เคารพในสิ่งที่ได้ทรงบัญญัติไว้
ผู้ฟัง คำว่า “กัลยาณมิตร” เราบอกว่าเป็นคนที่สามารถที่จะบอกเราในทางที่ถูก แนะนำธรรมในทางที่ถูกให้แก่เรา แต่ทีนี้บางทีท่านมีเจตนาดีกับเรา แต่ว่าธรรมที่ท่านให้กับเราอาจจะไม่ถูก แล้วเราก็เคารพท่านในฐานะที่ท่านหวังดีต่อเรา หรือแม้แต่พ่อแม่ ครู อาจารย์ ของเราบางท่าน ก็พยายามให้ธรรมแก่เรา แต่ก็สอนเราผิดๆ ได้ใช่ไหมครับท่านอาจารย์
สุ. แน่นอน
ผู้ฟัง แล้วเราก็ยังต้องเคารพกัลยาณมิตรเหล่านี้อยู่หรือเปล่า
สุ. เคารพแต่ไม่ใช่เชื่อ เพราะว่าคำที่สอนไม่มีเหตุผล ขณะที่เคารพ ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมคือผู้ที่เคยเป็นครูบาอาจารย์ โดยวัยโดยอะไรก็แล้วแต่โดยความหวังดี แต่ว่าเรื่องความเห็นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผู้ฟัง เราไม่ลบหลู่ และเราก็ไม่ทำลายท่าน ก็ไม่ไปปองร้ายท่าน ก็เคารพกราบไหว้ธรรมดา แต่เราก็ยังไม่ถึงขนาดไปตัดขาดว่าคุณสอนธรรมไม่ถูก ฉันไม่เคารพเธออะไรอย่างนั้น ผมคิดว่าผมไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทราบว่าผมทำถูกหรือเปล่า
สุ. ความลบหลู่เป็นอกุศล ทุกอย่างที่เป็นอกุศลไม่สมควรหรือว่าไม่ควรที่จะให้มีมาก หรือว่าให้เกิด
ผู้ฟัง ความรู้สึกของคำว่า “วินัย” มันเกิดเป็นบัญญัติว่าให้เชื่อตามพระวินัย แต่ว่าวิจิกิจฉาคือไม่ลังเลสงสัย แต่ว่าความไม่ลังเลสงสัยของผมมันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อผมมีความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าอาจารย์บอกว่าให้ผมเชื่อ
สุ. ก็คงจะต้องสอดคล้องกันด้วยคือว่าขณะนี้ทุกคนกำลังฟังสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มาจากใคร คงจะไม่ต้องไปสาวความว่าพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ที่ไหนอย่างไร แต่ว่าสิ่งที่กำลังได้ฟังขณะนี้ถูกต้องหรือเปล่า จริงหรือเปล่า สามารถที่จะพิสูจน์เข้าใจหรือเปล่า ถ้าเป็นสิ่งที่จริง มีในพระไตรปิฎกแน่นอน เพียงแต่ว่าบุคคลนั้นจะอ่านได้ครบถ้วนหรือไม่ หรือยังคิดว่าตรงนั้นไม่มี ตรงนี้ไม่มี แต่ว่าสิ่งที่มีจริง เป็นจริง ที่จะไม่มีในพระไตรปิฎกไม่มี ถ้ามีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลจริงในขณะนี้ ไม่สงสัยในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ถูกต้องไหม ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ แต่ว่าสำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิตมีศรัทธาที่จะศึกษาอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต ต้องเป็นผู้ตรง ความเคารพในพระบรมศาสดา สำหรับผู้ที่ฟังนี่ก็เช่นเดียวกัน ยิ่งฟังเข้าใจ ความเคารพอยู่ที่ไหน อยู่ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งสภาพธรรมจนกระทั่งสามารถที่จะให้บุคคลอื่นได้รู้ตาม ได้เข้าใจตาม พระวินัยก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้นั้นมีศรัทธาถึงกับจะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต ต้องเป็นผู้ที่เคารพในพระบรมศาสดา สิ่งที่ได้ทรงบัญญัติไว้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุมีผลหรือๆ ว่าเป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้นถ้ายังมีความสงสัย มีความเคารพในพระบรมศาสดาหรือเปล่า ถ้ามีความไม่เคารพในพระบรมศาสดา ธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เคารพด้วยหรือเปล่า ก็จะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดว่าไม่มีบุคคลใดที่มีปัญญาเสมอเหมือนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนี้เป็นคำที่คนอื่นจะชื่อไม่ได้ เรียกไม่ได้เลย นอกจากพระองค์ นอกจากจะทรงเป็นผู้ที่ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง พระบารมีที่ได้บำเพ็ญมาก็ทำให้ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่ควร ไม่เหมาะควรกับเพศบรรพชิตด้วย เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่ทรงบัญญัติไว้เป็นการที่จะให้สงฆ์อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุขเพื่อการขัดเกลา เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลนั้นสงสัยไม่เชื่อ แล้วก็ไม่สอบถามให้หายสงสัย ก็ยังคงเป็นผู้ที่ไม่เคารพในความจริง ไม่เคารพในเพศ ไม่เคารพในพระบรมศาสดาซึ่งจะหมดความสงสัยได้ว่าพระวินัยมีประโยชน์อย่างไรก็คือเมื่อมีข้อสงสัยก็สอบถาม จนกระทั่งหมดความสงสัย ทางวินัยฉันใด ทางธรรมก็ฉันนั้น ธรรมไม่ใช่เรื่องปกปิด ใม่ใช่เรื่องที่เงียบไม่พูด แต่เป็นเรื่องที่สงสัยก็ถาม และก็รับฟังความคิดเห็นในเหตุผลที่ได้ยินได้ฟัง ธรรมเป็นสิ่งที่ยิ่งเปิดเผยยิ่งรุ่งเรือง เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เพียงแต่ว่าได้ยินได้ฟังมาก็เกรงใจไม่ถามหรืออะไรอย่างนั้น ก็จะทำให้ไม่เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง หรืออาจจะเข้าใจผิดตามคำที่ได้ยินได้ฟังได้
ผู้ถาม ถ้าเราเคารพ และก็เชื่อ แต่เราไม่ค่อยปฏิบัติตาม จะถือว่าเป็นการเคารพไหม
สุ. มีเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง มี
สุ. มีก็ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจได้ว่าไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ผู้ฟัง อย่างนี้ก็แสดงว่าเรายังเคารพน้อยอยู่ใช่หรือเปล่า
สุ. ยังไม่เข้าถึงความหมายของคำว่า “อนัตตา” เป็นธรรมไม่ใช่เรา ใครจะอยากมีอกุศล ใครจะไม่อยากให้กุศลเจริญขึ้น ใครจะไม่อยากรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ทั้งหมดบังคับบัญชาไม่ได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
ที่มา ...