สงสารคนนินทา


    นินทาคือการพูดไม่จริง เพราะไม่ได้ใคร่ครวญในความถูกผิด ผู้ที่ถูกนินทา มักจะโกรธ แต่ผู้ที่มีปัญญาจะสงสารคนนินทา เพราะเขาต้องได้รับผลของ กรรมนั้นต่อไป ดังนั้นจึงควรจะพิจารณาเสียก่อนจึงพูด และควรอดทนไม่ หวั่นไหวกับคำนินทาด้วยปัญญาที่เข้าใจธรรม


    อ. อรรณพ ความโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทาเป็นปัจจัย

    ท่านอาจารย์ นินทานี้ภาษาบาลีว่าอย่างไร

    อ. คำปั่น ตรงตัวเลยครับ นินทา ผู้ที่ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลกก็มีคำนี้ นินทิต คือถูกนินทา แต่ถ้าอนินทิตคือไม่ถูกนินทา

    ท่านอาจารย์ ๒ คำที่ว่าไม่มีทางที่จะไม่โกรธ ถ้าถูกนินทา พอถูกนินทาก็โกรธแน่ๆ เลย พูดไม่จริงใช่ไหมที่เรียกว่านินทา ถ้าพูดจริงจะเรียกว่านินทาหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้าถูกนินทา คือถูกกล่าวในเรื่องที่ไม่จริง ทุกคนโกรธแต่ผู้ที่มีปัญญาสะสมมาแล้วสงสารคนนินทา เขาต่างหากที่ต้องรับกรรม แต่ถ้าเราโกรธก็ไม่สมควรเพราะเราก็สะสมมาที่ยังไม่ได้ดับกิเลส แต่สามารถที่ปัญญาจะเกิดขึ้นทำกิจเข้าใจถูกต้อง แท้ที่จริงใครน่าสงสาร ก็คือคนนินทาคนนั้นที่ไม่รู้ความจริง แล้วก็เจตนาอย่างไรก็แล้วแต่ใช่หรือไม่ แต่เมื่อพูดโดยที่ไม่ได้ไตร่ตรองให้ถูกต้องก็เหมือนนินทา ซึ่งทำความเสียหายให้กับคนอื่นด้วย ไม่คิดถึงโทษนี้หรือ เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่รอบคอบในเรื่องของกุศล และอกุศลแม้แต่เพียงคำพูด เพราะว่าคำพูดนั้นเข้าใจว่าถูก แต่ความจริงผิด เมื่อผิดก็ไม่จริง

    เพราะฉะนั้นฟังแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ พิจารณาก่อนคำนั้นจะถูกหรือจะเป็นไปได้ไหม คำพูดต้องระวังมาก ถ้าเรื่องไม่จริงเป็นโทษมากเพราะมีคนเชื่ออีกมากที่จะพลอยหลงเป็นอกุศลไปด้วย และที่สำคัญ พูดคำนี้แต่ไปถึงอีกหูหนึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และก็เติมไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะกี่หู ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องเห็นโทษของคำที่จะพูดว่า ถ้าพูดไม่จริงไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนย่อมทำให้เกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้นจะเห็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำนะคะ เป็นปัญญา และเป็นประโยชน์ทั้งหมด

    อ. อรรณพ ไม่สามารถจะน้อมนึกถึงพระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี หรือท่านพระควัมปติ ก็ดีที่ท่านถูกว่าร้ายอะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วท่านไม่เดือดร้อนเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่มีกิเลส ดับหมดแล้ว อะไรๆ ก็ไม่แปดเปื้อน ทุกคำมีประโยชน์ เตือน ไม่ได้หมายความว่าเราจะหมดกิเลส แต่ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ สะสมสังขารขันธ์ทั้งหลาย ก็ปรุงแต่งไปตามกำลังของปัญญาที่เข้าใจประโยชน์ เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุด ถ้าได้ยินได้ฟังแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ แล้วต้องสอบถามตรง จะได้คำตอบที่ถูกต้อง แทนที่จะคิดเอง

    อ. อรรณพ ไม่สอบถาม ก็พูดพูดต่อไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือผิด แต่ถ้ามีการนินทาหรือมีการพูดเรื่องราวใดๆ ก็ตาม อย่าเพิ่งเชื่อ สิ่งนั้นสมควรไหม จะเป็นไปได้ไหม และการที่จะถูกต้องที่สุดคือ ไม่คิดเอง สอบถามบุคคลนั้นโดยตรง แล้วจะได้คำตอบจากบุคคลนั้นเอง

    อ. วิชัย ในพระวินัย แม้จะมีคนกล่าวเพ่งโทษติเตียนโพทะนาแก่ภิกษุที่ประพฤติสิ่งที่ไม่สมควร พระะผู้มีพระภาคก็ให้มาแล้วก็ทรงสอบถามด้วยพระองค์เอง ว่ากระทำอย่างนั้นจริงหรือไม่ แม้พระองค์จะทรงทราบอยู่แต่ก็ทรงสอบถาม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นข้องใจอะไรดีที่สุด คือถามตรง ไม่ว่าใคร

    อ. คำปั่น เพราะตรงกับข้อความจากจริยาปิฏก ว่าสิ่งที่ไม่ดีเรื่องเสียหายที่กระทำให้กับผู้ที่ไม่มีปัญญา ก็จะเพิ่มพูนความไม่อดทน แต่ถ้าเกิดกับผู้ที่มีปัญญาก็เพิ่มพูนความอดทนยิ่งขึ้น ก็คือเพิ่มพูนขันติบารมีเพราะว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่เข้าใจถูก เห็นถูก ในธรรมะตามความเป็นจริง


    หมายเลข 10753
    5 พ.ค. 2567