ฟังเรื่องธรรม


    การฟังพระธรรมคือการฟังเรื่องของธรรม ไม่ใช่เพียงเพื่อสนใจแค่เรื่องราว แต่เป็นประโยชน์เพื่อสะสมความเข้าใจถูกในธรรมเพิ่มขึ้นๆ


    ท่านอาจารย์ ฟังเรื่องธรรม และความเข้าใจธรรม จากเรื่องที่ฟัง ไม่ว่าจะอะไรทั้งสิ้น แต่ละคำๆ เราไม่ได้เข้าใจความจริงของธรรม ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนใหญ่เราฟังแล้วคิดเอง แล้วก็ตาม แล้วก็จำ แต่ว่าความเข้าใจแท้ๆ อยู่ที่ไหน มีแต่เรื่องทั้งนั้นเลย ก็เป็นสิ่งซึ่งน่าคิด ที่นี่คงไม่มีอุคฆฏิตัญญูบุคคลแน่ วิปัญจิตัญญูบุคคลมีหรือไม่ เชิญทั้ง ๔ บุคคลเลยค่ะ

    อ.คำปั่น บุคคล ๔ ประเภทก็คือ ผู้ที่ตรัสรู้ธรรมโดยเร็ว เพียงฟังหัวข้อเท่านั้น เรียกว่าอุคฆฏิตัญญูบุคคล ผู้ที่ฟังธรรม ไม่ได้ฟังเฉพาะหัวข้อ แต่ว่าฟังคำอธิบายโดยละเอียด อย่างเช่นภิกษุปัญจวัคคีย์ ก็แสดงถึงความเป็นวิปัญจิตัญญูบุคคล และเนยยบุคคล ก็คือผู้ที่ฟังมาก ศึกษามาก อาศัยสัตบุรุษ ได้ฟังธรรม แล้วก็ได้บรรลุธรรม ในชาตินั้น ก็เป็นเนยยบุคคล และประเภทที่ ๔ ก็คือผู้ที่ได้ฟังพระธรรมคำสอน ได้สะสมปัญญาไว้ แต่ว่าไม่ได้บรรลุธรรมในชาตินั้น

    ผู้ฟัง ถ้าฟังเป็นชื่อ ก็ตามเรื่อง ตามอะไรไป แต่ถ้าเข้าใจว่า แต่ละสภาพธรรม ก็จะสะสมมาต่างกัน

    ท่านอาจารย์ แต่ละบุคคลที่นี่ด้วย ใช่ไหม ฟังธรรมก็รู้จักตัวเอง ไม่หลงผิด เป็นใคร ต้องรู้ว่าเราเข้าใจธรรมแค่ไหน ถึงเวลา และพร้อมหรือยัง ก็สะสม ถ้าชาตินี้ตายไปแล้วไม่บรรลุ ก็ต้องเป็นปทปรมะบุคคล เพียงฟังแค่นี้ ต่างกันที่ปัญญา ปัญญารู้อะไร ถ้าไม่ไตร่ตรองตามไป ก็แค่นี้ ๔ บุคคลนี้ก็ต่างกันที่ปัญญา แล้วปัญญารู้อะไร ไม่มีทางที่จะเป็น ปทปรมะ บทอย่างยิ่ง คือฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำ ในแต่ละเรื่อง ว่าปัญญารู้อะไร ถ้าจบเพียงแค่ ๔ จำได้ เป็นปัญญาหรือเปล่า ไม่เป็นปัญญาเลย ฟังธรรม แล้วปัญญาที่ทำให้บุคคลทั้ง ๔ ต่างกัน ปัญญานั้นรู้อะไร สามารถที่จะได้ความรู้ ความเข้าใจจากเรื่องที่ฟัง แล้วแต่ว่าจะกล่าวถึงบทอะไร แม้แต่คำว่าปท หรือบทหนึ่ง แค่บทเดียว เข้าใจแค่ไหน ธรรมก็บทหนึ่ง เข้าใจธรรมหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจ เต็มหรือยังข้างบน

    ผู้ฟัง ก็ดูเหมือนว่าจะต้องสะสมปัญญามามากพอ ที่จะฟังแล้วไม่เป็นเรื่องราว แต่เป็นเรื่องของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน นี่คือความต่างกันของคนที่ฟังด้วยกัน ความเข้าใจต่างกัน จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ยังต่างกันด้วย จบ แล้วรู้แจ้งเป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล ต้องละเอียดกว่านั้นอีก เป็นวิปัญจิตัญญูบุคคล ก็เรื่องของปัญญาทั้งหมดที่สะสมมา ถ้ายังไม่บรรลุ ก็สะสมเป็นเนยยบุคคล ถ้าชาตินั้นบรรลุ แต่ถ้าไม่บรรลุก็เก็บเล็กผสมน้อย สะสมไปจนกว่า ความเข้าใจแต่ละบทจะเต็ม แม้แต่เพียง ๔ คำ พูดได้ ข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก แต่เข้าใจอะไร

    ทั้งหมดที่ฟังพระธรรม ไม่ใช่ฟังแต่เรื่องราว แต่รู้ว่าเข้าใจอะไร จากเรื่องราวที่ได้ฟัง แต่ละคำๆ เพราะว่าเป็นเรื่องของความรู้ ความเข้าใจทั้งนั้น ฟังเรื่องราว แต่ว่ารู้อะไร เข้าใจอะไร จากเรื่องราวนั้น ก็ไม่ใช่เพียงแต่ว่า เพราะปัญญาต่างกัน แต่ปัญญารู้อะไร ถ้าไม่มีคำตอบ ก็ต้องฟังต่อไปอีก เป็นปทปรม จนกว่าแต่ละบทๆ แต่ละคำที่ได้ฟัง เข้าใจขึ้นๆ ๆ จนพอได้ยิน ก็เข้าใจได้เลย

    ผู้ฟัง เหมือนกับว่าถ้าความมั่นคง ว่าเป็นธรรม ไม่มั่นคงพอ ก็จะฟังเป็นเรื่อง มากกว่าที่จะมาสู่ความเป็นธรรม ที่กำลังปรากฎ

    ท่านอาจารย์ เราก็สนทนา เรื่องพระสูตร เรื่องพระวินัย เรื่องพระอภิธรรม ความเข้าใจธรรม จากเรื่องที่ได้ฟัง ไม่มีสัตว์ บุคคลเลย พระวินัยก็ไม่มี สัตว์ บุคคล เป็นธรรมทั้งหมด เป็นกิเลสขั้นต่างๆ ที่ทำให้มีความประพฤติเป็นไปต่างๆ กัน จึงมีพระวินัย สำหรับวัดให้รู้ว่า กิเลสแค่ไหน เข้าใจอะไรจากเรื่องที่ฟัง ก็รู้ว่าแม้วินัยก็เป็นธรรม เป็นเรื่องของกิเลส แม้พระสูตรก็เป็นธรรมทั้งหมด เป็นเรื่องของกุศล อกุศลเท่านั้น ไม่มีใครเลย แม้พระอภิธรรมก็ชัดเจน ว่าเป็นธรรมล้วนๆ ฟังแม้แต่คำ แต่ละคำ ก็เข้าใจถูกต้อง ว่าเป็นธรรมทั้งหมด นี่คือเข้าใจธรรม จากเรื่องราวที่ได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตรหรือพระอภิธรรม พูดได้ ลำดับได้ ชาติหน้าลืมหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าพูดได้แต่เรื่องราว แต่ไม่เข้าใจความเป็นธรรม ก็ลืมแน่

    ท่านอาจารย์ ที่สำคัญที่สุด ถึงได้รู้ว่า ใครเข้าใจธรรม จากคำที่ได้ฟัง รู้ตัวเองทั้งนั้น จะไปรู้คนอื่นได้อย่างไร แต่ละครั้งที่ฟัง ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ความเข้าใจธรรม จากเรื่องที่ได้ฟัง


    หมายเลข 10819
    11 พ.ค. 2567