ธรรมกายไม่ใช่วัด


    สถานที่ใดที่ไม่ใช่สถานที่อันสงบ สำหรับภิกษุจะศึกษาธรรมวินัย ขัดเกลากิเลส ที่นั้นไม่ใช่วัดในพระพุทธศาสนา


    ท่านอาจารย์ ชาวพุทธก็คงคุ้นเคยกับคำว่าวัด เป็นสถานที่ๆ ชาวพุทธไปฟังธรรม แล้วก็อบรมเจริญปัญญา หรือว่าถวายปัจจัย ที่สมควรแก่พระภิกษุ คืออาหารบิณฑบาตเป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าที่ใดก็ตาม ไม่เป็นอย่างนี้ ที่นั่นเป็นวัดหรือเปล่า ชาวพุทธต้องรู้เอง ใช่ไหม ไม่ใช่ว่ามีใครจะไปใส่ความ แต่ว่าพฤติกรรมหรือสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่เป็นสถานที่สำหรับที่พระภิกษุ ที่จะขัดเกลากิเลสอยู่อาศัย ที่นั้นก็ไม่ใชวัดแน่นอน ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้ามีรั้วลวดหนาม มีรถขวาง มีอะไรนั้น เพื่ออะไร ทำ ทำไม

    เพราะฉะนั้นพฤติกรรมทั้งหมดก็ชัดเจนที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่จะชัดเจนกว่าภาพที่เห็น และการกระทำ ซึ่งแสดงว่านี่ไม่ใช่ที่ๆ สงบ นี่ไม่ใช่ที่ๆ ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นี้ไม่ใช่ที่จะขัดเกลากิเลส เต็มไปด้วยกิเลส เพราะฉะนั้นที่นั่นไม่ใช่วัดแน่นอน ด้วยเหตุนี้ธรรมกายไม่ใช่วัด ตราบใดที่ยังเป็นอย่างนี้ เป็นวัดไม่ได้ จะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ และก็พฤติกรรม เช่น การทำสมาธิเป็นหมู่ ขวางกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไป เป็นพฤติกรรมที่ส่อถึงความทุจริตหรือสุจริต แล้วถ้าการกระทำที่สุจริต เปิดเผย ไม่มีอะไรเลย ใช่ไหม ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ใช่ว่าร่วมมืออย่างดี ถ้าร่วมมืออย่างดี ก็เชื้อเชิญเข้าไป แล้วก็ให้ตรวจ พาไปตรวจค้นทุกซอกมุม นั่นคือให้ความร่วมมือ แต่อย่างนี้ไม่ได้ทำอะไร ที่จะแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือเลย มีสิ่งขัดขวางไม่ให้เข้า

    เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนก็ควรที่จะได้เข้าใจให้ถูกต้อง ไม่มีใครที่เราจะต้องเรียกเป็นชื่อ คนนั้นผิด คนนี้ถูกอะไร แต่ธรรมเป็นธรรม ความจริงเป็นความจริง ถูกคือถูก ผิดคือผิด เพราะฉะนั้นเพียงเท่านี้ ชาวพุทธตัดสินไม่ได้หรือ ว่าถูกหรือผิด วัดหรือไม่ใช่วัด เพราะว่าวัดอื่นๆ ไม่ได้เป็นอย่างนี้เลย แต่มีวัดนี้ ซึ่งเป็นอย่างนี้ พร้อมทั้งสิ่งที่ก่อสร้าง ปลูกสร้างในวัด เพื่ออะไร มองไม่ออกเลยว่า เพื่อประโยชน์ของการขัดเกลากิเลส เต็มไปด้วยกิเลสทั้งหมด แล้วจะขัดเกลาอะไร เพราะฉะนั้นก็เป็นที่แน่นอน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็คือว่าธรรมกายไม่ใช่วัด เพราะว่าผู้ที่อยู่ในวัดไม่สงบ ถ้าจะกล่าวว่ามานั่งสมาธิกันเป็นหมู่ สงบหรือ ทุกวันก็ไม่ทำอย่างนั้น แล้วทำอย่างนั้นทำไม สงบหรือ แล้วขณะที่กำลังนั่งนิ่งๆ จิตเป็นอะไร รู้ได้อย่างไรว่าสงบ ในเมื่อใจคิดอยู่แล้วว่าจะขัดขวาง เพราะฉะนั้นขณะที่นั่ง จะสงบได้หรือ เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องพิจารณาโดยละเอียด โดยความตรงในพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นที่นี่ หรือที่ไหนๆ ก็ตาม ถ้าทำอย่างนี้ ก็ไม่ใช่วัด ก่อนอื่นทุกคนต้องรู้จุดประสงค์ว่า มานั่งกันอย่างนั้นทำไม ทำเพื่ออะไร อยู่ดีๆ ก็มานั่งกันเป็นแถว ทำอะไร ทุกวันทำอย่างนั้นหรือเปล่า แล้วทำ ทำไม ไม่มีคำตอบ หรือมีคำตอบ ถ้าถูกถาม ก็ต้องตอบได้ เพราะทำแล้ว ทำ ทำไม ทำเพื่ออะไร เพื่อขัดขวางไม่ให้คนเข้าไปหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็เพื่อขัดขวางไม่ให้คนเข้าไป

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตขณะนั้นสงบหรือ คิดขัดขวาง แล้วสงบหรือ

    ผู้ฟัง ไม่สงบเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ทำอย่างนี้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ ไม่ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า เป็นคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเป็นวัดไม่ได้ เห็นไหม คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่ใช่เพื่อความถูกต้อง เพราะเหตุว่าทุกคนในประเทศไหนก็ตามแต่ ต้องเป็นประชาชนของประเทศนั้น ซึ่งจะต้องทำตามกฎหมายของประเทศนั้น เพราะฉะนั้นถ้าใครก็ตาม ซึ่งไม่ทำตามกฎหมาย ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ผิด

    ท่านอาจารย์ แล้วควรจะทำอย่างไรกับเขา ปล่อยปละละเลยให้เป็นไปอย่างนั้น หรือว่าใครก็ได้ อยากจะทำอย่างนั้นก็ทำสิ ไม่ว่าจะกี่วัด กี่วัด อยากจะทำอย่างนั้น ก็ทำสิ่ หรือว่าประชาชนธรรมดาคนไหน อยากจะทำอย่างนั้น ก็ทำสิ่ ไม่มีการยกเว้น เพราะเหตุว่าสำหรับพระภิกษุ มีความประพฤติถึงสองชั้น ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม ในฐานะของประชาชน และในฐานะของความเป็นภิกษุ

    ในฐานะของประชาชน ซึ่งไม่ใช่ภิกษุ ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย ภิกษุไม่มีการยกเว้น ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นภิกษุแล้ว ขโมยก็ได้ ทุจริตก็ได้ ลักก็ได้ ด่าทอหรือทำอะไรก็ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นนอกจากจะเป็นประชาชน ที่จะต้องประพฤติตามกฎหมายแล้ว ก็ยังจะต้องประพฤติตามพระธรรมวินัยด้วย สักข้อหนึ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่มีในความเป็นพระภิกษุ ในพระธรรมวินัย ที่นี่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จุดประสงค์ก็คือว่าศึกษาพระธรรมวินัย แล้วก็กระจายข่าวให้คนได้เข้าใจได้ถูกต้อง ว่าธรรมคืออะไร วินัยคืออะไร

    เพราะฉะนั้นเราจึงมีการเผยแพร่ พระธรรมวินัยที่เราได้ร่วมกันศึกษา ทั้งวิทยากร และผู้ที่มาฟังด้วย เพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา เท่าที่กำลังสติปัญญา ความสามารถทุกอย่าง ซึ่งทุกคนเต็มที่ จะรักษาพระธรรมวินัยได้ เพราะฉะนั้นการที่เราให้ความรู้ ความเข้าใจ ว่าวัดคืออะไร เราคงไม่ผิด ที่จะให้คนได้เข้าใจถูกต้อง ใช่ไหม ว่าวัดเป็นสถานที่ๆ สงบของใคร ของพระภิกษุ สามเณร ซึ่งดำเนินตามรอยพระบาท ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีการที่จะประพฤติอย่างคฤหัสถ์อีกต่อไป เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้น ต้องตั้งต้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมทั้งหลาย ซึ่งไม่เป็นไปอย่างนี้ จะกล่าวว่าที่นั่นเป็นภิกษุ เป็นวัดวาอารามก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นวัดจริงๆ และก็ผู้ที่เข้าใจพระธรรม ขัดเกลากิเลส จะไม่มีการกระทำ ซึ่งไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย ทั้งวินัย และธรรม ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าแม้แต่คำสอน ที่จะไม่มีการเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่เป็นสาวก ทำได้หรือ มีความนอบน้อมยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า หรือว่าเก่งกว่า ดีกว่า ด้วยประการทั้งปวง นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ชาวพุทธไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ตรงว่าอะไรถูก อะไรผิด มีใครบ้างที่จะเกินพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ เหมือนกันไหม ไม่ใช่ว่าพระองค์นี้ไม่รู้ และก็มีคนสักคนหนึ่งบอกว่า เขารู้มากกว่า อย่างนั่นถูกต้องหรือไม่ และชาวพุทธจะยินยอม ที่จะติดตาม เชื่อฟัง เชื่อถือ บุคคลนั้นหรือไม่ ก็เท่ากับว่า ผู้นั้นไม่ใช่พุทธบริษัท

    เพราะฉะนั้นพฤติกรรมไม่ยากเลย ที่จะรู้ว่าเป็นวัด หรือไม่เป็นวัด ก็ดูจากพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ที่นั่น ถ้าพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ที่นั่น ไม่เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส ไม่เป็นการศึกษา ประพฤติ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ที่นั่นไม่ใช่วัดแน่นอน ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม จะมีผู้คนไปมาก สักเท่าไร แล้วไปทำไม อย่างที่ว่าชวนกันบวช เพื่ออะไร ยังไม่ได้เข้าใจธรรมเลย บวชให้ครบจำนวน ไม่มีในพระศาสนา เพราะว่าพระศาสนา เป็นพระศาสนาที่บริสุทธิ์ที่สุด เป็นความจริงใจ เป็นความตรง ไม่มีศรัทธาก็ไม่ต้องบวช ไม่ใช่ว่าไปบังคับให้บวช ไปขอร้องให้บวช ไปชวนให้บวช แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีความเข้าใจเลยว่า การบวชเป็นการที่ยอมมอบชีวิต เพื่อพระศาสนา เพื่อการศึกษาพระธรรมวินัย ซึ่งชีวิตเดิมๆ ก็เป็นชีวิตของคฤหัสถ์ สนุกสนานเพลิดเพลิน แต่เมื่อได้เห็นประโยชน์ของการที่จะได้ขัดเกลากิเลส ซึ่งคนอื่นขัดเกลาให้ไม่ได้เลย นอกจากพระธรรมวินัย

    เพราะฉะนั้นการที่บุคคลนั้น มีความจริงใจเท่านั้น จึงบวช แต่ถ้าบวชโดยความไม่จริงใจ บวชทำไม บรรพชาคือการสละทั้งหมด เพราะฉะนั้นเป็นการลวง การหลอก การไม่ให้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับคน และยิ่งมีคำกล่าวว่า บวชแล้วก็กินสบาย และก็มีเงินด้วย จะสนับสนุนให้บวชกันหรือ ในเมื่อบวชแล้วถามใครก็เป็นอย่างนี้ เมื่อบวชแล้ว เข้าใจธรรมไหม ไม่ได้มีการเข้าใจธรรมเลย

    เพราะฉะนั้นการที่จะบวช ต้องเข้าใจธรรมก่อน ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุด เหมือนคฤหัสถ์ในครั้งพุทธกาล ไม่มีใครที่ไปบวช โดยที่ว่าไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าใจตัวเองถูกต้องว่า สมควรที่จะขัดเกลากิเลสในเพศใด ตรงจริงใจ จึงสมควรที่จะเป็นพุทธศาสนิกชน หรือว่าเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พฤติกรรมไม่ยากเลย ไม่ว่าวัดไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าภิกษุรูปใดทั้งสิ้น ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ก็ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย


    หมายเลข 10880
    20 เม.ย. 2567