ไม่ได้บอกให้ละ
การที่จะค่อยๆ ละคลายขัดเกลากิเลสอกุศลต้องด้วยปัญญาที่เข้าใจธรรมะ ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตนที่ใครจะบอกให้ใครละกิเลส
ท่านอาจารย์ วันหนึ่งๆ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
อ.อรรณพ เป็นอกุศลครับ
ท่านอาจารย์ มากไหม
อ.อรรณพ มากครับ
ท่านอาจารย์ ชอบไหม
อ.อรรณพ ถ้ามีความสบายใจ พอใจ ก็ชอบ แต่ถ้าเดือดร้อนใจ ก็ไม่ชอบ
ท่านอาจารย์ เดือดร้อนก็ไม่ชอบ ดีๆ ก็ชอบ ก็อยู่อย่างนี้ วันหนึ่งๆ
อ.อรรณพ ใช่
ท่านอาจารย์ ก็ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วคุณของพระธรรมที่ได้ฟัง อยู่ตรงไหน
อ.อรรณพ ถ้าฟังเข้าใจก็ค่อยๆ เข้าใจว่า มีแต่อกุศล ก็ควรจะสะสมความเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่บังคับ แต่ให้รู้ความจริงว่า บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วเริ่มเห็นธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้ไม่ใช่เรา แต่ก็เป็นอกุศลมาก และก็เป็นกุศลน้อย จะเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้น ได้อย่างไร ถ้ายังคงไม่รู้ความจริง ว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เราเลย กว่าจะรู้ความจริงได้ ก็แสนยาก ต้องรู้เลย ขณะใดที่กุศลไม่เกิด ขณะนั้นอกุศลเกิด แล้วก็มีปัญญาที่จะรู้ว่า กุศลเกิดได้ ถ้าเห็นประโยชน์ของกุศล ตราบใดที่ทุกคน ยังเต็มไปด้วยอกุศลในชีวิตประจำวัน หมายความว่าการเห็นประโยชน์ของกุศลน้อยมาก ไม่พอที่จะทำให้สละอกุศล
เพราะกุศลทั้งหมดสละจริงๆ สละแม้คำพูด ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าโกรธก็พูดอย่างหนึ่งใช่ไหม ถ้าริษยาก็พูดอย่างหนึ่ง ถ้ามานะก็พูดอีกอย่างหนึ่ง ล้วนเป็นไปตามอกุศลที่สะสมมา ไม่ใช่เรา แต่เกิดแล้วให้เห็น ถ้าเห็นโทษจริงๆ ว่า ขณะนั้นสะสมมาที่จะเป็นอกุศล ไม่มีอะไรที่จะไปยั้งเลย ถ้าธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเจตสิกคือสติ ไม่เกิด ไม่มีเราที่จะไปยับยั้งเลย
ด้วยเหตุนี้แม้ขณะที่เว้น ก็เพราะขณะนั้นได้ฟังมา และเห็นประโยชน์ จึงไม่พูดคำที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนใจ แม้เพียงเล็กน้อย แค่นี้ไม่สละหรือ แค่คำพูด พูดดีๆ ก็ได้ แล้วทำไมต้องพูดเสียงแข็งๆ พูดไม่ดี พูดคำที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แล้วจะไปละกิเลสอะไร แค่จะคิดถึงคนอื่น และเห็นตัวเองว่าไม่ได้สละกิเลสใดๆ เลยทั้งสิ้น เล็กๆ น้อยๆ ยังไม่สละ แล้วจะไปสละให้หมด ได้อย่างไร มีแต่เพิ่มขึ้น
วันหนึ่งๆ กุศลเกิดได้ทั้งวัน เท่าที่ปัญญาสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น เห็นโทษของการกระทำทางกาย ที่เป็นอกุศล ทางใจที่เป็นอกุศล และรู้ว่าขณะนั้นเป็นโทษกับตนเอง หรือว่าเป็นโทษกับตนเอง และผู้อื่นด้วย ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เกิดมาคนเดียว หลายคนได้ไหมพร้อมกัน มีพี่น้องแต่ว่าแต่ละหนึ่ง ก็เกิดมาเป็นแต่ละหนึ่ง คนเดียวจริงๆ จะดี จะชั่ว จะตาย จะทำอะไรก็ตามแต่ คนเดียว ไม่มีใครช่วยได้เลย ที่ว่าเป็นคนเดียวจริงๆ แล้วก็คือว่าไม่ใช่เรา แล้วก็ลองพิจารณาสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา จะไม่มีการเข้าข้างตัวเองเลย กุศลต้องเป็นกุศล อกุศลต้องเป็นอกุศล ปัญญาสามารถเห็นไหม ว่านั่นไม่ใช่เรา แต่เป็นอกุศล ก็มีการที่จะเข้าใจประโยชน์ของกุศลว่า เพียงแค่เริ่มละ ทีละเล็กทีละน้อยๆ จนเป็นอุปนิสัย ก็สามารถที่จะเป็นคนที่ดี ที่ไม่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ที่ไม่เต็มไปด้วยความไม่รู้ เพราะว่าถ้าขณะใดก็ตามที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเพราะไม่รู้ ก็สามารถที่จะทำให้รู้ว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จะรู้แจ้งโดยยังคงเป็นคนที่เต็มไปด้วยอกุศลในชีวิตประจำวัน เป็นไปไม่ได้ ถ้ารู้อย่างนี้จะค่อยๆ ขัดเกลาไหม พูดดีๆ ก็ได้ใช่ไหม ทำดีๆ ก็ได้ ทุกอย่างเป็นเรื่องสละความชั่ว ความไม่ดี
อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ นั่นเป็นเพราะความเข้าใจธรรม เป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งที่เป็นไปเช่นนั้น ไม่ใช่หรือ
ท่านอาจารย์ ปัญญานำไปในกิจทั้งปวงของปัญญา แล้วอยากจะดีทางกาย ทางวาจาไหม เห็นประโยชน์หรือไม่ สมควรไหมที่จะดี แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าจะพึ่งอะไร ในการที่จะทำให้กาย วาจา ดีขึ้น
อ.อรรณพ ก็ต้องพึ่งพระธรรม ที่จะบ่มปัญญา
ท่านอาจารย์ พระวินัยปิฎก เป็นเรื่องของความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เหมาะที่ควร แก่การขัดเกลา ไม่ใช่เฉพาะบรรพชิต การกระทำใดๆ ที่เป็นการละ การเว้น การกระทำที่ไม่ดี ทางกาย ทางวาจา คฤหัสถ์ประพฤติปฏิบัติตามได้ ด้วยเหตุนี้แม้พระวินัย จะทรงบัญญัติไว้เพื่อให้พระศาสนาตั้งมั่น เพื่อให้ผู้ที่เป็นพระภิกษุ ดำรงไว้ซึ่งการประพฤติตามพระวินัย ไม่ประพฤติตามพระวินัย ไม่ใช่พระภิกษุ เพราะว่าต้องเป็นผู้ที่ขัดเกลาอย่างยิ่ง แม้จะเป็นอย่างนั้น ใครก็ได้ คฤหัสถ์ก็ได้ ที่เห็นประโยชน์ ก็สามารถที่จะขัดเกลาตนเอง โดยการที่รู้ว่า ควรประพฤติทางกาย ทางวาจา อย่างไร เพราะแม้แต่ผู้ที่มีศรัทธา ที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ก็ยังต้องขัดเกลา เพราะปัญญาเห็นโทษของอกุศล แม้เพียงเล็กน้อย ที่ทำให้วาจา และกาย เป็นไปในทางที่เป็นอกุศล
อ.อรรณพ บางคนเขาบอกว่า ชอบพระสูตร ก็มีเรื่อง มีอะไร มีตัวอย่าง มีอะไร เขาก็ไม่สนใจอภิธรรม หรือไม่สนใจโดยเฉพาะพระวินัย เหมือนว่าจะเป็นเรื่องของพระ
ท่านอาจารย์ แล้วได้อะไรจากการเข้าใจพระสูตร
อ.อรรณพ ชอบชาดก
ท่านอาจารย์ เหมือนชีวิตของคนในอดีต และก็เราก็คงจะเคยเกิดเป็นคนนั้นคนนี้ก็ได้ ใครจะรู้ สนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ได้สาระอะไร จากการฟังพระสูตร เห็นอกุศลไหม ในพระสูตร มีเงินแค่ครึ่งมาสก ก็เอาไปฝังไว้ที่กำแพง มีความยินดีในเงินนั้น ชีวิตของท่านพระอานนท์ สมัยที่บำเพ็ญสาวกบารมี แล้วแต่ละคนจะไม่หลากหลายหรือ แสดงให้เห็นความจริงว่าพระสูตร ไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่เรื่อง แต่เป็นสภาพธรรมในสังสารวัฏฏ์ เป็นจิต และเป็นเจตสิกของแต่ละหนึ่ง ซึ่งสะสมมาแต่ละชาติ ที่จะรู้ว่าชาติหนึ่งเคยเป็นอย่างไร อบรมขัดเกลา แล้ว ถึงความเป็นอย่างไรได้ ก็ไม่หมดความเพียร และคิดว่าใครก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ได้ ใครตระหนี่ถึงอย่างนั้นบ้าง ใครยินดีในเงินครึ่งมาสก ที่ฝังไว้ใต้กำแพง พอถึงอยากจะไปเล่นสนุก ในงานนักขัตฤกษ์ ก็ฝ่าแดดไปด้วยความยินดี ว่าเราจะได้เอาเงินนั้นมาใช้ เพื่อสนุกสนาน เห็นไหม ว่าชีวิตแต่ละหนึ่งในพระสูตร เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าใครก็จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ แต่ละหนึ่งก็เป็นแต่ละหนึ่ง กิเลสก็หลากหลายมาก ความอดทน
การที่จะบำเพ็ญบารมีในแต่ละพระชาติ แม้ว่าจะไม่ได้แสดงโดยละเอียด แต่คุณความดีของผู้ที่กว่าจะได้รู้แจ้งสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ชีวิตต้องผ่าน การที่จะต้องเป็นบุคคลนั้น เป็นบุคคลนี้ ทุกข์ยากแสนสาหัส เป็นขอทานโรคเรื้อน ไม่มีอาหารที่จะบริโภค สารพัดเรื่อง เพื่อให้เห็นความจริงว่า ทั้งหมดเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าฟังพระสูตรแล้ว ไม่ได้สาระอะไรเลยจากพระสูตร
แต่ไม่ว่าฟังอะไร ประโยชน์อยู่ที่สาระอยู่ที่ไหน เป็นตัวอย่างให้เห็นบารมีว่า แต่ละพระชาติ หรือแต่ละชาติของผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ท่านอบรมขัดเกลากิเลส โดยที่ว่าไม่ต้องกล่าวถึงสภาพธรรมเหล่านี้ เพราะว่าฟังมาแล้ว และก็อยู่ในใจแล้ว ก็แล้วแต่การปรุงแต่งว่าชาติไหน ถึงแม้จะไม่ได้เฝ้าฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การสะสมที่มีแล้ว ก็ทำให้เป็นแต่ละบุคคล พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ซึ่งท่านเหล่านั้นได้ฟังแล้วในอดีต ก็เหมือนกับพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ได้ทรงแสดงไว้แล้ว เหมือนกันเลย อริยสัจจธรรมเป็นอริยสัจจธรรม ไม่มีความต่างกัน เพราะเปลี่ยนไม่ได้ แต่ว่าผู้ที่ฟังไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระสูตร หรือว่าพระวินัย หรือพระอภิธรรม ประโยชน์คือความเข้าใจ และเห็นประโยชน์ของกุศลธรรม
อ.อรรณพ ที่ท่านอาจารย์แสดง ว่าเริ่มละ เริ่มเสียสละบ้างหรือยังในชีวิต คนเขาก็อาจจะคิดว่า ให้ทำ
ท่านอาจารย์ ถ้ายังเป็นเราอยู่ และเขารู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า แม้แต่เพียงคำที่ตรัสสั้นๆ ธรรม ไม่ได้บอกว่าใครเลย ธรรมทั้งหลายไม่เว้นเลย เป็นอนัตตา แค่นี้ เข้าใจหรือไม่ รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า ว่าทุกพระองค์ ทรงแสดงให้คนเข้าใจถูกว่า สิ่งที่มีนั้นไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเราแล้วทำไมคิดเองว่า ให้อย่างนั้น ให้อย่างนี้ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเองไม่ได้บอกว่าให้ละ ไม่ทำชั่วไม่ได้บอกให้ละ ให้เข้าใจให้ถูกต้อง ทั้งหมดเพื่อความเข้าใจ ส่วนการที่สะสมมาแต่ละหนึ่ง จะเป็นอะไร จะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน จะมีปัจจัยที่คิดได้ พูดดีก็เป็นกุศล ทำให้คนอื่นไม่เดือดร้อนด้วย ค่อยๆ สะสมไป แต่ไม่ได้บังคับใคร ไม่ได้บอกใครว่า ให้ทำอย่างนี้หรือว่าอย่าทำอย่างนั้น เพราะต้องตรงกับความเป็นจริง ตั้งแต่คำแรก ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะบอกให้คนอื่นทำเหรอ หรือว่าให้เขาเข้าใจถูก ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ เข้าใจมากน้อยเท่าไร ใครก็ไปเปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้ นอกจากความเข้าใจของบุคคลนั้นเอง ที่จะเป็นปัจจัยให้ค่อยๆ ทำ ตามที่ได้เข้าใจแล้ว และก็เข้าใจในความไม่ใช่เราที่ทำด้วย
ทิ้งคำว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าทิ้งคำนี้เมื่อไร ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สอดคล้องกับคำอื่นทั้งหมดในพระไตรปิฎก แล้วที่นี้ก็ขอความกรุณาอย่าได้อ้าง คำพูด คนนั้นพูดอย่างนี้ คนนี้พูดอย่างนั้น เพราะแม้แต่จะเข้าใจคำพูดของเขา ถูกต้องหรือเปล่า ฟังเขาจริง แต่เข้าใจคำพูดนั้นถูกต้องไหม แต่ก็อ้างแล้วว่า เขาว่าอย่างนี้ เขาว่าอย่างนั้น ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือปรมัตธรรมสังเขป หรืออะไรก็ตามแต่ ฟังแล้วเข้าใจอย่างไร ความคิดของบุคคลนั้น เป็นบุคคลนั้นที่จะกล่าวหรือที่จะแสดงในเหตุผล ไม่จำเป็นต้องอ้าง ไม่ใช่ว่าจากปรมัตถ์ธรรมสังเขป ถ้าจากพระไตรปิฎกสมควร ที่ผู้ฟังหรือผู้อ่าน จะรู้ว่าคำนั้นจริงๆ พระผู้มีพระภาคตรัสจริงๆ แล้วเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็รู้ว่า เปลี่ยนคำนั้นไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
คงไม่มีใครที่จะอ้างดิฉัน หรือหนังสือของดิฉัน หรือว่าที่เขียนไปแล้ว แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจอย่างไร ก็เป็นเข้าใจของคนนั้น อย่าเพิ่งคิดว่าเราเข้าใจตามที่ได้อ่าน หนังสือเล่มนั้น หรือเล่มนี้ เพราะไม่ตรงก็ได้