หวนคิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว ขณะนั้นก็เป็นเรา
ผู้ถาม เรามีความยินดีในกุศล ลักษณะความยินดีในกุศลเป็นลักษณะของอกุศลหรือเปล่า
สุ. ตรงนะคะ ความยินดีเป็นความติดข้องหรือเปล่าขณะนั้น ถ้าเป็นความติดข้องขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าขณะนั้นเป็นความโสมนัสที่ได้กระทำกุศล ขณะนั้นก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้นการที่เราจะยึดถือคำหนึ่งคำใดเป็นเครื่องตัดสินว่าเป็นอย่างนี้หรือเป็นอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับทันทีเร็วมาก แต่พระธรรมที่ทรงแสดงๆ ให้เห็นชัดถึงความต่างของสภาพธรรมซึ่งแม้เกิดดับอย่างเร็วมาก ธรรมที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล จะเป็นกุศลไม่ได้ และธรรมที่เป็นกุศลก็แป็นกุศล ข้อสำคัญรู้สึกว่าเราจะห่วงเรื่องของอกุศล และก็บางท่านคิดที่จะทำเพียงกุศล เพราะเหตุว่ารังเกียจอกุศล แต่อกุศลมี ๓ อย่าง โลภะ โทสะ โมหะ รังเกียจอกุศลอะไร
ผู้ถาม รังเกียจหมดเลย
สุ. แน่ใจนะคะ ที่จริงก็ถูกสำหรับผู้ที่ฟังธรรมคือรังเกียจอวิชชาด้วยซึ่งส่วนใหญ่จะรังเกียจโทสะก่อน ไม่ชอบ ไม่ใช่รังเกียจ แล้วก็รู้ว่ามีโทษ แต่ว่าไม่ใช่เป็นความรังเกียจในความเป็นอกุศลของโทสะ แต่เป็นความไม่พอใจ ไม่ชอบที่จะมีโทสะเพราะว่าขณะนั้นไม่สบายใจ สำหรับโลภะก็คงจะรังเกียจยากเพราะรู้สึกว่าตื่นเช้ามาก็ต้องการเห็นแต่สิ่งที่น่าพอใจ เสียงที่น่าพอใจ แสวงหาสิ่งที่น่าพอใจอยู่ตลอดทั้งวัน ทุกวันในสังสารวัฏ เพราะฉะนั้นที่จะเห็นโทษของโลภะก็ยาก และยิ่งโมหะ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีโมหะเลย โลภะมีไม่ได้ โทสะมีไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเห็นถึงโทษของโมหะเพื่อที่จะละโลภะ โทสะ และก็อกุศลทั้งหมดได้
ผู้ถาม ในชีวิตประจำวันเราก็ไม่สามารถจะแยกได้ออก คือลักษณะของความยินดีกับลักษณะของโสมนัสในกุศลย่อมมีความต่างกันใช่ไหม
สุ. โดยมากคิดเพื่อที่จะรู้ แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะที่เป็นกุศลหรืออกุศล หรือแม้แต่ที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นนามธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้สึก และก็คิดนึกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ นั่นคือนามธรรม ถ้าเรายังไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม แม้ขณะนี้ ฟังอย่างนี้ ก็ยังเป็นเราได้
ผู้ถาม แต่จริงๆ แล้วศึกษาธรรม เราก็มักจะคิดวิเคราะห์ว่าอารมณ์นั้นมันเป็นกุศลหรืออกุศลในขั้นต้น
สุ. ข้อสำคัญที่สุดต้องเป็นผู้ละเอียดรอบคอบ แม้แต่คิดว่าห้ามไม่ได้ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ห้าม ไม่มีเพราะเหตุว่าทรงตรัสรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สภาพธรรมที่เกิดก็มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วปรากฏว่าเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องเป็นอย่างที่ปรากฏเพราะเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีคำว่า “ห้าม” แต่ว่าทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้นเพราะเหตุว่าสั่งไม่ได้ แม้แต่ผู้ที่มีอัธยาศัยที่จะบรรพชาอุปสมบท ห้ามไม่ให้คนนั้นเกิดกิเลสได้ไหมเพราะบวชแล้ว ก็ห้ามไม่ได้ แต่ว่าศรัทธาที่มีที่จะอุปสมบทก็เป็นธรรมประเภทหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความคนๆ นั้นหมดกิเลส ด้วยเหตุนี้ถ้าฟังพระธรรมด้วยความเข้าใจในความเป็นอนัตตา มีความมั่นคงในความเป็นอนัตตา ไม่ว่าขณะนั้นจะหวนคิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว ขณะนั้นก็เป็นเรา โมหะอยู่ตรงนั้น ไม่รู้ความจริงว่าขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ ที่จะมีความมั่นคงว่าไม่มีเราแต่มีธรรม แล้วธรรมก็มี ๒ อย่างคือนามธรรมกับรูปธรรมทั้งหมด แต่ว่าขณะใดก็ตามที่ไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ขณะนั้นก็มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้
ที่มา ...