ยึดมั่นในกาม
โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง ซึ่งถ้ามีกำลังมากขึ้นก็เป็นความยึดมั่นถือมั่นหรืออุปาทาน และสิ่งที่ถูกยึดมั่นก็คือกาม ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ดังนั้นกามุปาทานก็คือ ความติดข้องที่มีกำลังจนยึดมั่นถือมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ท่านอาจารย์ พูดถึงอุปาทานใช่ไหม ติดในรูป และรูปที่น่าพอใจก็ปรากฏทาง ตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง รวมเรียกว่า กามอารมณ์ เพราะว่าปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวัน ทางตาเดี๋ยวก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน ทางจมูกก็ได้กลิ่น ทางลิ้นก็ลิ้มรส ทางกายก็กระทบสัมผัส แล้วจะให้ไปติดมั่นยึดข้องในรูปอื่นได้อย่างไร ในเมื่อรูปอื่นไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่ายึดมั่น ก็ต้องรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม และจิตก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง แต่เจตสิกทั้งหลายก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ของตนๆ โลภะก็อย่างหนึ่ง โทสะก็อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นความยึดมั่นนี้จะเป็นเจตสิกไหน ยึดมั่นในกามอารมณ์ เพราะฉะนั้นคำว่ากามกับอุปาทานก็รวมเป็น กามุปาทาน ขณะนี้ เป็นการยึดมั่นในสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นแล้วคือ เป็นกามุปาทาน
ถ้ากล่าวว่าสภาพธรรมที่มีจริง ก็มีจิต มีเจตสิก มีรูป และก็นิพพาน แต่นิพพานก็ไม่มีก็ยังไม่ต้องกล่าวถึง เพราะฉะนั้นขณะนี้เอง จิตมี เจตสิกมี รูปมี ถ้าพูดถึงการยึดมั่น สภาพที่ติดข้องยึดมั่นเป็นเจตสิกหรือไม่
ผู้ฟัง เป็นเจตสิก
ท่านอาจารย์ และเป็นเจตสิกอะไร
ผู้ฟัง โลภะเจตสิก
ท่านอาจารย์ โลภะเจตสิกติดข้องอะไร
ผู้ฟัง ติดข้องใน รูป รส กลิ่น เสียง
ท่านอาจารย์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นกามอารมณ์ เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าปรากฏให้เห็นได้ ให้ได้ยิน ให้ได้กลิ่น ให้ลิ้มรส ให้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่รูปอื่นไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นพอใช้คำว่ากามหมายความถึง สิ่งที่น่าใคร่ ซึ่งเป็นรูปได้แก่ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่คือ คำว่ากาม
และเมื่อเป็นอารมณ์แล้วก็เรียกกามกับอารมณ์รวมกัน เป็นกามอารมณ์หรือกามารมณ์ก็ได้ และถ้ามีการยึดมั่นในกาม ความหมายของกามมีสองอย่าง กามได้แก่โลภะเพราะใคร่ และสิ่งที่โลภะใคร่ต้องการก็เป็นกามด้วย เพราะฉะนั้นคำว่าติดข้องในกาม กามได้แก่อะไร
ผู้ฟัง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ท่านอาจารย์ ติดมากไหม
ผู้ฟัง ติดมาก
ท่านอาจารย์ เป็นอุปทานไหม เพราะอุปาทานนี้ไม่ใช่เพียงแค่โลภะธรรมดา แต่เป็นการติดมาก แน่น สละไม่ได้ เพราะฉะนั้นมีอุปาทานในอะไร
ผู้ฟัง ใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เข้าใจว่า อุปาทานติดข้องในสิ่งที่นาติดข้อง ๔ อย่าง อย่างที่หนึ่ง กามมุปาทาน เอาสองคำมารวมกัน คือว่ากามกับอุปาทานก็เป็นกามุปาทาน เดี๋ยวนี้มีไหม
ผู้ฟัง มีค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่ลืมเลย ตอนนี้เข้าใจแล้วหรือไม่
ผู้ฟัง เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แค่โลภะธรรมดา แต่เป็นการยึดมั่น เราจะศึกษาธรรม ให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจได้โดยไม่ลืม ถ้าพูดถึงคำว่ากามคำเดียวหมายความถึง ใคร่ น่าใคร่ น่าพอใจ เพราะฉะนั้นรูปธรรมนี้ไม่สามารถจะไปติดข้องในอะไรได้เลย และจิตก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ และเจตสิกก็มีหลากหลายมาก แต่เจตสิกหนึ่งซึ่งติดข้องไม่ว่าอะไรทั้งนั้น คือโลภะเจตสิก เพราะฉะนั้นเวลาที่เราใช้คำว่า กามุปาทาน เราหมายความถึงเจตสิกที่ยึดมั่นติดข้องยินดีพอใจในรูปที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นกามุปาทาน ถ้ามุ่งหมายโดยทั่วไป กามคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่โลภะไม่เคยเว้น ติดข้องหมดทุกอย่าง ในบรรดาอกุศลที่จำแนกเป็น ๙ ประเภทหรือที่ใช้คำว่า ๙ กอง โลภะรวมหมดตั้งแต่ขั้นที่ไม่ได้เกิดขึ้นปรากฏเลยเป็นอนุสัย จนกระทั่งขั้นที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าจะมากจะน้อยก็มีตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นให้เห็นโทษของโลภะ วันหนึ่งๆ เราคิดว่าเราติดข้องในรูปก็มาก ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมากมาย รับประทานอาหารก็มีครบใช่ไหม รูปของอาหาร มะม่วงปอกสวยอยู่ในจาน ถ้าปอกไม่สวยคงไม่ค่อยมีใครติดข้องเท่าไหร่ ใช่หรือไม่ ไหนจะรส ไหนจะสิ่งที่ปรากฏทางตา กลิ่นก็มี บางครั้งดมกลิ่นนี้ก็จะมีกลิ่นมะม่วง คนที่ชำนาญจริงๆ เขาก็จะบอกได้ว่ามะม่วงนี้เป็นมะม่วงอะไร เวลารับประทานอาหารครั้งหนึ่ง ทั้งรูปทั้งเสียงก็มีดนตรีมีวิดีโอให้ดู เป็นต้น และก็กลิ่นแล้วก็รส เเล้วก็อาหาร เป็นอย่างไร เย็นหรือร้อน บางคนเย็นๆ รับประทานไม่ได้ต้องเอาไปอุ่น
เพราะฉะนั้นเรื่องของการยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏที่เป็นรูปไม่น้อยเลย จึงเป็นกามุปาทาน เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไป ได้ยินคำนี้เมื่อไหร่ก็รู้ว่าเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งแสดงเห็นถึงความยึดมั่นในสิ่งที่มี แล้วอย่างนี้จะละได้อย่างไร เพียงแค่รู้ว่าสิ่งนั้นเพียงเกิดดับ และกิเลสอื่นๆ ที่สะสมมาก็ยังมีอยู่ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการละกิเลส ต้องละด้วยปัญญาตามลำดับขั้น กามุปาทานเข้าใจแล้วใช่หรือไม่ แต่โลภะติดข้องในทุกอย่าง เพราะฉะนั้นอยากเป็นเทพธิดา นางฟ้า เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าโลภะติดข้องในทุกอย่าง ทุกอย่างที่โลภะติดข้องใช้อีกคำหนึ่งได้ คือกามวัตถุ วัตถุคือที่ตั้ง เพราะฉะนั้นกามก็คือความติดข้อง กามวัตถุ ก็คือวัตถุซึ่งเป็นที่ติดข้องของโลภะ รวมหมดเลยทุกอย่าง ไม่ใช่แต่เฉพาะเพียงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ถ้าเราจะศึกษาธรรมเราต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ถึงแก่น เพื่อที่จะรู้ว่าทำไมโลภะมีโทษมาก และอะไรควรที่จะละก่อน ทั้งๆ ที่ละไม่ได้ ไม่มีปัญญาถึงระดับนั้น แต่ยังเริ่มเห็นโทษ ถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจให้เห็นโทษก่อน ก็ไม่เคยคิดเลยที่จะละ เพราะฉะนั้นฟังอย่างนี้แล้วใครคิดจะละอะไรบ้าง