ให้เพื่อประโยชน์
การให้ การสละทุกอย่าง ก็เพื่อประโยชน์ทั้งผู้ให้ และผู้รับ ไม่ใช่เพียงแต่ จะให้โดยไม่คำนึงถึงโทษแก่ผู้รับ เช่น การให้เงินทองแก่ภิกษุ ย่อมเป็น โทษแก่ภิกษุนั้น
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเรื่องใดทั้งนั้น ถ้าไม่เข้าใจถูกต้อง ก็จะไม่เข้าใจในเหตุผล ในความเป็นไปของธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา แม้จะฟังก็อาจจะสงสัย คนโน้น คนนี้ ทุศีล หรือว่าผู้บริสุทธิ์ แต่ธรรมเป็นธรรม ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ก่อนที่จะได้ฟังธรรม ก็เป็นเราให้ทาน บุคคลนั้นบ้าง บุคคลนี้บ้าง แต่ว่าเวลาที่ศึกษาธรรมแล้ว ไม่ใช่เรา และเป็นอะไร ก็ต้องเป็นสภาพของจิตที่ดีงาม ก็แสดงให้เห็นว่า สภาพของจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นไปตามการสะสม ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง หรือดลบันดาลได้
ถึงเวลาไม่ให้ คนอื่นจะบอกสักเท่าไร ให้ ให้ ให้หรือไม่ ก็ไม่ให้ ธรรมเป็นธรรม แต่ละสิ่งที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ใดๆ ก็ตามในชีวิต ถ้าสามารถที่จะเข้าใจธรรม ก็จะสามารถเข้าใจข้อความในพระไตรปิฎก ชัดเจนขึ้น ในเหตุ ในผล เช่นไม่ใช่เรา แต่จิตที่สะสมอกุศลมามาก สามารถที่จะสละให้ได้บ่อยๆ ไหม หรือว่าเป็นครั้งคราว ไม่มีใครบังคับได้เลย และที่สำคัญที่สุดก็คือ ให้อะไร และก็ให้ใคร
ถ้าเป็นธรรมทั้งหมด มีบุคคลซึ่งสมควรแก่การได้รับ เป็นผู้ที่ขัดสน ยากไร้ แล้วกุศลจิตที่สะสมมาก็เห็นใจ เข้าใจ และถ้าสามารถที่จะสละสิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ได้ ก็สละ นั้นเป็นสภาพของกุศลจิต ซึ่งก็ไม่ใช่ของใคร จิตซึ่งเกิดดับสะสมมา ยากที่จะหยั่งรู้ได้ ว่ามากด้วยอกุศลอะไรบ้าง แล้วก็มากสักเท่าไร เช่นสะสมการไม่เข้าใจว่าไม่มีเรา นี้สะสมมามากมาย น้อยครั้งที่จะมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งก็ต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย
ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม ไม่เข้าใจเลย ก็ยังคงเป็นเราต่อไป แต่ว่าเมื่อมีการฟังแล้วเข้าใจธรรม ถึงเวลาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมใด ขณะนั้นสภาพของปัญญา ความเห็นถูก ก็เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่นเดียวกับการให้ ที่จะสละสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อประโยชน์ ให้ เพื่อประโยชน์ คนที่กำลังลำบาก หิว ทุกข์ยาก ไม่ว่าจะเป็นศัตรู เป็นมิตรใดๆ ก็ตาม กุศลจิตเป็นกุศลจิต คือเข้าใจในความทุกข์ยากลำบาก ก็ช่วยได้ ให้เขาพ้นจากภาวะนั้น แต่เมื่อเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ต่างคนก็ต่างใจที่สะสมมา ว่าจะได้ประโยชน์จากการได้รับการช่วยเหลือได้มากน้อยอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ก็มีการให้วัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นเสื้อผ้า เป็นอาหาร เป็นยารักษาโรค เป็นอะไร ซึ่งเราก็เห็นการให้ในลักษณะนี้มาก แล้วก็บุคคลผู้รับ ก็หลากหลายด้วย
ถ้าเป็นบุคคลซึ่งเป็นประโยชน์ การให้ของเราเป็นประโยชน์ทั้งผู้ให้ และผู้รับ เพราะว่าการให้ของผู้ให้ ก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้รับ และผู้รับก็เป็นผู้ที่เป็นกุศลจิตที่สะสมมา ที่สามารถ ที่จะไม่เบียดเบียนใคร และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วย ผลก็ต้องมากกว่า ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงได้ แต่ว่าการที่บางคนก็ให้ โดยไม่คิด และให้โดยไม่เลือก นั้นก็ทำให้เป็นอันตรายแก่ผู้รับได้ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ธรรมเป็นเรื่องของสิ่ง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่ไหนแต่ไรมา ก็เกิดขึ้นมีการเห็น มีการได้ยิน มีจิตเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ซึ่งทั้งหมดก็ไม่ใช่เรา
แต่สำหรับที่คุณอรรณพกล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ ก็กล่าวถึงผู้รับ ซึ่งไม่บริสุทธิ์ ถ้าเป็นภิกษุที่ไม่บริสุทธิ์ รับไปแล้วเป็นประโยชน์อะไร บางคนก็ไม่ได้ขัดสน แต่ว่าเป็นผู้ที่โลภ ละโมบ อยากได้ และคนที่ให้ก็ไม่ได้คำนึงถึงเลยว่า ให้ไปแล้ว จะไปทำประโยชน์หรือว่าจะเป็นโทษประการใด คิดว่าเมื่อให้แก่ผู้ที่เป็นภิกษุ ก็คงจะได้อานิสงส์มาก แต่ว่าภิกษุคือใคร ก็คงไม่ลืมอีก สภาพของจิตที่สะสมมา และจุดประสงค์ของการบวช ถ้าเป็นผู้ที่ตรง ได้ฟังพระธรรม และก็เห็นประโยชน์ของการที่จะละ เพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต มุ่งตรงต่อการที่จะขัดเกลากิเลส บุคคลผู้นั้นทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเอง และคนอื่น
พระภิกษุทำอาหารเองไม่ได้ หุงต้มอะไรไม่ได้เลย เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อขัดเกลาผู้ที่มีอัธยาศัย ที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ ลองคิดดู ถ้าไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ไมต้องบวช เป็นคฤหัสถ์นี่แหละ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นอุบาสก อุบาสิกา จนถึงการเป็นพระอนาคามีบุคคล หรือถึงความเป็นพระอรหันต์เมื่อไร ก็ละเพศคฤหัสถ์เมื่อนั้น ตามอัธยาศัย ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ต้องเป็นผู้ที่ไม่ว่าจะทำอะไร เพื่อประโยชน์ทั้งเขา และเรา ถ้าเขาเป็นคนที่ไม่เป็นประโยชน์ แล้วเราส่งเสริม ให้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เลย ทำถูกหรือไม่ เป็นโทษทั้งขณะที่ให้บุคคลนั้น และเมื่อบุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เลย
ด้วยเหตุนี้พระภิกษุในครั้งพุทธกาล ไม่ใช่ภิกษุในฝัน หรือว่าไม่ใช่ภิกษุในอุดมคติ ซึ่งบางคนบอกว่า สมัยนี้ภิกษุอย่างนั้นไม่มีแล้ว หรือว่าข้อบัญญัติต่างๆ ที่ผู้มีพระภาค ได้ทรงบัญญัติไว้ บางท่านก็กล่าวว่า เป็นภิกษุในฝัน ไม่มีภิกษุในฝัน ไม่มีภิกษุในอุดมการณ์ ไม่มีภิกษุใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากภิกษุในธรรมวินัยเท่านั้น เปลี่ยนไม่ได้เลย ไม่ว่าในกาลไหน พอได้ยินคำว่าภิกษุ แล้วก็บางคนก็คิดว่า ภิกษุต้องการอะไรก็ให้ เช่นท่านผู้หนึ่ง พระภิกษุรูปหนึ่งก็ขอเงินท่านไปซื้อพระเครื่อง ให้หรือไม่ เห็นไหม เป็นประโยชน์อะไร นี้เพราะเหตุว่าความไม่รู้ทั้งหมดเลย
คฤหัสถ์ที่ได้ฟังธรรมเเล้ว สะสมความเข้าใจถูก และเห็นประโยชน์ของการที่จะประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะว่าเกิดมาแต่ละชาติ มีโอกาสที่จะประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ได้มากน้อยแค่ไหน แล้วแต่ปัจจัย แล้วแต่โอกาส บางคนอาจจะไม่มีเลย ตลอดชีวิต ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใจ ใครพูดอะไรก็เชื่อ และคิดว่าทุกคนที่แต่งกายเหมือนกับเพศภิกษุ เดินตามถนนหนทาง แล้วยังในห้างสรรพสินค้าด้วย เป็นภิกษุหรือเปล่า ตามพระวินัยหรือเปล่า คฤหัสถ์ต้องเป็นผู้ที่รู้ ประโยชน์ของแต่ละคนที่เกิดมา ทำสิ่งใดขอให้เป็นประโยชน์ แม้แต่ในเรื่องการให้ คนป่วยมีมาก คนยากจนมีมาก ชาวไร่ชาวนาที่ลำบาก ยากไร้ ก็มีมาก ที่ดินที่จะทำไร่ ทำนาก็ไม่มี มากมาย แต่ว่าถ้าไปให้บุคคลที่เราคิดว่าเป็นพระภิกษุ แต่ไม่ได้ประพฤติตามพระวินัย เป็นโทษทั้งกับบุคคลผู้รับ และผู้ให้ ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย นอกจากส่งเสริมโทษให้เพิ่มขึ้น
เรื่องของการให้ แม้ในเรื่องของทาน ต้องมีความเข้าใจธรรม ธรรมเป็นธรรม ใครเปลี่ยนธรรมไม่ได้เลย กุศลจิตเป็นกุศลจิต อกุศลจิตเป็นอกุศลจิต ความไม่รู้เป็นโทษ แต่ความรู้ถูก ความเห็นถูก ไม่มีโทษเลยสักนิดเดียว แม้ในเรื่องของการให้ ถ้าให้ผิดๆ ก็เป็นโทษ ให้อะไรกับใคร เพื่อหวังอะไร เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องรู้ว่า ประโยชน์คืออะไร ถ้าเป็นสิ่งที่เข้าใจแล้ว ไตร่ตรองแล้ว สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่เข้าใจไม่ไตร่ตรอง เข้าใจว่าเป็นประโยชน์ แต่ความจริงเป็นโทษ จะกล่าวว่าเป็นทานได้ไหม เพราะเหตุว่า ในขณะนั้นเป็นการให้สิ่งซึ่งเป็นโทษแก่ผู้รับ ผู้รับ รับไป แล้วก็เป็นโทษด้วย
การศึกษาธรรม ไม่ใช่เรารีบไปให้จบ เรื่องของทาน บุญกิริยาวัตถุ มีอะไรต่างๆ ไม่สำคัญเท่ากับมีความเข้าใจว่า เป็นธรรมถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดทั้งสิ้น ในเรื่องของทาน มีสิ่งที่เห็นแล้ว สมควรที่จะให้ แต่ขณะนั้นที่ให้ ต้องรู้ว่าให้เพราะอะไร บางคนให้เพราะอยากได้ผล มีไหม มี แล้วจะหมดความอยากได้หรือไม่ แล้วขณะนั้นเป็นความบริสุทธิ์ของใจ ที่สละเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ขณะใดก็ตาม ลองคิดถึง สละเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น จิตในขณะนั้นเป็นจิตที่ดีงามหรือไม่ แม้จิตของผู้ให้ ก็สละกิเลส คือไม่ได้หวังอะไรเป็นการตอบแทนเลยทั้งสิ้น ผู้ให้ขณะนั้นจิตที่ให้ ก็เป็นกุศลจิตที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์ ไม่ได้ให้โทษแก่ผู้ให้ แต่ถ้าให้เพราะอยากได้รับสิ่งตอบแทน ขณะนั้นก็เป็นโทษกับผู้ให้ ก็เป็นเรื่องที่ ถ้าเข้าใจธรรมละเอียดขึ้น มากขึ้น ก็จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น