ความเห็นผิดหลายระดับ
ความเห็นผิด มีทั้งที่ยังไม่ถึงระดับทำอกุศลกรรม และที่ทำให้กระทำอกุศลกรรม ส่วนความเห็นผิดที่ร้ายแรง ก็คือ ความเห็นผิดที่ค้านกับความเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แล้วชักชวนให้ผู้อื่นเข้าใจผิด และประพฤติผิดตามๆ กัน
อ.คำปั่น ความเห็นผิดที่ยึดถือว่า ธรรมเป็นตัวเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้เกิดความเห็นผิด ที่มีกำลังแรงกล้าขึ้นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ความเห็นผิด วิปริตต่างๆ ใช่ไหม ไม่ใช่ปกติธรรมดา วันนี้ทุกคนตื่นขึ้นมา ยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นเรา แต่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า หรือว่าเป็นอนุสัย เพราะว่าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าถามว่า นี่อะไรเขาก็ตอบว่า ดอกไม้ นี่อะไร นี่ก็คน ก็แสดงว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง บอกเท่าไร ก็ไม่ฟัง แม้ในการสนทนากัน แต่พอสนทนากัน ผู้ที่มีสักกายทิฏฐิ ก็เริ่มได้ยิน ได้ฟัง คำที่ถูกต้อง ก็เริ่มมีความเห็นถูกได้ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกั้น แต่ถ้ามีความเห็นผิดที่วิปริต คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เห็นชัดเจนอย่างที่กล่าวถึงแล้ว ไม่มีอะไรที่ควรจะเชื่อเลย ก็เชื่อได้ ตัวอย่างคงมากมายเลย มากมายจริงๆ ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ นักศึกษาก็เห็นผิดกันไป เอาปากกาไปเสกบ้าง หรืออะไรๆ หลายอย่าง ซึ่งไม่ใช่เหตุผลเลย ก็มีความหลงไป
แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ชักชวนให้คนอื่นเห็นผิด จนกระทั่งทำกรรมที่ผิด เพราะเหตุว่าทุกคนมีความเห็นผิด แต่ไม่ได้ทำกรรมที่เป็นอกุศลได้ หรือแม้ขณะนี้ที่บอกว่า ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ว่าทิฏฐิเจตสิก จะเกิดกับจิต แต่ว่ามีอนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นทิฏฐานุสัย นอนเนื่องอยู่ในใจ และก็เวลาที่มีปัจจัยที่จะเกิดเมื่อไร ก็เกิดขึ้น
และความเห็นผิดที่ร้ายแรงที่สุด คือความเห็นผิดที่ตรงกันข้ามกับคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ขณะนี้สภาพธรรมที่มีจริงเพราะเกิดขึ้น และดับไป เป็นอนัตตา แต่ว่าไปประพฤติปฏิบัติ โดยความเป็นตัวตน ค้านกับคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา นั่นก็เป็นโทษอย่างมาก
เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาตามลำดับ ความเห็นผิดทั่วๆ ไปเป็นปกติ กับความเห็นผิดซึ่งค้านกับความเป็นจริง แล้วก็ชักชวนให้คนอื่นเข้าใจผิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้นด้วย
อ.กุลวิไล พูดถึงความเห็นผิดที่ค้านกับความเป็นจริง เพราะว่าธรรมลึกซึ้งเข้าใจยาก ผู้นั้นก็อาจจะศึกษา แต่ถึงเวลาแล้วประพฤติปฏิบัติด้วยความเป็นตัวตน
ท่านอาจารย์ อย่างนั้นชื่อว่าเข้าใจสิ่งที่ศึกษาหรือเปล่า
อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นชาวพุทธ และศึกษาธรรม ก็ไม่ใช่ว่าศึกษาเพียงแต่เข้าใจแค่ขั้นเรื่องราว และก็จำได้ แล้วก็จบ อ่านหมดครบทุกเล่ม แต่ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ก็ไม่ใช่ศึกษา
ท่านอาจารย์ อย่างนั้นไม่ชื่อว่าศึกษาธรรม แต่ชื่อว่าศึกษาเรื่อง แต่ไม่ใช่ศึกษาธรรม ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรม จะไม่ชื่อว่าศึกษาธรรม ไม่ว่าจะอ่านเรื่องราวของธรรมมากสักเท่าไร เช่น โลภมูลจิต สภาพของจิต ซึ่งติดข้อง มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยขณะนั้น อยู่ไหนแล้ว ไม่รู้เลยว่าเดี๋ยวนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นชื่อว่า ศึกษาธรรมได้อย่างไร เป็นแต่ศึกษาชื่อ และเรื่องราวของธรรม แต่ถ้าเริ่มเข้าใจถูกต้องว่า ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่มีใครรู้มาก่อนเลย ว่าเป็นธรรม เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ตลอดเวลา แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เริ่มเข้าใจถูก ว่าสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย ตั้งแต่เกิด เป็นปกติธรรมดาทุกอย่างในชีวิตประจำวันทุกวัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้คนอื่นเข้าใจถูกต้องด้วย
เพราะฉะนั้นศึกษาธรรมคือรู้ว่า ธรรมคืออะไร ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เรื่องเห็นเดี๋ยวนี้หรือเปล่า ได้ยิน คิดนึก โลภะ โทสะหรือเปล่า ศึกษาก็คือว่า มีสิ่งที่มีจริงในชีวิตแล้ว ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจมาก่อน แล้วจะศึกษาจากใคร จากไหน คิดเองก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ผู้รู้ ไม่ใช่ผู้ที่ตรัสรู้
เพราะฉะนั้นศึกษาจากผู้รู้คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ดีแล้ว นั่นจึงจะชื่อว่าศึกษาธรรม เพราะฉะนั้นใครก็ตามศึกษาเรื่องจิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ โพชฌงค์ ๗ สติปัฎฐาน ๔ หรืออะไรก็ตาม อยู่ไหน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเดี๋ยวนี้เอง ก็ไม่ชื่อว่าศึกษาธรรม
อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ แล้วถ้าไม่รู้ธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เขาก็ย่อมไม่รู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศลด้วย
ท่านอาจารย์ ไม่รู้จักธรรมเลย ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ เป็นธรรม เมื่อไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรม จะบอกได้ไหม ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เมื่อไม่รู้จักธรรม
อ.กุลวิไล แล้วที่สำคัญก็ยังไปปฏิบัติ ซึ่งก็แยกกับการที่จะศึกษาปริยัติให้เข้าใจก่อน ก็จะไปทำด้วยความเป็นตัวตน
ท่านอาจารย์ นี่แหล่ะ บุคคลที่เกิดมามีทิฏฐิ แล้วเป็นโทษอย่างยิ่ง เพราะว่าไม่ได้ทำประโยชน์แก่ชาวโลก กลับทำให้ชาวโลกเห็นผิดตามไปด้วย
อ.กุลวิไล และที่น่ากลัวคือชักชวนด้วย ท่านอาจารย์ เพราะว่าในอรรถกถาท่านยังกล่าวเลยว่า บุคคลผู้ชักชวน เมื่อชักชวนคนร้อยคนในกรรม มีปาณาติบาต เป็นต้น ย่อมได้อกุศลเท่ากันกับอกุศลของคน ผู้ถูกชักชวนแม้ทั้งหมดนั้น