รู้ประมาณในการรับ


    การรู้จักประมาณในการรับ คือจะรับสิ่งใด ก็ด้วยจิตที่ดี เพื่ออนุเคราะห์ผู้ให้ ให้เกิดกุศลจิต แต่ถ้าเป็นภิกษุ การจะรับสิ่งใดต้องเป็นไปตามธรรมวินัยด้วย


    อ.อรรณพ การรู้จักประมาณในการรับ ที่อาศัยการเข้าใจธรรม เข้าใจอรรถมาแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็เริ่มรู้จักว่าธรรมมีทั้งฝ่ายที่ดี และทั้งฝ่ายที่ไม่ดี ทั้งหมดก็ต้องเป็นความรู้ถูก ความเห็นถูก เป็นปัญญา ถ้าไม่มีความรู้ถูก ความเห็นถูกแล้วจะละความเป็นเราได้หรือ แม้แต่เพียงเรื่องรับสิ่งของ ก็ไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นเป็นปัญญา ที่รู้ความควร และความไม่ควร ถ้าเป็นปัญญา ขณะที่รับ เพื่อเขาที่ให้เรา หรือเพื่อเรา ไม่ว่าใครจะให้อะไร เรารับเพื่อเขา เพราะเขาให้ ที่เขาให้หรือว่ารับเพื่อเราเอง

    อ.ธีรพันธ์ อนุเคราะห์เพื่อคนอื่นก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ใช่ไหม ว่าแม้แต่การรับ ปัญญาก็สามารถที่จะรู้ได้ เพื่อตัวเราหรือเพื่อประโยชน์ของผู้ให้ เพราะฉะนั้นแต่ละครั้งที่รับ ใครรู้

    อ.ธีรพันธ์ ต้องเป็นปัญญาที่รู้

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องตัวเองรู้ใช่ไหม ว่าเรารับเพราะ เพื่อประโยชน์ของเขา หรือว่าเพราะเรา ทั้งหมดไม่พ้นจากปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง

    อ.อรรณพ แล้วรับเพื่อประโยชน์

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนที่ยากไร้ให้ ยากในการที่จะรับ ถ้าคนที่ไม่ยากไร้ ไม่ยากเลย แต่คนที่ยากไร้ ยากมากเลย การที่จะรับ เพราะไม่รู้ว่าเขาเดือดร้อนหรือเปล่า หรือว่าในการที่เขาให้ เขาต้องมีศรัทธาที่จะให้ ถ้าเขาต้องลำบากมากมายแสนสาหัส เขาก็คงไม่ให้ เพราะว่ากุศลประการอื่นก็มี การช่วยเหลือก็มี การฟังธรรมก็มี การไม่ได้ริษยา การอะไรๆ ทุกอย่างก็เป็นฝ่ายกุศลทั้งนั้น ทำได้ โดยไม่ต้องมีการให้ บางทีก็ไม่อยากรับ เพราะเราเป็นคนที่ไม่รับของๆ ใคร สารพัดจะคิดด้วยความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นต้องรู้จิตในขณะนั้น และก็มีความเมตตา และก็มีความเข้าใจด้วย ให้เขาเกิดกุศลโสมนัส ดีกว่าให้เขาอึดอัดใจหรือเปล่า ในการที่เขาจะต้องมาให้เรา

    อ.อรรณพ นึกถึงในพระไตรปิฎก ท่านก็แสดงว่าไม่ปฏิเสธการเชื้อเชิญที่เป็นธรรม การให้ที่เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ การให้กับการรับ อะไรยากกว่ากัน เพราะว่าการให้ไม่ยากเลยใช่ไหม ให้เพราะมีจะให้ แน่ๆ ถ้าไม่มีจะให้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการให้ไม่ยาก เมื่อมีจิตคิดจะให้ มีกุศลก็ให้ แต่การรับนี่ยากไหม ที่จะให้เขาเกิดโสมนัสปิติในการรับ อย่างไรๆ ก็ตาม กุศลก็คือคิดถึงคนอื่น ไม่ใช่คิดถึงตัวเอง ถ้าเป็นการให้จริงๆ ไม่ยาก ไม่มีใครบังคับให้ให้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตคิดจะให้ ก็ให้ ไม่ยากในการให้ แต่ในการรับ ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้จักบุคคลที่ให้พอสมควร ไม่ใช่ไปทำให้เขาเกิดความโทมนัสเสียใจ ให้ง่ายกว่าแต่รับยาก ต้องคิด ต้องไตร่ตรอง ต้องไม่ทำให้คนที่ให้เสียใจ น้อยใจ

    อ.อรรณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักประมาณในการรับจีวรบิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชมูลฐาน

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นไปตามพระวินัยด้วย ง่าย คือตามพระวินัย คือไม่รับเกินกว่าที่ควรจะรับ

    อ.อรรณพ ที่ต้องรับเงิน รับทอง รับอะไร เพื่อที่จะไม่ให้ญาติโยมเสียศรัทธา หรือทำให้เขาหมดความเลื่อมใส หรือทำให้เขาจะเสียใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วไปพูดอะไรไว้ ให้เขามาถวายหรือเปล่า ที่จะให้คนอื่นได้ประโยชน์ มีมากมาย กล่าวถึงพระพุทธพจน์ คำจริงทุกอย่าง ให้เขามีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ไม่ได้ไปมุ่งหมายว่า ทำทานมากๆ นะ แล้วก็จะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นนั้น ชั้นนี้ นั่นไม่มีในคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วรับจากคนที่ไม่มี ต้องไปกู้มาให้ อย่างนี้ไม่ใช่คนที่เข้าใจธรรมเลย ไม่ใช่ภิกขุด้วย ทั้งหมดต้องเป็นไปตามความถูกต้อง ที่เป็นประโยชน์ ท่านพระอานนท์รับผ้าจีวรมากหรือไม่ คุณคำปั่น

    อ.คำปั่น รับมาก ประมาณได้ ๕๐๐ ผืน แต่ว่าที่ท่านรับ ก็เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุรูปอื่นๆ ด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแต่ภายนอก ที่ปรากฏว่ารับมาก รับน้อย แต่ต้องรู้ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร และก็ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของสภาพของธรรม คือจิตที่เป็นกุศล ก็สามารถที่จะรู้ประมาณ ประมาณไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ต้องเป็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และรับแล้ว ก็ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยด้วย ไม่ใช่สำหรับเพื่อตัวท่านทั้งหมด ที่รับมา


    หมายเลข 10872
    24 เม.ย. 2567