร เห็นจีวร และก็เห็นพฤติกรรมที่ว่าท่านได้สละอาคารบ้านเรือนแล้ว เขาจึงให้ ถ้าภิกษุใดเห็นคุณ ต้องเป็นผู้ที่ทำความดีเพราะการให้ของคฤหัสถ์ คฤหัสน์ทำอย่างนี้ แล้วพระภิกษุควรจะทำอย่างไร สนุกสนานเพลิดเพลิน แล้วก็มีเว็บไซต์ มีเฟซบุ๊ก มีอะไรต่างๆ อย่างคฤหัสถ์หรือ หรือว่าชีวิตที่สงบนั้นต้องเป็นชีวิตที่ไม่ใช่การมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์อีกต่อไปทุกประการ แล้วก็ศึกษาธรรมด้วย เพื่อที่จะได้เข้าใจ เพื่อประโยชน์แก่การที่จะได้นำสิ่งซึ่งคฤหัสถ์ต้องการคือความเข้าใจธรรมไปให้คฤหัสถ์ได้รู้ ได้เข้าใจ ไม่ใช่ว่านำสิ่งที่ผิดๆ ไป แล้วก็ทำลายพระศาสนาโดยการที่ว่าต้องไปที่หนึ่งที่ใด สำนักปฏิบัติ นั่งทำจิตให้สงบนิ่ง ไม่ต้องไปที่อื่น นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย
เพราะฉะนั้นการที่เราให้คนได้เข้าใจถูก เราผิดหรือ เราหวังร้ายหรือ ถ้าหวังร้ายเราจะให้เขาเข้าใจถูกทำไม แต่นี่เพราะเห็นว่าอันตรายมากจากการที่เป็นภิกษุแล้วก็ไม่ศึกษาธรรม ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ไม่รู้เลย แต่คฤหัสถ์ยังรู้ เมื่อคฤหัสถ์อ่านพระวินัยก็รู้แล้ว หยิบเล่มไหนมาก็เล่มนั้น
อ.อรรณพ จึงสมกับที่พระองค์ท่านทรงแสดงในอรรถกถาว่าพระวินัยลึกซึ้งโดยกิจแต่ละข้อของพระวินัย ซึ่งกิจแต่ละข้อของพระวินัยจะสะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดของจิตที่เป็นอกุศล ที่จะมีการประพฤติที่ไม่เหมาะ ไม่ว่าจะล่วงกรรมบทหรือไม่ จริงๆ แล้ว ที่คนไม่สนใจพระวินัย ประการหนึ่ง คือ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของพระ เราไม่เกี่ยว ไม่ได้หมายถึงคนที่มูลนิธิฯ แต่หมายถึงคนทั่วๆ ไป
ท่านอาจารย์ แต่เขาไม่คิดหรือว่าทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประโยชน์ ที่คนสละอาคารบ้านเรือนขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตต้องประพฤติปฏิบัติตามเพราะแสดงเจตนาที่จะสงบจากอกุศล แต่ไม่ได้หมายความว่าคฤหัสถ์ไม่ต้องสงบจากอกุศล ไม่ได้กล่าวอย่างนั้นเลย คฤหัสถ์ฟังธรรมทำไม เพื่อสงบจากอกุศล เพราะฉะนั้นสิ่งใดซึ่งไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติอย่างบรรพชิต ละอาคารบ้านเรือนนี่คฤหัสถ์ทำไม่ได้ แต่ทุกข้อของพระบัญญัติที่คฤหัสถ์สามารถกระทำได้ จะกระทำหรือไม่ แต่เพราะไม่รู้ใช่หรือไม่ ไม่เห็นคุณของพระวินัยใช่หรือไม่ ไม่เคยรู้ความละเอียดของพระวินัยใช่หรือไม่ว่าถ้าคฤหัสถ์คนนั้นสามารถที่จะเข้าใจความละเอียดนั้นเขาจะประพฤติอย่างนั้นโดยไม่ต้องเป็นเพศบรรพชิต แล้วดีหรือไม่ แล้วทำไมถึงจะไม่รู้พระวินัย แต่เพราะไม่เห็นประโยชน์ ไม่เห็นคุณ ไม่เข้าใจ คิดว่าธรรมเท่านั้น แต่ความจริงทุกอย่างเป็นธรรม ฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าถ้าศึกษาหรือเข้าใจพระวินัยเพิ่มขึ้น ปัญญาก็จะละเอียดขึ้นอีกในการที่จะเห็นความต่างกันทั้ง ๒ เพศ ซึ่งหมายความถึงการต่างกันของกิเลสหลายระดับเป็นขั้นๆ
อ.อรรณพ เมื่อเช้าท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้าไม่สนใจศึกษาธรรม มีหรือจะสนใจศึกษาพระวินัย หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็เพราะเห็นว่าทุกคนต้องการเข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นทุกคำ ไม่ใช่ว่าเว้นคำนี้ ไม่เอาคำนั้น ไม่ใช่ของฉัน ของคนอื่น
อ.อรรณพ คนที่มาฟังธรรมแล้วก็รู้สึกว่าเราให้ความสำคัญที่จะศึกษาพระสูตร พระอภิธรรมมากกว่าธรรม เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องไม่จริง ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นถามว่า จิตมีกี่ดวง
อ.อรรณพ ๘๙
ท่านอาจารย์ เจตสิกมีเท่าใด
อ.อรรณพ ๕๒
ท่านอาจารย์ แล้วเอาไปทำอะไร
อ.อรรณพ รู้ไว้
ท่านอาจารย์ รู้ไว้ทำอะไร
อ.อรรณพ รู้ไว้ จะได้รู้ว่ารู้แล้ว
ท่านอาจารย์ แล้วกำลังรับประทานอาหาร จิตดวงไหน แล้วกำลังทำผิดพระวินัย จิตดวงไหน เรียนไปทำไมถ้าไม่รู้
อ.อรรณพ นี่คือความสอดคล้องกันของทั้ง ๓ ปิฎก เพราะฉะนั้นถ้าท่านใดยังไม่เห็นประโยชน์ของพระวินัย ก็คือเขายังไม่เข้าใจธรรมใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ผู้ใดไม่เห็นประโยชน์ของคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นคำในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ผู้นั้นไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ ว่าแต่ละคำนี้เพื่อใคร คิดหรือว่าเพื่อบรรพชิตเท่านั้น ลองอ่านดูสิ เพื่อผู้ที่จะได้เข้าใจหรือเปล่า แล้วทำไมจะมุ่งมั่นไปที่พระอภิธรรม ในเมื่อเดี๋ยวนี่ก็เป็นอภิธรรม พระวินัยก็เป็นพระอภิธรรม ธรรมก็เป็นอภิธรรม อภิ คือละเอียดยิ่ง ลึกซึ้งยิ่ง
อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นเมื่อมีตัวสภาพธรรมคือจิต เจตสิก ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง จึงสามารถได้ประโยชน์จากพระวินัยแต่ละประการที่จะสะท้อนให้เห็นว่ามีจิต เจตสิก ที่เป็นกุศล อกุศลแยบยลอย่างไร
ท่านอาจารย์ วันไหน เวลาไหน คำที่ได้ฟังแม้ไม่ใช่พระธรรมแต่เป็นพระวินัยจะปลาบปลื้มหรือไม่ที่ได้ฟังคำนั้นด้วย ไม่จำกัดเฉพาะแค่คำในพระสูตร และพระอภิธรรม
อ.อรรณพ ปลาบปลื้มเพราะได้เห็นความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นหิริโอตัปปะ กับอหิริกะ-อโนตตัปปะ ที่จะรักษาพระวินัย และไม่รักษาพระวินัยด้วยหิริโอตัปปะที่ละเอียด และอหิริกะ-อโนตตัปปะ ที่มีตั้งแต่ละเอียดไปจนถึงหยาบ
ท่านอาจารย์ นี่คือคุณของพระธรรมที่ทรงแสดงให้เข้าใจ ไม่ใช่เป็นตัวเราซึ่งเลือกเพื่อจะเป็นเรา แล้วก็ไม่เห็นคุณว่าพระวินัยแสดงไว้ทำไม ไม่ใช่สำหรับเรา สำหรับพระภิกษุ รู้มากทำไม ก็รู้มากเพราะละเอียดใช่หรือไม่ แค่ไม่รับเงินรับทอง แล้วถ้ารับไปแล้วจะทำอย่างไร ทรงอนุเคราะห์ให้ภิกษุนั้นสามารถที่จะพ้นผิดจากการทำผิด แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัย ไม่ใช่ทำตามใจชอบ และยังมีหลายเรื่องว่าการปลงอาบัติจะต้องสละทรัพย์นั้นเสียก่อน ตามพระวินัย ตามวิธีการที่ได้ทรงบัญญัติไว้ ถ้าไม่มีบุคคลนั้นจะทำอย่างไร ถ้าคนอยู่ใกล้รับไปเอาไปทำเป็นประโยชน์ พระภิกษุเหล่านั้น และคนอื่นสามารถที่จะได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้ แต่ผู้รับไม่ได้ ทั้งหมดนี้แสดงความละเอียดหรือไม่ ลองคิดสิว่าละเอียดหรือไม่ ว่าเพราะอะไรจึงทรงบัญญัติพระวินัยซึ่งคนอื่นบัญญัติไม่ได้
อ.อรรณพ เรื่องที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ที่สนทนาทั้งที่มูลนิธิ และที่สนทนากับท่านอาจารย์ อย่างเช่น การไม่รับเงินไม่รับทองสำหรับเพศบรรพชิต ก็สะท้อนให้เห็นถึงกิเลสของความติดในทรัพย์สมบัติ ซึ่งพระภิกษุเป็นเพศที่รองรับพระอรหันต์ ท่านไม่สมควรที่จะมาติดในทรัพย์สินเงินทอง แต่ก็สะท้อนให้คฤหัสถ์เห็นด้วยว่าคฤหัสถ์ก็ควรที่จะเห็นโทษของการที่ติดข้องในสิ่งเหล่านี้อย่างมากๆ อันนี้ก็ประเด็นหนึ่ง
ท่านอาจารย์ นั่นคือเห็นโทษของกิเลส ไม่ว่าจะโดยการศึกษาพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม
อ.อรรณพ คืออย่างคฤหัสถ์บางคนเขาก็มุ่งหาเงินหาทอง เก็บเงินเก็บทองไว้ในรูปแบบต่างๆ จริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าไม่ให้เก็บ ไม่ให้ทำ แต่เคยคิดบ้างไหมว่ามีความผูกพันติดข้องในทรัพย์สมบัติเหล่านี้มากมายขนาดไหน แล้วตายไปก็ไม่ได้ติดตัวไปเลย แล้วพอได้ศึกษาพระวินัยจึงจะเห็นว่า ทำไมพระองค์ท่านถึงทรงแสดงแม้เป็นศีลของเณรข้อที่ ๑๐
และในอีกประเด็นหนึ่งที่ได้สนทนากับท่านอาจารย์อยู่ แล้วก็คิดว่าคงจะต้องสนทนาเผยแพร่ไปด้วย ก็คือ ประเด็นที่ว่าพระภิกษุรับเงินรับทองไม่ได้ เมื่อรับมาแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ก็คือว่าต้องสละสิ่งนั้นไป แต่เมื่อสละแล้ว ก็ยังมีความละเอียดอีกว่า ถ้าสละไปแล้ว อย่างเช่นสมมุติเป็นพระ แล้วอาบัติไปรับเงินรับทองแล้วก็ไปสละท่ามกลางสงฆ์ แล้วคฤหัสถ์ก็เอาไป โยนไป โดยไม่มุ่งที่หมายหรืออะไรก็แล้วแต่ และเงินทองนั้นจะย้อนกลับมาเป็นของภิกษุนั้นอีกไม่ได้เลย แม้ว่าเงินทองนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบของอาหาร หรืออะไรที่เหมาะกับท่าน ก็ไม่สามารถรับได้
ท่านอาจารย์ ถ้าย้อนกลับมา ชื่อว่าสละหรือเปล่า ทุกคำต้องละเอียดมาก
อ.อรรณพ เห็นความละเอียดว่ารับเงินรับทองมาผิดมาก แล้วเมื่อสละไปแล้วเหมือนสละไม่จริง แม้ว่าจะมีผู้ที่เอาเงินนั้นไปทำสิ่งที่เป็นกัปปิยะก็ตาม
ท่านอาจารย์ ต้องอธิบายกัปปิยะด้วยว่าคือสิ่งที่เหมาะควรแก่พระภิกษุ
อ.อรรณพ แม้จะมีผู้เอาเงินที่พระภิกษุดูเหมือนสละนั้นไปกระทำให้เป็นกัปปิยะ เช่นเป็นสิ่งที่เหมาะควร จีวร อะไรต่างๆ
ท่านอาจารย์ หรือแม้แต่จะสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร พระภิกษุรูปที่รับมายังใช้สอยไม่ได้ เห็นไหมว่าความละเอียดของพระศาสนานี้ลึกซึ้งเพียงใด สำหรับผู้ที่มีเจตนาที่จะสละอาคารบ้านเรือนต้องจริงใจ ต้องทำได้ ถ้าทำไม่ได้จะเป็นภิกษุทำไม เป็นโทษอย่างมากเลย
อ.อรรณพ เป็นอภิธรรมเลยหรือ ก็ยังมีจิต เจตสิก ที่เป็นอกุศลจิตที่ยังมีเล่ห์มีกลที่ว่าเอาไปแล้วทำเป็นสละไป แล้วก็จะเอากลับมา ก็ยังมีความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว ความไม่ตรง
ท่านอาจารย์ แล้วอย่างนี้คฤหัสถ์ควรจะศึกษาให้รู้ความละเอียดหรือไม่ เพราะเป็นประโยชน์กับคฤหัสถ์ด้วย ไม่ใช่สำหรับจะอนุเคราะห์พระภิกษุเท่านั้น ยังรู้สึกซึ้งถึงกิเลส ละเอียดแค่ไหน ลึกซึ้งแค่ไหน ถึงแม้ว่าสละเพศคฤหัตถ์แล้วเป็นบรรพชิต กิเลสก็ยังตามไปถึงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเป็นผู้ตรง คฤหัตถ์จึงไม่บวชเพราะเป็นผู้ตรง รู้ว่าจะอบรมเจริญปัญญาในเพศของคฤหัสถ์ได้ สามารถที่จะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล และเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์เมื่อใด จึงละอาคารบ้านเรือน นี่คือความตรง และความจริงใจ ไม่ใช่ว่าชวนกันไปบวชเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน เพื่ออะไร ดูหมิ่นพระธรรมวินัย ประมาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่าว่าใครๆ ก็บวชได้ ซึ่งความจริงไม่ได้ บวชไม่ได้ ต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธา และมีความเข้าใจ และด้วยความจริงใจ ไม่ใช่บวชเล่น