ยึดมั่นด้วยความเห็นผิด


    ทิฏฐิ คือความเห็นผิด สักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิดที่ยึดถือกายนี้ว่าเป็นเรา ส่วนอัตตานุทิฏฐิคือความเห็นผิดที่ยึดถือทั้งกายนี้ และสิ่งต่างๆ ว่าเป็นตัวตน ซึ่งความเห็นผิดมีความหลากหลายเป็น ๓ อย่าง คือ ความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นผิดนั้น คือทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในการประพฤติปฏิบัติผิด คือสีลพตุปาทาน และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน คืออัตตวาทุปาทาน


    ท่านอาจารย์ ทิฏฐุปาทานคือ ความยึดมั่นในความเห็น มากแค่ไหน เพราะฉะนั้นพูดถึงธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ยึดมั่น คือ ทิฏฐิ เวลานี้ทุกคนมีมิจฉาทิฎฐิหรือไม่

    อ.คำปั่น ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบันก็ยังมีพืชเชื้อของความเห็นผิดอยู่

    ท่านอาจารย์ แต่พอได้ยินใครบอกว่าคนนี้เป็นมิจฉาทิฎฐิ โกรธหรือไม่ ที่เขามาว่าเราเป็นมิจฉาทิฎฐิ แต่เขาพูดความจริงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ มิจฉาคือผิด สัมมาคือถูก ความเห็นมีสองอย่างคือ ถูกกับผิด เพราะฉะนั้นความเห็นผิดคือไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังเป็นจริง

    ทุกคนเป็นมิจฉาทิฎฐิเพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ แต่มิจฉาทิฎฐิก็มีหลายระดับ ระดับปกติธรรมดา เช่นเห็นว่าเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพราะยังไม่มีการปรากฏการดับหรือการเกิด การดับใดๆ ทั้งสิ้น จะไม่ให้มีการเห็นว่าสิ่งนั้นยังคงอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่มีอะไรเลย เราก็ไม่รู้ว่าจะไปพอใจอะไร แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น จะให้พอใจสิ่งอื่นที่ไม่เกิดได้ไหม ไม่ได้ เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นก็ต้องยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เช่น เสียง ถ้าไม่มีเสียงเลย จะไปชอบพอใจติดมั่นในเสียงอะไร ไม่มีอะไรจะให้ติดข้อง แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น เมื่อนั้นเพราะไม่รู้ความจริงก็พอใจทั้งได้ยินทั้งเสียง ทั้งเห็น และสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น นี้คือพระธรรมที่ทรงแสดงกับพวกที่ไปฟังธรรมที่พระวิหารต่างๆ คือพูดถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ให้มีความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องต่างกับคำของคนอื่น ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เพราะฉะนั้นพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ไม่มีอะไรเกิดดับเลยที่นี่ เกิดก็ไม่เกิด ดับก็ไม่ดับ เห็นเป็นใครก็เห็นคนนั้นไปตลอดเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งนั้น ก็เป็น อัตตานุทิฏฐิ เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ก็ยังมีเห็นว่าเป็นเรา คือสักกายทิฏฐิ ต้องเข้าใจความต่างกัน อัตตานุทิฏฐิ อัตตาคือสิ่งหนึ่งสิ่งใด เห็นว่าเป็นดอกไม้ เห็นว่าเป็นโต๊ะ เห็นว่าเป็นคน นี้คือสักกายทิฏฐิ ไม่เห็นการเกิดดับของเห็น ของได้ยิน ของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดาที่สัตว์โลกมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นอัตตา คือสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งหมดต่างกับเราใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงมีสักกายทิฏฐิ แม้ว่าเป็นอัตตาเหมือนกัน นี่ก็เป็นคน นี่ก็เป็นแขนขามือเท้า แต่นี่ก็เป็นเรา เป็นของเราด้วย เพราะฉะนั้นอัตตานุทิฏฐินั้นเองเมื่อยึดถือว่าเป็นตัวตนของเราก็เป็นสักกายทิฏฐิ

    แต่ว่าเมื่อมีเราแล้วความเห็นเพิ่มขึ้น รักตัวเองมาก หาทางทุกทางที่จะให้ตัวเองเป็นที่พอใจยิ่งขึ้น บางคนก็ไปหาหมอดู ดูเรื่องใคร เรื่องตัวเอง หรือจะไปไหนก็ตามแต่ทั้งหมด ไม่พ้นจากความรักตัว อย่างนี้ก็ยังไม่เท่ากับการที่หลงงมงาย ไหว้ปลาไหล ต้นกล้วย อาบน้ำในแม่น้ำคงคาในยุคนั้น คิดว่าจะชำระบาปได้ รถสีขาวก็บอกว่ารถคันนี้สีดำ รถสีเขียวก็บอกรถคันนี้สีขาว

    อ. อรรณพ จริงๆ แล้วคำว่าอัตตานุทิฏฐิก็ครอบคลุมหมดแล้ว ทั้งภายในภายนอก แต่ท่านแสดงสักกายทิฏฐิใกล้ชิดมาอีก เพื่อเกื้อกูลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริงก็คือว่าติดของในอะไรมากที่สุด

    อ. อรรณพ ที่เกี่ยวกับตัวเรา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน คุณอรรณพอาจจะให้เสื้อผ้าใครก็ได้ แต่เอาหูไปให้ใคร เอาตาไปให้ใครหรือไม่

    อ. อรรณพ ถ้าเป็นส่วนที่เป็นของตัวเรา เราก็จะหวงมาก

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสักกายทิฏฐิจากอัตตานุทิฏฐิ แต่ความจริงก็คืออัตตานุทิฐินั้นเอง แต่แสดงตรงตามความเป็นจริง ว่าอัตตานุทิฏฐิทั้งหลายก็ไม่รักเท่าตัวเอง จึงใช้คำว่าสักกายทิฏฐิ เพราะฉะนั้นต้องทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใครไปทำอะไร แต่สิ่งที่มีอยู่แล้วไม่เข้าใจ ไม่เห็นถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ให้รู้ตามความเป็นจริง คือทำอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น เพราะมีปัจจัยแล้ว เกิดแล้วทั้งนั้น ไม่ว่ากำลังคิด คิดอย่างนี้ก็ต้องมีปัจจัยที่ทำให้ความคิดนี้เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ทุกอย่างหมด ที่มีจริงๆ ก็คือว่าเกิดแล้วจึงมี แต่สิ่งที่ยังไม่เกิดต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่งไปทำให้เกิดขึ้น

    อ. อรรณพ ทรงพระมหากรุณาธิคุณ จำแนกทิฏฐิเป็นอุปาทาน ๓ อย่าง เพื่อที่จะให้สัตว์โลกได้มีความเข้าใจที่ละเอียดขึ้นอย่างไร เพราะเพียงแค่ทิฏฐิคือทิฏฐุปาทานอย่างเดียว ก็น่าจะครอบคลุมหมดแล้ว

    ท่านอาจารย์ เริ่มจาก อัตตวาทุปาทาน เมื่อเห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่เห็นการเกิดดับเพราะสภาพธรรมเกิดดับอย่างเร็ว และไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นจึงปรากฏเหมือนพร้อมกันกับนิมิต นิมิตที่นี้หมายความถึงรูปร่างสัณฐาน เมื่อเป็นนิมิตสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็มีความติดข้องในสิ่งนั้นจึงทำให้เข้าใจว่า มีสิ่งหนึ่งคืออัตตา และถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เป็นเรา ก็ใช้คำว่าสักกายะ เข้าใจอัตตานุทิฏฐิกับสักกายทิฏฐิแล้ว เพราะรักตัว ให้ทุกสิ่งทุกอย่างให้ตัว รดน้ำมนต์ทำไม ก็เพื่อตัว รดแล้วทำชั่วมีประโยชน์ไหม จะเข้าใจว่าน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์หรือ แต่ที่ศักดิ์สิทธิ์คือคำสอนเรื่องสิ่งที่มีจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นจากความรักตัว ก็ทำให้เกิดสีลัพพตปรามาส และยึดมั่นว่าต้องทำอย่างนั้นจริงๆ ก็เป็นอุปาทาน สีลพัตตุปาทาน คือ สีลพัตตกับอุปาทาน รวมเป็น สีลพัตตุปาทาน ความยึดมั่นในสิ่งซึ่งไม่ใช่มงคลว่าเป็นมงคล และถึงทิฏฐุปาทานนี้ ก็เป็นความเชื่อของคนในโลกจึงมีความเชื่อต่างๆ กัน ในคำสอนต่างๆ กัน

    เชื่อเจ้ากรรมนายเวรไหม เพราะฉะนั้นความเห็นผิดความเชื่อผิดๆ ทั้งหมดนี้ ก็เป็น ทิฏฐุปาทาน ถ้าไม่ละความเห็นผิดนั้น ยึดมั่น เพราะฉะนั้นบางคนก็มีการนับถือศาสนาต่างๆ กันไปแต่ถึงอย่างนั้น บางคนก็สามารถที่จะเปลี่ยนได้ แต่ถ้าคนที่เปลี่ยนไม่ได้ก็คือ ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความเห็น แต่เพราะไม่มีการยึดมั่นจึงเปลี่ยนจากความคิดซึ่งเชื่อในสิ่งซึ่งไม่เป็นเหตุผล แล้วก็ได้เข้าใจในสิ่งที่เป็นเหตุผล


    หมายเลข 10751
    6 พ.ค. 2567