เผยแผ่หรือเผยแพร่พระพุทธศาสนา


    ควรจะใช้คำว่าเผยแผ่ หรือเผยแพร่พระพุทธศาสนา จึงจะถูกต้องเหมาะสม


    ท่านอาจารย์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ พิมพ์ครั้งที่ ๒ หน้า ๗๘๘ มีข้อความอธิบายคำว่า เผย ค่อยๆ ขยายออก ค่อยๆ แย้มออกเช่นเผยหน้าต่าง เผยปาก เผยแผ่ คำขีดเส้นใต้สีแดง ทำให้ขยายออกไป ขยายออกไป เช่นเผยแผ่พระศาสนา เผยแพร่ โฆษณาให้เผยแพร่ เช่นเผยแพร่ความรู้ ที่เคยเข้าใจกันว่าสำหรับพระศาสนา จะใช้คำว่าเผยแผ่ รู้หรือเปล่า ว่าเผยแผ่คือ ขยายให้กว้างออก อะไรก็ตามที่เล็ก แล้วขยายออก แผ่ออกไปอย่างโรตีก้อนกลมเล็กๆ ก็แผ่ออกไป แผ่ออกไปๆ ให้กว้าง แต่ว่าสำหรับความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ไม่มีใครสามารถจะแผ่ออกได้ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้แล้ว ครบถ้วน ใครแผ่ออกไปอีกไม่ได้ หรือขยายออกไปอีกได้ไหม สักคำเดียว

    มีใครที่จะขยายคำที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ดีแล้ว ให้กว้างออกไปได้ไหม ในเมื่อเต็มแล้ว ครบถ้วนแล้ว ทุกประการ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจในความลึกซึ้งนั้นได้ นอกจากศึกษาให้เข้าใจ สิ่งที่มีครบถ้วน ในพระไตรปิฎก เผยจริงให้เห็น แต่ว่าแพร่คือโฆษณาให้แพร่หลาย เช่นเผยแพร่ความรู้ ซึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ต้องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้รู้ทั่วกัน

    มูลนิธินี้ไม่ได้ชื่อว่า มูลนิธิศึกษา และเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่ชื่อว่ามูลนิธิศึกษา เพราะต้องศึกษาแน่นอน ถ้าไม่ศึกษา และจะเผยอะไรออกมา ไม่มีทางที่จะเผยอะไรออกได้ แม้แต่คำว่าโอฆะ ต้องศึกษา เมื่อศึกษาแล้วจะเก็บไว้เท่านั้นหรือ หรือว่าควรที่จะแพร่หลาย ให้คนอื่นได้มีความเห็น เข้าใจที่ถูกต้องด้วย ใครจะเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีไหม เผยแผ่อะไร คำไหน ลองเผยมาสิ่ จะแผ่คำไหน ทุกคำมีอยู่แล้ว ทั้งพระไตรปิฎก และอรรถกถาครบถ้วน ก็คือว่ามูลนิธิได้ศึกษา และโฆษณาให้แพร่หลาย เช่นเผยแพร่ความรู้ ทางสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ และหนังสือด้วย เท่าที่จะกระทำได้ แต่จะไม่แผ่ เพราะว่าแผ่ไม่ได้ แค่ศึกษาก็กว่าจะรู้ กว่าจะเข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะเผยแพร่ เปิดเผย แพร่ออกไป ให้คนได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ต้องเป็นการศึกษาตลอดชีวิต และไม่ใช่เพียงชาติเดียวด้วย

    ถ้าใครมีความรู้น้อย แล้วก็ศึกษาให้เข้าใจขึ้น รู้แล้วก็ให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย เป็นประชาสัมพันธ์หรือเปล่า หรือว่าเป็นการเผยแพร่ความเข้าใจ ที่มีให้คนอื่นได้รู้ทั่วกัน

    อ.คำปั่น เป็นการให้ผู้อื่นได้รู้ทั่วกัน

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวตอนนี้ ก็เพราะเหตุว่าเรื่องของโอฆะ ก็ไม่อยากที่จะให้ติดคำ เพราะเหตุว่าจะใช้คำว่าเผยแผ่ จะใช้คำว่าเผยแพร่ ถ้าเข้าใจถูกต้อง ว่าพระธรรมที่ทรงแสดง ไม่มีใครจะขยายออกไปอีกได้เลยทั้งสิ้น สักคำเดียว ที่มีอยู่มากมาย ทั้งพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ศึกษาพอหรือยัง ไม่ต้องแผ่ เท่าที่มีอยู่แล้ว ศึกษาเข้าใจได้ครบถ้วนหรือเปล่า ถ้ายังศึกษาไม่เข้าใจ ก็ศึกษาต่อไป เพราะว่าคงจะไม่มีใครสักคนที่บอกว่า เขาได้ศึกษาพระไตรปิฎกตลอดทั้ง ๓ ปิฏก และเข้าใจครบถ้วน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ต้องศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง แต่ละคำ เพื่อความถูกต้อง และเผยแพร่ความถูกต้อง ให้คนอื่นได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย แต่ว่าไม่มีใครกล้าที่จะแผ่ พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ เพราะว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เผยแพร่ก็ได้ เผยแผ่ก็ได้ อยากจะใช้คำไหนก็ได้ แต่ว่าให้ตรงกับความเข้าใจ

    สำหรับทางมูลนิธิศึกษาแล้ว ก็เห็นควรที่คนอื่น ก็จะได้เข้าใจด้วย ก็เผยแพร่ความรู้เพราะเหตุว่า แม้แต่พจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ก็กล่าวไว้ว่า เผยแพร่ความรู้ แต่ก็เรื่องของภาษา ไม่ใช่เรื่องที่จะติดข้อง ขอให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สิ่งที่เป็นความรู้ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตนเอง สมควรไหมที่จะศึกษาด้วยความเคารพ เมื่อมีความเข้าใจผิด แล้วควรจะให้คนอื่นได้เข้าใจไหม เมื่อมีทางที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจ จะใช้คำว่าเผยแผ่ เผยแพร่ เผยอะไรก็ได้ แต่ขอให้เข้าใจว่า เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่คิดว่าทางมูลนิธิผิดพลาด เพราะตามความจริงก็คือว่า เผยแพร่ความรู้ในทางพระพุทธศาสนา

    อ.คำปั่น เชิญอาจารย์เสาวนิตย์ครับ

    อ.เสาวนิตย์ กระผมขอเรียนว่า เผยแพร่ มันถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีที่พลาดอะไรได้เลย ตรงกันข้ามถ้าใช้เผยแผ่นี่ผิด พูดให้เด็ดขาดไปเลย โดยความรู้ที่ผมมีในทางภาษาพอสมควร มันต้องนึกถึงคำโบราณด้วย ยกตัวอย่างเช่นนอนแผ่ เคยได้ยินใช่ไหม คือนอนแล้วเหยียดแขน เหยียดขาออกไป สบาย เขาเรียกนอนแผ่ เอาเรื่องอะไรมาตีแผ่ แล้วขยายมาถึงคนโน้นคนนี่ไปในระยะหนึ่ง มันไม่ไปทั่วโลกได้หรอก เอาทองมาตีให้เป็นแผ่นใหญ่ขึ้นๆ ๆ ก็ใหญ่พอสมควร แต่ก็หยุด ก็เท่านั้นเอง นี่คือความหมายคำว่าแผ่ แต่คำว่า แพร่ เป็นคำไทยแท้เหมือนกัน ระลึกถึงจังหวัดแพร่ อะไรพวกนี้ แพร่ คือกระจายไปทั่วแล้วอาจจะกระโดดข้ามอะไรบางอย่างให้ผ่านไป สมมติเราจะเผยแพร่พุทธศาสนา ไปเจอสถานที่ที่เขาไม่ยอมรับเลย เขาเป็นคนต่างศาสนา เราไม่ควรจะดื้อดึงที่จะเข้าไป ถ่ายทอดความรู้ทางพุทธศาสนา มันจะสูญเปล่า

    เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปในที่ๆ สมควร โดยใช้สื่อสมัยใหม่ด้วย สื่อนี่สำคัญมากเลย มันข้ามกระโดด ข้ามไป ให้ไปทุกทิศทุกทาง อย่างเช่นประเทศไทยนี่ไปถึงเวียดนาม มันก็ข้ามอะไรต่ออะไรไปเยอะ ไปถึงประเทศอังกฤษ ไปถึงสแกนดิเนเวีย ไปทั่วโลก กว้างขึ้นไปอีก อาจจะไปถึงฟากฟ้าสุราลัยก็ได้ ถ้ามีความสามารถจริงๆ

    เพราะฉะนั้นที่มูลนิธิ ใช้คำว่าเผยแพร่พระพุทธศาสนา เป็นการใช้ที่ถูกต้อง โดยความหมายของตรรกะ โดยความหมายของที่เป็นจริง โดยความหมายของศัพท์ ไม่มีอะไรที่จะพลาดแม้แต่นิดเดียว เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยนัก น่าจะถ่ายเผยแพร่ก็ได้ เผยแผ่ก็ได้ ไม่ควรใช้ และที่ใช้มาว่า มูลนิธิเผยแผ่พุทธศาสนาทุกคำเลยนะ อันนี้ก็ผิดมารยาทนะ การใช้คำอย่างนี้ผิดมารยาท เพราะอันนี้เป็นชื่อเฉพาะ วิสามัญนาม ไม่ควรไปเปลี่ยนเสียเลย เขามีสิทธิ์ ทุกคนเป็นเจ้าของภาษา

    ท่านอาจารย์ ขอบพระคุณค่ะ เพราะเหตุว่าเท่าที่เคยได้ยิน ได้ฟังมา ถ้าเป็นเรื่องความรู้ เผยแพร่ให้รู้ทั่วๆ กัน แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่น เช่นเผยแผ่อาณาจักร เผยแผ่ให้กว้างออกไป จะไม่ใช้คำว่าเผยแพร่


    หมายเลข 10768
    11 พ.ค. 2567