อารามคืออะไร


    อารามคือสถานที่สงบ ร่มเย็นด้วยความเข้าใจพระธรรม ไม่ใช่สถานที่มี มหรสพ หรือการกระทำต่างๆ ที่ผิดพระวินัย


    ท่านอาจารย์ คงจะเข้าใจความหมายของคำว่า อารามะ เป็นที่ๆ รื่นรมย์ไม่ใช่สนุกสนาน แต่หมายความว่า สงบด้วยพระธรรม ร่มเย็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าภายในวัด ไม่เป็นอย่างนี้ ก็ไม่ใช่เป็นสถานที่ ที่จะดำรงรักษาพระศาสนาไว้ เพราะเหตุว่าในวัดเต็มไปด้วยสิ่งที่บันเทิง แล้วก็มีมหรสพด้วยในบางกาล การฟ้อนรำอะไรๆ ก็มีอยู่ในนั้น ดนตรีก็มี พระภิกษุท่านจะศึกษาธรรมวินัยได้หรือ ในเมื่อสถานที่นั้น ไม่ใช่สถานที่ๆ รื่นรมย์ เป็นอารามที่จิตใจผ่องใส ไกลจากสิ่งที่จะทำให้เศร้าหมอง ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าวัดหนึ่งวัดใด ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งต้องใช้คำว่า แย่มาก แต่ชาวบ้านไม่รู้ก็ชื่นชม เช่นวัดหนึ่ง ก็มีบาตรหมุน เคยเห็นไหม บาตรหมุน เป็นบาตรหลายๆ บาตร แล้วก็หมุน ใครจะใส่ช่องไหนตามจุดประสงค์ความต้องการ ว่าต้องการอะไร ก็ใส่บาตรนัั้น

    นี่ไม่มีคำสอนในพระพุทธศาสนาเลย แล้วทำ แล้วคิดดูว่า พระพุทธศาสนาเสื่อมหรือเปล่า เสื่อมถึงระดับไหน ระดับที่ไม่เหมือนพระวิหารเชตวัน ไม่เหมือนพระวิหารเวฬุวัน มีที่เผาศพ มีผู้คนพลุกพล่าน มีศาลาต่างๆ มีการรับเงินรับทอง มีการจัดการเรื่องพิธีการสวดต่างๆ ไม่ใช่อาชีพของพระ หรืออะไรก็ตามแต่ พระก็ทำเป็นอาชีพเหมือนชาวบ้าน ซึ่งความจริงพระไม่ยินดีในเงิน และทอง แค่นี้ทำได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็ไม่ใช่พระภิกษุ ที่ไหนที่พลุกพล่าน มีที่เผาศพในวัดเต็มหมด ไม่ใช่อาราม

    อ.อรรณพ ในอรรถกถาภัททกสูตร อังคุตตรนิกาย ท่านมีข้อความตรงนี้ด้วย ว่าสิ่งที่มายินดีชื่อว่าอารามะ อธิบายว่า ได้แก่ความยินดียิ่ง ท่านอาจารย์ครับ ความยินดีอย่างนี้ คงจะไม่ได้ยินดีในมหรสพ ยินดีในอะไรอย่างนี้ แต่ยินดียิ่ง จริงๆ คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ยินดีที่ได้เข้าใจความจริง เวลาเข้าใจความจริงนี้ ยินดีหรือไม่ไม่เคยได้เข้าใจมาก่อนเลย คิดดู เวลาที่ได้เข้าใจ ก็เป็นที่ยินดีอย่างยิ่ง บางแห่งจะใช้คำแปลว่า รื่นรมย์ แต่ต้องรู้ว่าไม่ใช่มหรสพ เพลงดนตรี แต่เป็นที่ๆ ใจสงบ เป็นความสงบที่ทำให้สบายรื่นรมย์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของความบันเทิง เวลาไปดูละคร โรงละครเป็นที่มายินดีหรือไม่

    อ.อรรณพ มายินดีของโลภะ

    ท่านอาจารย์ ใช่ แม้แต่คำ ก็ต้องรู้ว่ามายินดีอย่างไร อารามะสำหรับเป็นที่อยู่ของพระภิกษุ ความยินดีต้องไม่ใช่ความยินดีอย่างชาวโลก


    หมายเลข 10865
    28 เม.ย. 2567