รู้แล้วแต่ยังติดข้อง
แม้ปัญญาจะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้าปัญญานั้นยังไม่พอ ก็ยังไม่ถึงระดับที่จะละความติดข้องได้ จึงต้องอบรมปัญญาต่อไป จนกว่าจะ ดับความติดข้องได้จริงๆ
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์เริ่มอธิบายคำว่าวิปัสสนา ท่านอาจารย์กล่าวว่า วิ แปลว่า พิเศษ ชัดแจ้ง แล้วมีคำหนึ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวตรงนั้น แต่ไม่เข้าใจเพราะท่านบอกว่าเห็นชัดแจ้งว่าไม่มีเราในขณะนั้น โดยที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะรู้ชัดแจ้ง ท่านอาจารย์ใช้คำว่ารู้แล้วติดข้อง แล้วท่านอาจารย์ก็อธิบายต่อไปเรื่องคำว่า รู้แล้วละ ต๋อยติดใจตรงคำว่ารู้แล้วติดข้อง
ท่านอาจารย์ ขณะใดก็ตามที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น จะไม่รู้เลย ความไม่รู้นั่นเองนำมาซึ่งความติดข้องในสิ่งนั้น ไม่มีตัวเราต่างหาก ต้องไปทำความไม่รู้ และความติดข้อง แต่ขณะนี้สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ ปรากฏแล้ว เพราะไม่รู้ ติดข้องแล้วก็ไม่รู้
ผู้ฟัง หมายความว่า แม้ว่าเห็นชัดแล้ว ว่าไม่มีเรา แต่ก็ยังติดข้องได้
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญา ตั้งแต่ขั้นที่อ่อน จนกระทั่งมีกำลัง ไม่ใช่ว่าทันทีนั้นก็มีกำลัง ที่จะประหารกิเลสได้เลย และรู้ได้เลย ว่าโลภะตามไปตลอด ไม่รู้จักโลภะเดี๋ยวนี้เลย รอบตัวเลย พอเห็นไม่รู้หรอกว่ามีโลภะแล้ว จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม พระสัมมาส้มพุทธเจ้าทรงแสดงจิต เกิดดับสืบต่อ แต่ละขณะทีละหนึ่งขณะ ก่อนเห็นมีเห็นไหม ไม่มีเห็น ถ้าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบจักขุปสาท เดี๋ยวนี้ทุกคนรู้ว่าเรามีตา แต่ไม่รู้รูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ เรามีตานี่ เรามีตา สสัมภารจักขุ คือส่วนประกอบของตาทั้งหมด สีดำ สีขาว บางคนก็สีเขียว สีน้ำตาล ก็แล้วแต่ กรรม สามารถที่จะทำให้ แม้สีของตาก็ต่างกันไปได้ แต่ทั้งหมด จะมีรูปที่กระทบสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ได้ ซึ่งรูปนั้นมองไม่เห็นเลย อยู่กลางตา เห็นเมื่อไร เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เป็นสีสันวรรณะต่างๆ เพราะอยู่ติดกัน รวมกัน แยกไม่ออก แต่สิ่งที่สามารถกระทบตาได้คือสีสันวรรณะ ซึ่งมีอยู่ในทุกแห่งที่มีรูปธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ไม่มีใครรู้จักตา แต่มีสิ่งที่กระทบตา รู้ แต่ก่อนเห็นต้องมีจิต ที่สิ่งที่กระทบตา กระทบตาก่อน เพราะเห็นจะเกิดทันทีได้อย่างไร อยู่ดีๆ นอนๆ อยู่ เห็นเกิดขึ้นทันทีได้ไหม ไม่ได้ แต่เมื่อใดที่มีรูป ที่กระทบกันได้ เช่นสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ กระทบจักขุปสาทกระทบตาได้ รูปพิเศษที่อยู่กลางตาสามารถกระทบกับสิ่งนี้ เป็นปัจจัยให้ธาตุรู้ คือจิตเกิดขึ้นเห็น รู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏ เราไม่รู้หรอกว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏ จิตรู้แจ้งแน่นอน บางคนบอกว่าในห้องสลัวๆ รู้แจ้งหรือไม่ ก็แจ้ง ถึงได้บอกว่าสลัว ไม่มีอะไรเลย ซึ่งจิตจะรู้ คือเห็นไม่ตรงตามความเป็นจริง เมื่อความจริงสลัว จิตรู้แจ้งในความสลัว ค่อยๆ เพิ่มแสงสว่างขึ้น ทีละน้อยทีละน้อย จิตก็ยังรู้แจ้งเลย ว่าไม่เหมือนตอนที่มืด ตอนที่สลัว แล้วตอนที่ค่อยๆ สว่างขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย นั้นคือสภาพของธรรม ซึ่งไม่ใช่เราเลย เป็นจิตที่กำลังรู้แจ้ง
เพราะฉะนั้นเวลาที่ใช้คำว่ารู้แจ้ง ไม่ใช่ขั้นฟัง แต่เมื่อยังไม่เกิด จะรู้ไหมว่าเป็นอย่างไร ไม่รู้ แต่รู้ว่าต่างกันแน่นอน เพราะฉะนั้นไม่ว่าขณะใดก็ตาม ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ปัญญาไม่พอที่จะดับโลภะตามลำดับขั้น เพราะว่าการที่จะ ละความติดข้องได้ ก็เมื่อละความไม่รู้ และสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกันก็คือปัญญาเท่านั้นที่รู้ เข้าใจ ตรงกันข้ามกับความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นเวลาที่ปัญญาเพิ่มขึ้นเท่าไร ก็ละความไม่รู้เท่านั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพธรรมเพียงปรากฏตามความเป็นจริง เป็นวิปัสสนา การเกิดดับอะไรๆ แม้ขณะนั้นเกิดดับ ปัญญาก็ไม่เกิด ที่จะถึงการประจักษ์แจ้งในการละความติดข้อง เพราะประจักษ์แจ้งการเกิดดับ เหมือนเดี๋ยวนี้เราก็รู้ว่าเกิดดับ แต่ไม่ได้ปรากฏ ปัญญาไม่พอ ถ้าปัญญาพอ ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม จะเป็นเห็น จะเป็นสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นเสียง จะเป็นได้ยิน จะเป็นแข็งกับสภาพที่รู้แข็ง สิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วปัญญาจะไม่รู้สิ่งที่เป็นธรรมดาอย่างนั้นหรือ แต่ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่เรา
ทั้งหมดเป็นเรื่องละ ถ้าไม่ตั้งต้นด้วยกันละ ไม่มีทางที่จะถึง เพราะการละเป็นหน้าที่ของปัญญา เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่ไม่ละ ตัวตนกำลังพากเพียร กำลังขวนขวาย โดยรู้ไม่ทันเลย ว่าใครล่ะที่ให้ทำอย่างนั้น โดยที่ว่าไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ต้องเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา แต่มีเหตุ ฟัง ไตร่ตรอง พิจารณา ถ้าฟัง และก็ไม่สนใจ ก็แค่ผ่านไป จะเข้าใจได้อย่างไร แม้แต่ความเข้าใจ ยังต้องมีเหตุว่าไม่ใช่เพียงแค่ฟัง แต่ต้องมีความใส่ใจ ในการที่จะเข้าใจด้วย ถึงจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องคิดว่า จะไม่รู้จักโลภะ แต่ว่าโลภะที่มี แม้ไม่รู้ แต่ขณะนั้นโลภะก็ปรากฏเป็นสภาพที่ติดข้อง ซึ่งปัญญาจะต้องละ