เมื่อได้ยินได้ฟังส่วนที่ยังเข้ากันไม่ได้


    ผู้ถาม พูดถึงฟัง ถ้าเผื่อสะสมมั่นคงอยู่แล้ว การฟังนั่นเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเผื่อมีการสะสมน้อย การฟังข้างนอกผิดนี่ผิดเลย เราจะมีข้อระวัง และข้อนำอย่างไร

    สุ. สิ่งที่ลืมไม่ได้คือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แค่นี้เรารู้เลย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร มีพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณที่จะทรงแสดงธรรมที่ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองให้คนอื่นได้ฟังได้เข้าใจ และได้สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้ความจริงนั้นได้ เพราะฉะนั้นธรรมนี้ต้องละเอียด ไม่ใช่ว่าอยาก ต้องลึกซึ้ง เพราะเหตุว่าแม้กำลังมีปรากฏ คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลย ทุกคนเกิดมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกคนก็บอกเท่านี้ ไม่เห็นมีอะไรเลยตา แต่ผู้รู้ๆ เกินกว่าผู้นั้นคิดมากมายมหาศาล นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเทียบไม่ได้กับผู้ที่เริ่มฟังที่จะคิดว่าธรรมเป็นสิ่งที่เล็กน้อยหรือว่าไม่ลึกซึ้ง และข้อสำคัญก็คือว่าเมื่อสิ่งนั้นเป็นความจริง เปลี่ยนความจริงไม่ได้ ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของพระอภิธรรม พระสูตรก็ต้องสอดคล้องกัน รวมทั้งพระวินัยด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงที่ทรงแสดงโดยประการต่างๆ หลากหลายแต่ทั้งหมดสอดคล้องจะค้านกันไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าความเข้าใจของเราไม่ตรงจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ยังไม่ได้ความกระจ่าง หมายความว่าขณะนั้นยังไม่ใช่ความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความเข้าใจเป็นความจริงทนต่อการพิสูจน์ ต่อการซักถาม ต่อการเข้าใจ เพราะฉะนั้นเวลาที่สนทนากัน อย่าค้างคาใจไว้ ก็ควรที่จะได้สอบถามว่าเป็นความเข้าใจจริงๆ จนหมดความสงสัยในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อนั้นจึงจะเป็นความถูกต้อง

    ผู้ถาม ควรตรวจสอบเสียก่อนว่าเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า อย่างน้อยมาจากพระไตรปิฎกหรือเปล่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งพระไตรปิฎกสอนไปอ่านเอาเรื่องอีก

    สุ. เพราะฉะนั้นก็ต้องขอถือโอกาสนี้ให้ทราบว่าไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องอ้างบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือสถานที่หนึ่งสถานที่ใดแม้ที่นี่ เพราะว่าจริงๆ แล้วธรรมเป็นสิ่งที่ตรงแล้วก็พิสูจน์ได้ ถ้าใครกล่าวถึงธรรมที่มีจริงๆ และถูกต้องก็คือจริง ไม่ว่าจะที่ไหน และไม่ว่าจะเป็นใคร เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาก็สามารถที่จะฟัง และก็รู้ว่าจะมีใครบ้างไหมสักคนหนึ่งที่จะรู้ทั่วถึงพระไตรปิฎก และอรรถกถาทั้งหมด เมื่อไม่มี พุทธบริษัททุกคนก็ควรจะพร้อมเพรียงกันปรึกษาหารือ แล้วก็พิจารณาธรรมจนกระทั่งเป็นความถูกต้องเพื่อพระธรรมโดยที่ว่าเราก็จะไม่กล่าวถึงว่าสถานที่นี้ผิดอย่างนั้น หรือบุคคลนี้ถูกอย่างนี้ แต่ว่าธรรมที่ถูกก็คือถูก ที่ผิดก็คือผิด เราอาจจะเข้าใจว่าคนนั้นต้องผิดตลอด แต่ความจริงส่วนที่ถูกก็มี แต่ว่าเป็นความละเอียด ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเป็นผู้ที่ฟังธรรม พิจารณาธรรม แล้วก็ไตร่ตรอง ถ้าได้ยินได้ฟังส่วนที่ยังเข้ากันไม่ได้ ยังไม่ถูกต้อง ก็พิจารณาศึกษาต่อไป อย่าเพิ่งรับความคิดนั้นว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องสมบูรณ์


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214


    หมายเลข 10894
    31 ส.ค. 2567