ใครรับเงินทองไม่ใช่ภิกษุ
ผู้ที่บวชแล้วยังคงรับทรัพย์สินเงินทอง ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย ซึ่ง คฤหัสถ์ผู้เข้าใจพระวินัยจะไม่เอาให้ทรัพย์สินเงินทองไปให้ผู้ที่บวช เพราะเป็นโทษอย่างยิ่งต่อภิกษุนั้น แต่ควรทำหน้าที่ของพุทธบริษัท โดยการเพ่งโทษ ติเตียน โพนทนา ให้รู้ถึงความถูกต้อง
ผู้ฟัง เรื่องรับเงินทอง ไม่รับเงินทอง มีวินัยข้อไหนที่บัญญัติไว้ ในเรื่องรับเงินทอง
ท่านอาจารย์ ผู้นั้นไม่รู้จักพระภิกษุ การไม่รับเงินทอง รวมอยู่ในสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ ว่าภิกษุกระทำไม่ได้ รวมอยู่ในสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ แล้วก็เป็นขั้นต้นๆ ด้วย ห่างไกลกันมาก คฤหัสถ์รับเงินทองได้ ไม่อาบัติเลย แต่เมื่อสละชีวิตของคฤหัสถ์ ทรัพย์สินเงินทองทั้งหมด แล้วจะกลับรับได้อย่างไร ก็เป็นการผิดจากความตั้งใจ ที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต คฤหัสถ์ก็จะกล่าวว่าไม่มีภิกษุไหน ในยุคนี้ ที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยได้ แต่ว่าลืม ไม่รู้จักภิกษุ แล้วก็ยังกล่าวอีกว่า ถ้าประพฤติตามพระวินัย ก็เหมือนกับภิกษุในฝัน คือไม่สามารถที่จะเป็นจริงได้เลย แต่ลืมพระธรรมเปลี่ยนแปลงไม่ได้ พระวินัยคือข้อประพฤติปฏิบัติ สิกขาคือศึกษาประพฤติปฏิบัติ บทคือข้อที่ประพฤติทางกาย ทางวาจา เยอะมาก ในเพศของบรรพชิตเปลี่ยนเพศจากคฤหัสถ์ ซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส ทำอะไรก็ได้ แต่ฟังพระธรรมได้ เข้าใจได้ มาเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลส ในเพศบรรพชิต ซึ่งสละความเป็นคฤหัสถ์ จะมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ อีกต่อไปไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่พระภิกษุ แล้วก็เป็นอาบัติด้วย แม้อาบัติในขั้นต้น ขั้นต้นคือความประพฤติใดๆ ที่คฤหัสถ์เคยประพฤติ ถ้าบรรพชิตยังประพฤติเหมือนเดิม ไม่ใช่ภิกษุ ถ้าไม่ศึกษาพระวินัยจะรู้ไหมว่า พระภิกษุเป็นใคร
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ เห็นคนที่รับเงินทอง เป็นภิกษุหรือเปล่า แต่ว่าพระภิกษุต้องประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัย ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ และพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่าอย่างไร ในเรื่องเงินทอง แต่ชาวบ้านธรรมดา ยังไม่ต้องถึงการที่จะรู้ความละเอียดของพระวินัย ๒๒๗ ข้อ เพียงรู้ว่าพระภิกษุต่างกับคฤหัสถ์ เครื่องนุ่งห่มก็ต่างกัน ความประพฤติต้องต่างกันด้วยไหม หรือว่าต่างกันแต่เพียงผ้า เสื้อผ้า แต่ว่าความประพฤติยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ อย่างนั้นจะเป็นพระภิกษุหรือ
คฤหัสถ์ต้องเข้าใจถูกต้อง ว่าการเป็นพระภิกษุไม่ใช่เพียงแค่อุปสมบท แล้วก็มีเสื้อผ้าต่างกับคฤหัสถ์ แค่นั้นไม่ใช่พระภิกษุ พระภิกษุต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแน่นอน รู้จักพระภิกษุหรือยัง แต่ถ้ายังไม่รู้ความละเอียดของศีล ๒๒๗ เพียงแค่รับเงินทองก็ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย เพราะว่าก่อนบวชสละแล้วไม่ใช่หรือ แล้วรับเงินทำไม ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นคฤหัสถ์ ถ้ายังคงรับเงินทอง ทำกิจอะไร ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่เข้าใจพระธรรมแล้วบวชทำไม
อ.คำปั่น ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง ความเป็นพระภิกษุ ก็คือผู้ที่สละทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่คฤหัสถ์เป็น ทรัพย์สินเงินทอง วงศาคณาญาติทั้งหมดเลย มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่งก็คือ เพศบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่เว้นทั่ว เว้นโดยประการทั้งปวง เว้นจากเครื่องติดข้อง อย่างที่คฤหัสถ์เป็น เว้นจากสิ่งที่ประพฤติไม่เหมาะไม่ควรทั้งหมด นี่คือความเป็นพระภิกษุ นอกจากนั้น ความหมายของภิกษุก็หมายถึงผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าเป็นผู้ที่เห็นว่า ชีวิตเต็มไปด้วยภัยคือกิเลส มีแต่อกุศลธรรมทั้งหลายที่กลุ้มรุม
ผู้ที่สะสมมาที่จะขัดเกลากิเลส ในเพศที่สูงยิ่ง ท่านก็เห็นว่าเพศที่ปลอดโปร่ง ก็คือเพศบรรพชิต ท่านจึงสละอาคารบ้านเรือน มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง ด้วยความเป็นผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส แล้วก็อีกความหมายหนึ่ง ที่ปรากฏในอรรถกถา ก็คือผู้ใกล้ชิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่ามีความประพฤติคล้อยตามความเป็นไป ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าพระองค์เป็นเพศบรรพชิต สละอาคารบ้านเรือน ผู้ที่เป็นภิกษุ ก็ต้องมีความประพฤติเหมือนอย่างพระองค์ ก็คือสละทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็พร้อมที่จะได้รับฟังพระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงแสดง นี่คืออีกความหมายหนึ่ง
ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงสิกขาบท หมายถึงบทที่จะต้องศึกษาให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ว่าสิ่งที่พระองค์คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้นั้น มีความละเอียดอย่างไร เพื่อที่จะได้น้อมประพฤติได้อย่างถูกต้อง คือเว้นไม่ประพฤติในสิ่งที่ผิด และก็น้อมประพฤติเฉพาะในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น
อย่างเช่นในสิกขาบทที่กล่าวถึง การไม่รับเงิน และทอง ซึ่งก็มีต้นบัญญัติก็คือ แม้เพียงเล็กน้อย เงินไม่มากเลย ก็ไม่ควรแก่ความเป็นพระภิกษุ ก็กล่าวถึงท่านพระอุปนันทศากยบุตร ก็เป็นผู้ที่เข้าไปรับอาหารจากตระกูลประจำ คือนิมนต์ไว้เพื่อไปรับภัตตาหารประจำ อุบาสกก็เตรียมอาหารไว้โดยตลอด แต่ว่ามีอยู่วันหนึ่ง กะว่าจะเตรียมทำอาหาร ถวายแก่พระอุปนันทศากยบุตรด้วยเนื้อชนิดหนึ่ง แต่ปรากฏว่าก่อนหน้านั้น เด็กในบ้านก็อยากจะกินเนื้อ ก็เลยให้เนื้อนี้แก่เด็กๆ ไปกินก่อน แล้วก็คิดว่าวันรุ่งขึ้น จะเอาเงินไปซื้อมาให้ใหม่ มาทำใหม่ พอพระอุปนันทะมา ก็ได้ทราบว่าเนื้อไม่มีแล้ว แต่ว่าจะเอาเงินไปซื้อมาทำใหม่ พระอุปนันทะนี้ ได้ยินคำว่าเงิน ก็ถามกับอุบาสกว่า ท่านจะถวายเงินแก่เราหรือ คือได้ยินคำว่าเงิน ที่จะเอาไปซื้อเป็นเนื้อมา คือก็หมายความว่า ถ้าจะซื้อเป็นเนื้อมา ก็ถวายเงินแก่อาตมาก็แล้วกัน แสดงถึงความเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ซึ่งอุบาสกเป็นผู้ที่มีความเข้าใจ ตำหนิ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทนา ต่อหน้าพระอุปนันทศากยบุตรเลยว่า พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ผู้เป็นสมณะเชื้อสายศากยบุตรทำอย่างนี้ได้อย่างไร แล้วก็กล่าวกระจายข่าวโพนทนา ให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ว่าความประพฤติเช่นนี้ ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต
ความนี้ก็ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ประชุมสงฆ์ ตรัสถามพระอุปนันทะ เธอประพฤติอย่างนี้จริงหรือ เธอรับเงินจริงหรือ ก็ได้รับคำตอบว่า รับจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงตำหนิ ติเตียนโดยประการต่างๆ มากมายว่า ความประพฤติที่เธอกระทำนั้น ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต โดยประการทั้งปวง ไม่เหมาะควรแก่ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่งแล้ว ไม่ควรเลย เป็นไปเพื่อความพอกพูนกิเลส อกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่นำมาซึ่งความเลื่อมใส แก่ผู้คนเลยแม้แต่น้อย พระองค์ก็ทรงบัญญัติสิกขาบท ด้วยความเห็นชอบของหมู่สงฆ์ที่ประชุมกันนั้นว่า ใครก็ตามที่บวชเข้ามาแล้วรับเงิน และทอง เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เป็นอาบัติ มีโทษ ซึ่งจะต้องมีการสละ ในท่ามกลางสงฆ์ จึงจะแสดงอาบัติได้ พ้นจากอาบัตินั้น
นี้เพียงสิกขาบทอย่างที่ท่านจะได้กล่าวคือ เพียงต้นๆ ยังทำไม่ได้เลย รับเงิน และทองไม่ได้ แล้วก็น่าพิจารณาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ที่เป็นอุบาสก อุบาสิกาในครั้งนั้น เป็นผู้ที่เข้าใจธรรม จึงสามารถที่จะกล่าวให้ผู้อื่นได้เข้าใจด้วยว่า ความจริงนั้นเป็นอย่างไร พระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสก็คือ เราไม่เคยกล่าวเลยว่า ให้ภิกษุในธรรมวินัยนี้ แสวงหาเงิน และทอง โดยประการใดๆ เลย ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะฉุดคร่าไปสู่ที่ต่ำอย่างเดียว แม้อาบัติเพียงเล็กน้อยก็เป็นโทษ เป็นเหตุที่ทำให้ผู้นั้น ซึ่งยังไม่ได้แสดงอาบัติ ถ้าหากว่ามรณภาพลง ก็คือตายไป ภพหน้าก็คืออบายภูมิ
ท่านอาจารย์ ถ้าใครคิดว่าเงินทองควรแก่พระภิกษุ ค้านพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า
ผู้ฟัง ค้านครับ
ท่านอาจารย์ แล้วกล้าที่จะค้านไหม
ผู้ฟัง ถ้าไม่ได้ศึกษา ก็ค้านกันอยู่
ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลก ที่ทรงบัญญัติพระวินัยก็เพื่อให้ภิกษุอยู่ด้วยกัน ด้วยความผาสุก แก่เพศของบรรพชิต การที่บุคคลใดถวายเงินทองแก่พระภิกษุ บุคคลผู้นั้นทำลายพระภิกษุ ทำให้เขาติดข้องในเงิน และทอง เขากำลังจะสละ แต่กลับไปยื่นให้ คนนั่นแหละทำลายบุคคล ซึ่งตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลส เป็นการไปเพิ่มกิเลสให้ แล้วจะขัดเกลาได้อย่างไร คือไม่เห็นโทษจริงๆ พุทธบริษัทไม่ได้ฟังธรรมเลย แล้วก็จะเป็นพุทธบริษัท เพียงแค่ชื่อว่า เกิดในประเทศที่พ่อแม่นับถือพระพุทธศาสนา ก็นับถือพระพุทธศาสนาไปด้วยตามๆ กัน แต่ไม่ได้เข้าใจอะไรเลย ไม่ใช่ความจริงใจ ถ้าจะกล่าวว่านับถือ หมายความว่าต้องรู้ว่า นับถืออะไร ไม่ใช่นับถืออะไรก็ไม่รู้ มีแต่ชื่อ อย่างนั้นนับถือจริงๆ หรือเปล่า ต้องเป็นผู้ที่ตรง จริงใจ และก็ถูกต้อง
อ.อรรณพ แล้วก็เลยกลายเป็นว่าจะถูกกล่าวหาว่า ขัดศรัทธาหรือว่าทำลายศรัทธาของผู้ที่จะถวาย
ท่านอาจารย์ ว่าใคร
อ.อรรณพ ว่าผู้กล่าวถูกตามพระวินัย
ท่านอาจารย์ หมายความว่า ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า
อ.อรรณพ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัส
ท่านอาจารย์ ทรงบัญญัติพระวินัย ต้องไตร่ตรองละเอียดว่าใคร เขาทำตามพระวินัย แล้วว่าเขาทำผิด ถ้าผู้ใดทำตามพระวินัย และถูกกล่าวหาว่าทำผิด ผู้นั้นว่าใคร ต้องว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเขาทำตามคำสอนของพระองค์ และตามที่ทรงบัญญัติไว้ เขาทำตาม ใครจะถูกว่า ก็ผู้บัญญัติใช่ไหม ก็เขาทำตามที่ทรงบัญญัติไว้ เขาลืมแล้ว ว่าเขาว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าบุคคลใดกล่าวตามพระธรรมวินัย แล้วถูกติเตียน ผู้นั้นก็คือติเตียนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเขากล่าวคำของพระองค์ ตามธรรมวินัย