วินัยนำกิเลสออก


    วินัยคือการนำกิเลสออก ซึ่งจะนำกิเลสออกได้ด้วยปัญญาที่เข้าใจความจริง จากการศึกษาพระธรรมวินัย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นบรรพชิตต้องประพฤติตาม พระวินัยด้วยความเคารพ และแม้คฤหัสถ์ก็ควรศึกษาพระวินัย เพื่อร่วมกัน รักษาพระศาสนา


    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเข้าใจคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และเข้าใจจริงๆ เมื่อเข้าใจว่า วินัยคือการนำกิเลสออก แสดงว่าทุกคนก็รู้ว่ากิเลสไม่ดี ควรที่จะนำออกไป ทิ้งเสียให้หมด จะเก็บสิ่งที่ไม่ดีไว้ทำไม แต่อะไรจะนำออกไปได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ มีคนบอกให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ แล้วกิเลสจะหมด คนนั้นไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน แต่ต้องเป็นผู้ที่แสดงความจริง ของสิ่งที่มีจริง จนกระทั่งบุคคลที่ได้ฟังแล้ว มีความเห็นถูก เข้าใจถูก ว่าขณะใดที่ไม่รู้ ขณะนั้นเป็นอกุศล สิ่งที่ไม่ดี แต่ขณะใดที่เริ่มรู้ เริ่มเข้าใจ ก็เห็นโทษของสิ่งที่ไม่ดี และเห็นคุณของสิ่งที่ดี

    การที่จะนำออกหรือวินัย ต้องมีความเข้าใจธรรม ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม ไม่มีทางที่จะนำกิเลสออกไปได้ ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ในครั้งพุทธกาลหรือสมัยต่อมาก็ตามแต่ เห็นประโยชน์ของการที่จะนำกิเลสออก แม้แต่ที่กำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้ก็เพื่อนำมาความไม่รู้ออก แล้วจะให้ใครนำความไม่รู้ออกไปได้ ในเมื่อใครๆ ก็ไม่รู้ทั้งนั้น เว้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี รู้แล้วตรัสรู้ ไม่ใช่เพียงแต่คิด พิจารณา ไตร่ตรอง แต่ประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่มีจริง ในขณะนี้ สิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏ สิ่งนั้นมีจริงแน่นอน

    เมื่อได้ทรงตรัสรู้ความจริงแล้ว เห็นว่า คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้อย่างนี้ได้เลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม เมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดงพระธรรม ให้ผู้ที่เข้าใจพระธรรมแล้ว รู้จักตนเองที่จะนำกิเลสออก ตามความเป็นจริงว่า จะขัดเกลาโดยการที่ฟังพระธรรม เข้าใจขึ้น นำกิเลสคือความไม่รู้ออกไป โดยฐานะที่ขัดเกลาอย่างยิ่ง เหมือนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเพศบรรพชิต คือสละอาคารบ้านเรือน สละทุกอย่าง มารดาบิดา ครอบครัว วงศาคณาญาติ ความสนุกสนาน ความรื่นเริง ทุกอย่างที่เป็นทรัพย์สิน เงินทองทั้งหมด ไม่ใช่กิจของบรรพชิตอีกต่อไป เพราะว่ากิจของบรรพชิต ซึ่งสละแล้ว ก็มีชีวิตอยู่ เพื่อที่จะได้เข้าใจธรรมยิ่งขึ้น กิจของบรรพชิตคือ ศึกษาพระธรรม นำออกซึ่งกิเลส ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า เพศบรรพชิตจะต้องประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสทางกาย ทางวาจา อย่างไร บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะบัญญัติพระวินัยได้เลย แม้แต่ท่านพระสารีบุตร หรือใครก็ตามแต่

    เมื่อได้ยินว่าพระวินัยทุกข้อ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ โดยการที่เมื่อมีผู้ที่ยังมีกิเลส แม้ว่าบวชแล้ว เพราะกิเลสก็ทำให้ประพฤติผิด จึงมีการประชุมสงฆ์ เพื่อจะให้ทุกคนได้รับทราบ ว่าการประพฤติอย่างนี้ สมควรไหมกับเพศบรรพชิต เมื่อไม่สมควร ทุกคนเห็นด้วย พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ ถ้ามีคนไม่เห็นด้วย ก็แสดงว่าเขายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าสิ่งนี้แหละ เหมาะสำหรับเพศบรรพชิต ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม เป็นหนทางที่จะทำให้ละกิเลส จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ คฤหัสถ์ฟังธรรม สามารถเป็นพระโสดาบันได้ พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล ยังเป็นคฤหัสถ์ได้ แต่เมื่อไรบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสแล้ว จะไม่สามารถดำรงอยู่ในเพศคฤหัสถ์อีกต่อไปได้

    บรรพชิตทุกรูป รู้ตนเองว่า จุดประสงค์ของการบวชไม่ใช่เพียงเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นเพียงพระโสดาบัน หรือว่าพระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล กิเลสต้องหมดสิ้นไป ดับสิ้นไป ตามลำดับขั้น กิเลสมีมาก มหาศาลในแสนโกฏกัปป์ที่สะสมมา จะหมดสิ้นไปทันทีไม่ได้ ผู้ที่เข้าใจความจริง ก็สามารถที่จะรู้จักตนเองว่า จะศึกษาธรรม ขัดเกลากิเลส นำกิเลสออก โดยเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตต้องเป็นผู้ที่ตรง ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือนแล้ว มีความเคารพในพระบรมศาสดา จึงสละอาคารบ้านเรือน เพื่อดำเนินรอยตาม ที่พระผู้มีพระภาคทรงสละ

    ภิกษุทุกรูป ต้องเคารพ ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย เพราะใครบัญญัติ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจะไม่ประพฤติตามที่พระองค์ทรงบัญญัติหรือ นี่เป็นข้อที่ภิกษุทุกรูปต้องรู้จุดประสงค์ว่าบวชเพื่ออะไร ไม่ใช่เพียงเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นพระโสดาบัน แต่ก็เพื่อดับกิเลสหมด ถึงความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งจะต้องขัดเกลากิเลสทั้งกาย วาจา ในเพศของบรรพชิต ต้องเป็นผู้ตรง สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ได้สละแล้วก่อนที่จะบวช และเมื่อบวชแล้ว ก็เป็นผู้ที่สละ จะกลับมาเป็นชีวิตอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ ด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น

    บรรพชิตจะไม่ทำกิจของคฤหัสถ์ เพราะละความเป็นคฤหัสถ์แล้ว บรรพชิตก็มีหน้าที่ ที่จะศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ในเพศของบรรพชิต คือรักษา ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งละเอียดมาก แสดงให้เห็นว่า นี่เป็นการขัดเกลาจริงๆ ถ้าใครยังมีกิเลส ประพฤติผิดจากพระธรรมวินัย ต้องสำนึกตน ต้องแสดงโทษ การประพฤติผิดจากธรรมวินัย เป็นโทษคืออาปัตติ หมายความว่าได้ล่วงสิกขาบท ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติไว้แล้ว จะกลับเป็นภิกษุอีกได้ไหม เมื่อล่วงแล้ว

    แต่พระองค์ทรงเห็นว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ การบวชเป็นบรรพชิตยาก เมื่อเป็นโทษผิดเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงขั้นเป็นโทษหนัก และผู้นั้นสำนึกก็สามารถที่จะปลงอาบัติ หมายความว่าแสดงโทษ สำนึกผิด ให้ภิกษุได้รู้ เพื่อเป็นการที่ แล้วแต่ว่าบัญญัติไว้ในเรื่องใด ว่าจะต้องอาศัยบุคคลใด ที่จะทำให้บุคคลที่สำนึก ได้กลับเข้าสู่หมู่คณะ เป็นภิกษุ เป็นคณะสงฆ์ต่อไป ถ้าคฤหัสถ์ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย จะรู้ไหมว่า ใครเป็นบรรพชิต

    ผู้ฟัง ไม่รู้ครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ จำเป็นไหม ที่เราควรจะรู้ เพราะเป็นผู้ที่เป็นหนึ่งในพุทธบริษัท


    หมายเลข 10825
    9 พ.ค. 2567