บทละครที่สร้างสรรค์
แต่ละคนมีการสะสมอัธยาศัยที่ต่างกัน ถ้าได้มีโอกาสศึกษา และเข้าใจ พระธรรม ก็จะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นนักเขียน ก็สามารถสร้างสรรค์ บทความที่ให้ความจริงความถูกต้องแก่สังคมได้
ผู้ฟัง ปัจจุบันหนูเป็นนักเขียนบทความ ก็เลยอยากจะปรึกษาว่า การที่หนูกำลังคิดว่าหนูอยากจะผันตัวเอง มาเป็นนักเขียนบทละคร มันเป็นทางที่จะเป็นกุศล อย่างที่หนูเข้าใจจริงๆ หรือไม่ แล้วถ้ามันจะมีอะไรสักอย่างที่มันทำให้เป็นอันตรายต่อตัวหนูเองในอนาคตได้ มันคืออะไร หนูต้องระวังอะไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ต้องไตร่ตรอง แล้วก็ต้องพิจารณาให้เข้าใจเหตุผล มีใครบ้างที่ไม่ชอบหัวเราะ ไม่มีใครชอบร้องไห้ แต่ว่าหัวเราะนี่ชอบ ยิ้มก็ชอบ เบิกบานก็ชอบ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ตรง คำสอนที่ได้ฟังต้องไตร่ตรอง ตราบใดที่ยังไม่ถึงการกระทำที่เบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียน ทำให้เขาเดือดร้อน ทุจริตต่างๆ พวกนี้ ทำให้คนอื่นต้องโศกเศร้า เสียใจ ทางตรง ทางอ้อม ด้วยอกุศลจิต
เพราะฉะนั้นถ้าเป็นการกระทำถึงขั้นนั้นแล้ว ก็ให้ผลตามควรแก่กรรมนั้นๆ ต้องไม่ลืม ว่าผลทั้งหลายต้องมาจากเหตุ เหตุที่ได้ทำแล้ว จะมากจะน้อยก็ต้องให้ผลตามกำลังของเหตุนั้น ไม่ใช่ว่าสับสนกัน ด้วยเหตุนี้ในเมื่อทุกคนยังมีกิเลส แล้วก็ขณะนี้กำลังเป็นบทละครหรือเปล่า เป็นบทเรื่องหรือเปล่า ของแต่ละหนึ่งๆ ใครเขียน ยังไม่ต้องไปอ่านเรื่องของคนอื่น ยังไม่ต้องให้เขามาเล่าให้เราฟัง ว่าชีวิตของเขา ตั้งแต่เกิดมา เป็นอย่างไรบ้าง คนนั้นก็ย่อมรู้ดี และแต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง
เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ต้องมีความเห็นที่ถูกต้อง ว่าเกิดมาแล้ว ขอให้ได้เข้าใจธรรม คือความจริงก่อน เมื่อเข้าใจความจริงแล้ว ความเข้าใจนั่นแหละ จะทำให้ชีวิตเป็นไป ในทางที่เป็นประโยชน์ แม้แต่การจะเขียนบทความให้ความจริง ให้ความถูกต้อง พร้อมทั้งสิ่งที่คนอื่น สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ด้วยก็ดี เท่าที่เคยอ่านมาแล้วในอดีต แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้อ่าน เพราะไม่มีเวลา
หนังสือทุกเรื่องคนร้ายแย่มาก ใช่ไหม แล้วผลก็คือว่า ได้รับผลของกรรม ส่วนคนดี ก็เป็นคนดี แล้วก็ได้รับผลของความดี นี่ก็เป็นธรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจ เพียงแต่ว่าอ่านแล้วก็ชอบคนนี้ ไม่ชอบคนนั้นสนุกสนานไปกับในขณะที่อ่าน แล้วก็จบ แต่ตามความเป็นจริง มีเรื่องที่จะคิด และเข้าใจได้มาก
ด้วยเหตุนี้ เราเคยอ่านนิทาน แล้วก็จริงๆ แล้วก็มี ชาดกคือเรื่องราวในอดีตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่บำเพ็ญพระบารมี ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ที่เราใช้คำว่าโพธิสัตว์ สัตว์คือผู้ข้อง โพธิคือปัญญา ไม่ได้ข้องในอย่างอื่นเลย แต่ข้องในการที่จะรู้ความจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ อย่างที่เรากำลังฟังธรรม เดียวนี้ วันหนึ่ง เมื่อไร ไม่สามารถจะรู้ได้ ก็มีสภาพธรรมปรากฏ ความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ได้ฟังไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงในขณะนั้นได้ ก็ทำให้รู้ว่าความจริงที่ได้ฟังทั้งหมด ตรงกับสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นขณะนี้ เป็นสาวกโพธิสัตว์ เต็มใจจะเป็นไหม โพธิสัตว์ข้องอยู่ในเรื่องการรู้ แต่รู้โดยฐานะของสาวก คือผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้ชีวิตที่จะต้องเป็นไปตามการสะสมของแต่ละคน ก็ไม่เปลี่ยน อย่างคนที่ชอบ ที่จะเขียนบทความ ก็คงจะทำอย่างอื่นได้ดีน้อยกว่า การที่จะเขียนเป็นบทความ แต่ถ้าบทความนั้นเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ในทางที่เป็นประโยชน์ ในทางที่ถูกต้อง ก็เป็นประโยชน์ เพราะว่ายังไม่ใช่เป็นอกุศลกรรม ที่จะทำให้ถึงกับต้องไปอบายภูมิ แต่ก็สะสม
ตราบใดที่เกิดมา แล้วก็ไม่เข้าใจสภาพธรรม ก็จะมีการที่ประพฤติเป็นไปในทางที่สะสม ที่เป็นส่วนที่เราใช้คำว่ากิเลส กิเลสหมายความถึงธรรม ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ยิ่งฟังก็ยิ่งค่อยๆ เพิ่มคำ มาถึงคำว่าจิตใจแล้ว ตอนแรกก็มีแค่ธรรม ใช่ไหม ทุกอย่างเป็นธรรม และจิตใจ มีหรือไม่เดี๋ยวนี้ มี แต่ไม่รู้จัก ใช่ไหม จนกว่าจะได้ฟังว่า จิตใจก็เป็นธรรม อะไรที่มีจริงทั้งหมด จะพ้นธรรมไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นฟังธรรม ก็คือฟังสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แต่ว่าหลากหลายมาก และปัญญาก็น้อยนิด จนกว่าจะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจอย่างมั่นคง ถูกต้อง ทีละคำ พอเข้าใจอย่างมั่นคงถูกต้องแล้ว ฟังคำอื่นต่อไป ยิ่งเข้าใจชัดเจนขึ้น แต่ถ้าฟังไม่เข้าใจอย่างถูกต้อง คิดว่าเข้าใจแล้ว คือเข้าใจเผินๆ พอมีคำอื่นใหม่ ก็สับสน แล้วก็งง เพราะฉะนั้นแต่ละคำ ควรที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง ได้ยินคำไหน ก่อนฟังธรรม คิดว่าเข้าใจแล้ว เข้าใจดี
บางคนก็เขียนหนังสือเรื่องจิต เยอะมาก หลายเล่ม แต่ว่าเข้าใจจิตหรือเปล่า รับรองได้ ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่ได้ฟังพระธรรม เขาเขียนเรื่องจิต เขาคิดเรื่องจิต แต่ไม่เข้าใจจิต เพราะฉะนั้นจะเข้าใจคำนี้ จากคำที่ว่าเขียนบทความ ไม่มีจิตเขียนได้หรือไม่ และให้ทุกคนมาเขียนบทความ เขียนได้เหมือนกันทุกคนไหม ก็ไม่เหมือน นี่คือการเริ่มที่ว่า ส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ก็เป็นไปอย่างที่สะสมมา อีกส่วนหนึ่งก็คือว่า เริ่มเห็นประโยชน์ของการที่จะเข้าใจจริงๆ มีความเห็นที่ถูกต้องในแต่ละคำ ในแต่ละสิ่งที่ปรากฏ เห็นประโยชน์ของความเข้าใจ ซึ่งต่างกับการที่อยู่ไปวันหนึ่งๆ ก็ไม่เข้าใจเหมือนเดิม ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิด ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ไม่เข้าใจเหมือนเดิม แต่ว่าทุกอย่างเป็นปกติเหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตามการสะสม แต่ว่าสามารถที่จะฟังคำจริง ที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น