ธรรมไม่ใช่จำอวด


    การแสดงธรรมที่ถูกต้องจะไม่ล้าสมัยเลย เพราะแสดงให้เข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ ไม่ใช่เพื่อความสนุก ตลก คะนอง และถ้าเป็นภิกษุพูดหรือแสดงให้สนุก ตลก คะนอง ก็เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะผิดพระวินัย เป็นโทษ และเป็นการทำลายพระศาสนา


    อ.อรรณพ มาฟังตรงนี้แล้ว รู้สึกว่าวิทยากรที่พูด เป็นความคิดแบบเก่า ควรที่จะพูดธรรมให้ง่าย และก็เหมาะกับวัยนักศึกษา

    ท่านอาจารย์ เขานับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเก่านะ ๒,๕๐๐ กว่าปีนี้ เก่าหรือไม่ เพราะฉะนั้นคิดว่าไม่ต้องนับถือหรือ แต่เก่าหรือใหม่ก็ตามแต่ ความจริงต้องเป็นความจริง เพราะฉะนั้นสมัยใหม่ มีแต่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่จริง กับของเก่าซึ่งเป็นของที่จริงถูกต้อง ผู้ที่มีปัญญาไตร่ตรอง จะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด โดยเฉพาะจะกล่าวว่าเก่า เก่าไม่ใช่เก่าอื่น ไม่ใช่เก่าของพวกเดียรถีย์ก่อนการตรัสรู้ แต่ที่ว่าเก่าคือเห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงพระธรรม ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว จะ ๒,๖๐๐ ปี หรืออะไรก็ตามแต่ ต่อไปข้างหน้า แต่คำนั้นไม่ได้เปลี่ยนเลย เพราะว่าตรัสรู้ความจริงถึงที่สุดของทุกอย่าง แม้ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เก่าหรือใหม่ กำลังเห็นขณะนี้ เก่าหรือใหม่ ๒,๕๐๐ กว่าปี มีเห็นหรือไม่ มีเห็น เดี๋ยวนี้มีเห็น เพราะฉะนั้นขณะนี้ เดี๋ยวนี้กับสมัยโน้น เก่าหรือใหม่ หรือไม่ว่าสมัยไหน ก็เป็นสิ่งนั้นแหละ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา

    เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ทำให้คนซึ่งเคยเป็นผู้ไม่ตรง เป็นผู้คดงอ ตรงไม่ได้เลย ไม่สามารถที่จะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด แต่การเป็นผู้ที่ได้ฟังเหตุ และผล และค่อยๆ ไตร่ตรอง ถ้าเป็นผู้ที่สะสมที่จะเห็นถูกต้อง สามารถละทิ้งความเห็นผิดได้

    เพราะฉะนั้นถ้าเคยฟังมา ที่บอกว่าสมัยนี้ฟังมาเป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เก่าทั้งนั้น แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง เห็น สมัยโน้นก็มี สมัยนี้ก็มี รู้ตามความเป็นจริงหรือไม่ ว่าสมัยก่อนเห็นเป็นอย่างไร และสมัยนี้เห็นเป็นอย่างไร ที่จะกล่าวว่าเก่า เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นคนที่คิดว่า ยุคสมัยที่กำลังมี ใหม่ ต้องเชื่อ แต่ว่ายุคสมัยที่กำลังมี เป็นยุคที่ไม่ได้เข้าใจความจริง ถ้าเข้าใจความจริง ก็ต้องตอบทุกคำได้

    เพราะฉะนั้นการสนทนาธรรม เป็นมงคล ในมงคล ๓๘ เพราะเหตุว่านำมาซึ่งความเห็นถูก ซึ่งก่อนการสนทนาธรรมในครั้งอดีต ท่านก็ตั้งกติกากันไว้ สิ่งใดถูกต้องว่าถูก สิ่งใดผิดต้องว่าผิด ไม่ใช่เห็นสิ่งที่ถูกเป็นผิด และกล่าวสิ่งที่ถูกเป็นผิด ถ้าอย่างนั้นจะมีประโยชน์อะไร ในการสนทนาธรรม แม้แต่การมา ที่มหาวิทยาลัย ที่เชียงใหม่ ก็เพื่อที่จะได้ให้มี ความเห็นที่ถูกกับผู้ที่ไม่เคยได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะเหตุว่าทุกคำ อยู่ในพระไตรปิฏก ซึ่งเป็นการประมวลคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งนานมาแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทั้งหมดทรงแสดงไว้แล้ว แล้วก็สืบทอดกันมา ซึ่งผู้ที่ฟัง ถ้าจะกล่าวว่าของเก่าอาจจะผิด ก็ฟังก่อน ผิดตรงไหน เพราะอะไร ต้องชี้แจง ต้องเป็นผู้ที่สามารถที่จะรู้ และต้องเป็นผู้ตรง อย่างเห็นขณะนี้ ถ้าไม่มีการเกิดขึ้นเห็น ไม่มีเห็น แค่นี้ จริงหรือไม่ เก่าหรือ สมัย ๒,๕๐๐ กว่าปีหรือก่อนนั้นก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้แม้เห็นจะเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครไปทำให้เห็นเกิดขึ้น เห็นเกิดแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้นไม่มีการที่จะเข้าใจว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล้าสมัย หรือว่าคนในครั้งโน้นที่ฟังสืบทอดกันมา รักษาความถูกต้อง เป็นคนล้าสมัย เพราะเหตุว่าเป็นคนที่มีความเห็นที่ถูกต้อง ในยุคสมัยทั้งหมด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ถ้าสมัยนี้จะไม่เห็นด้วย ก็ชี้แจงมา

    อ.อรรณพ ที่มาฟังเป็นธรรมแบบเก่า ที่ล้าสมัย

    ท่านอาจารย์ ล้าสมัยเมื่อไร เห็นล้าสมัย ได้ยินล้าสมัยหรือไม่

    อ.อรรณพ ทันสมัยที่สุดเพราะกำลังได้ยิน แม้แต่คำว่าล้าสมัย ก็ไม่เข้าใจว่าอะไร และสมัยคืออะไร แต่ว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ทำให้สามารถเข้าใจทุกคำ ทุกกาลสมัย แม้แต่สมัยคืออะไร สมัยคือขณะ แต่ละหนึ่งขณะ สมัยขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่สมัยขณะที่เห็น เพราะฉะนั้นสมัยที่ได้ยินในครั้งโน้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สมัยนี้ได้ยินเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ครั้งไหนเก่า ครั้งไหนใหม่ ครั้งไหนล้าสมัย เพราะเป็นแต่ละหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ ต้องเป็นผู้ที่ฟัง และไตร่ตรอง และก็รู้ว่าไม่มีใครสามารถที่จะแก้การยึดถือความเห็นผิดเดิมๆ ได้ ถ้าไม่มีการฟังคำที่ถูกต้อง ซึ่งพิจารณาไตร่ตรองได้ ถ้าคิดว่าของตนเองถูกต้อง ก็คัดค้าน

    อ.อรรณพ นักศึกษาเขาคิดว่าแบบเก่าก็คือ พูดด้วยภาษาที่เป็นธรรม แล้วก็เข้าใจยาก ถ้าเป็นแบบใหม่ก็คือ ผู้พูดธรรม ก็จะพูดให้สนุกสนาน แล้วก็ให้เข้าถึงวัยรุ่นได้ ให้ถูกใจวัยรุ่นหน่อย

    ท่านอาจารย์ ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เกิดมาแล้วสนุกไปวันหนึ่งๆ รู้ความจริงอะไรหรือไม่ เพราะฉะนั้นอยากสนุกต่อไป อยากฟังคำสนุกต่อไป แต่คำเหล่านั้นไม่ใช่คำจริง ที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนั้น เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ จะสนุก ทำไมต้องฟังธรรมที่จะให้เป็นตลก ขบขันเหมือนจำอวด เป็นสิ่งที่ผิดพระวินัย เพราะเหตุว่าภิกษุเป็นผู้ที่สงบ คำว่าภิกขุหมายความถึงผู้ที่สละ ผู้ที่ละชีวิตของคฤหัสถ์ เพราะเห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ และเป็นผู้ที่สงบจากกิเลส

    เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังทำสิ่งที่คนอื่นหัวเราะ ชอบใจ เหมือนจำอวดขณะนั้น ไม่ใช่ภิกขุเพราะไม่ใช่ผู้สงบ และรู้จักภิกขุหรือเปล่า ถ้าอยากจะสนุก ตลกขบขัน ก็ไปดูจำอวด จำอวดยุคนี้สนุกจริงๆ ดูได้ และรู้ด้วยว่าขณะนั้นดูเพื่อความเพลิดเพลิน แต่จะฟังธรรมให้เหมือนฟังจำอวด ผิด เพราะเหตุว่าผู้ที่ฟังธรรมต้องเป็นผู้ที่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และรู้ว่าฟังธรรมด้วยความเคารพ จากไม่เคยรู้เลย ก็มีผู้ที่กล่าวถึงความจริง ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ด้วยความสงบ จากการที่ต้องการสนุก ถ้าต้องการสนุก ไปดูจำอวด ไม่ใช่ต้องการให้ภิกขุ หรือผู้ที่กล่าวธรรม แสดงธรรมอย่างจำอวด

    อ.อรรณพ น่าจะเชิญพระอาจารย์ที่พูดธรรมได้สนุก ตลก เพื่อจะทำให้น่าสนใจ แล้วก็ได้เข้าถึงธรรม

    ท่านอาจารย์ พระอาจารย์จำอวด ไม่ใช่พระอาจารย์ธรรม ต่างกันแล้ว ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ธรรมวินัยไม่มีจำอวดที่จะไปแสดงให้คนสนุกขบขัน แต่เป็นการกล่าวคำจริง ซึ่งยากที่ใครจะได้ฟัง เพราะเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคารพกราบไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร ที่กล่าวว่านับถือ แค่ยกมือไหว้ แต่ว่าไม่ได้ฟังคำ แล้วคิดว่าคำนั้นต้องสนุกอย่างจำอวด ถึงจะฟังอย่างนั้นหรือ นั่นก็เป็นการเข้าใจผิด ซึ่งไม่รู้เลยว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร แต่ก็ไปกราบไหว้ แล้วก็อยากฟังจำอวด อยากให้ภิกขุเป็นจำอวด ภิกขุเป็นจำอวดไม่ได้ เพราะว่าเป็นผู้สงบ ใครก็ตามที่ไม่สงบ ผู้นั้นไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย ทำผิดพระวินัยด้วย


    หมายเลข 10959
    1 เม.ย. 2567