001 สนทนาพิเศษเรื่องการบวช
สนทนาพิเศษ เรื่อง การบวช
ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ตอนที่ ๑
คุณทวีศักดิ์ สวัสดีครับ ท่านผู้ชม และท่านผู้ฟัง วันนี้มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้จัดให้มีรายการสนทนาพิเศษ ในเรื่องทางพระพุทธศาสนา ที่จะให้ความรู้ ให้ความเข้าใจ แก่ท่านผู้ชม และท่านผู้ฟัง ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง
วันนี้มีวิทยากรที่ร่วมสนทนา ได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา อ.อรรณพ หอมจันทร์ และอ.คำปั่น อักษรวิลัย โดยมีผม ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ ขอสวัสดีท่านอาจารย์ครับ อ.อรรณพ และอ.คำปั่น
ท่านผู้ชม และท่านผู้ฟังคงทราบดีว่า ในปัจจุบันในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ก็ปรากฏอย่างเด่นชัดว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยของเรา กำลังมัวหมอง คือ โดยพระพุทธศาสนาเองไม่ได้มัวหมอง แต่เกิดจากการกระทำของพุทธบริษัท ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ อุบาสกหรืออุบาสิกา ที่ขาดความรู้ความเข้าใจ อย่างถูกต้องในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุไม่ได้ยึดถือตาม สิกขาบทในพระวินัย ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็คือคันถธุระ แล้วไม่ได้อบรมตนในวิปัสสนาธุระ อบรมสติ อบรมปัญญา ซึ่งรายละเอียดต่างๆ เราคงจะได้หยิบยกนำมาพูดคุยกัน
แต่ล่าสุดเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านผู้ชม ท่านผู้ฟัง คงทราบข่าวว่า องค์กรของคณะสงฆ์นั้น คือมหาเถรสมาคม กำลังดำเนินการที่จะมีการจัดการ เกี่ยวกับเรื่องการบวชของภิกษุ ของผู้ที่จะบวชใหม่ ให้มีความถูกต้อง แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า และในเรื่องของการบวชนั้น ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับลูกหลานของชาวบ้าน ที่จะมาบวชเพียงอย่างเดียว ยังเกี่ยวข้องกับภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์ ยังเกี่ยวข้องกับเจ้าอาวาส ยังเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภายในวัดว่า ได้ยึดตามหลักพระธรรมวินัยอย่างถูกต้องแท้จริงหรือไม่นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเราจะนำมาสนทนา พูดคุยกันในวันนี้
ท่านอาจารย์สุจินต์ครับ ในเบื้องต้นนั้น เราก็คงจะเริ่มต้นกันว่า การบวชภิกษุในปัจจุบันของเรา แท้ที่จริงแล้วไม่ได้บวชด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง หรือไม่ได้บวชเพื่อที่จะศึกษาพระธรรมอย่างแท้จริง ที่สำคัญก็คือ ไม่มีอัธยาศัยในการบวช แต่บวชด้วยเหตุผลอื่นๆ ร้อยแปดพันประการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการที่จะมีภิกษุในพระธรรมวินัย อยากให้ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วย เชิญครับ
ท่านอาจารย์ เรื่องของการบวช ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครจะบอกให้บวช แต่ผู้นั้นต้องเข้าใจพระธรรมก่อน แล้วก็รู้ความต่างของเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต เพราะว่าคนที่ฟังพระธรรมเข้าใจ และไม่บวช เป็นผู้ที่ตรงว่าไม่ได้สะสมมาที่จะสามารถดำรงเพศภิกษุได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ศึกษาธรรม ฟังธรรมในเพศคฤหัสถ์
คุณทวีศักดิ์ ท่านอาจารย์ ถ้าจะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาว่า การบวชนั้นก็ใช่ว่าผู้บวชจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง จากการบวช เพราะว่าไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาพระธรรม แล้วก็ไม่ได้มีอัธยาศัยที่จะปฏิบัติ ในการครองเพศอยู่ในเพศบรรพชิต ซึ่งก็มีพระวินัยถึง ๒๒๗ ข้อ ศึกษาพระธรรมก็ไม่ได้ศึกษา ร่ำเรียนก็ไม่ได้ร่ำเรียน แน่นอนที่สุดเมื่อไม่ได้ปฏิบัติสองข้อนี้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเห็นผิด ปฏิบัติตามผิดๆ จากภิกษุที่มีอยู่แล้วในวัด ยกตัวอย่างออกบิณฑบาต รับเงินรับทอง ซึ่งก็ชัดเจนว่าผิดพระวินัย ในอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ซึ่งเรื่องนี้เราจะทำให้หมดไปได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เราคงทำไม่ได้ แต่ว่าให้คนเข้าใจธรรมถูกต้องขึ้น เช่นคนที่จะบวช เราก็ถามเขาก่อน ว่าจะบวชทำไม แล้วฟังคำตอบ ถ้าเพื่อศึกษาพระธรรม แล้วก็ขัดเกลากิเลส เพราะได้เข้าใจธรรม สามารถประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ จึงควรบวช เพราะฉะนั้นใครก็ตาม ถ้าจะบวชเราก็ถามว่าบวชทำไม ถ้าไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์นี้ ก็ไม่มีประโยชน์ กลับเป็นโทษหนัก เพราะเหตุว่าเป็นการทำลายพระศาสนา
คุณทวีศักดิ์ อยากให้อ.คำปั่นได้กล่าวถึงเรื่องของภิกษุว่า แท้ที่จริงแล้วภิกษุนั้นหมายถึงใคร และการครองตนในเพศบรรพชิตนั้น จะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร ถึงจะถูกต้องตามพระธรรมวินัย
อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ครับ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมากเลย สำหรับการที่จะมีความเข้าใจในพระธรรมคำสอน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ต้องเป็นผู้ที่ได้ศึกษาจริงๆ จึงจะมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง แม้แต่คำว่าภิกษุคำเดียว ในพระไตรปิฎก ในคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็แสดงถึงความหมายที่หลากหลายมากเลย ตั้งแต่เรื่องของความเป็นผู้ที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ เป็นผู้ที่ประพฤติคุณความดีในเพราะการขอ เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่สามารถที่จะรองรับพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทั้งหมดนี้ก็แสดงถึงโดยเพศของเพศบรรพชิต
แต่ถ้ากล่าวถึงความหมายที่ครอบคลุมถึงทุกบุคคล ก็แสดงถึงความเป็นผู้ที่มีปัญญา ที่เข้าใจความจริง และสามารถที่จะดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ สูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ นี่คือโดยความเป็นภิกษุโดยคุณธรรมจริงๆ คือสามารถที่จะดับโลภะ ดับโทสะ ดับโมหะได้ แต่ที่กำลังกล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ ก็กล่าวถึงโดยเพศ ก็คือเพศที่เป็นบรรพชิต จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจธรรม เป็นผู้ที่น้อมประพฤติตามพระวินัย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ มีความประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการ ซึ่งก็จะตรงกับที่อ.ทวีศักดิ์ได้กล่าวตั้งแต่ตอนต้นว่า มีกิจที่สำคัญอยู่ ๒ ประการ ก็คือคันถธุระ ก็คือศึกษาพระธรรมคำสอน แล้วก็วิปัสสนาธุระ คืออบรมปัญญา ที่จะรู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริง กิจของพระภิกษุมีอยู่เท่านี้จริงๆ จะไปทำกิจอื่นที่นอกเหนือจากนี้ไม่ได้
ท่านอาจารย์ คุณทวีศักดิ์อยากให้ใครบวชไหม
คุณทวีศักดิ์ ถ้าเป็นในอดีต ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็มีความรู้สึกว่า มีคนบวชมากๆ ก็ดี คล้ายๆ ว่าก็จะมีภิกษุเพิ่มมากขึ้น แต่ที่จริงก็เพิ่มในเชิงปริมาณ ไม่ได้เพิ่มในความที่ว่า จะมารักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และยิ่งเห็นสิ่งที่เรียกว่า ความเห็นผิด ทั้งจากภิกษุเองก็ดี หรืออุบาสก อุบาสิกาก็ดี ก็มีความรู้สึกว่า ถ้าไม่มีการจัดการเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้ถูกที่ถูกทาง ก็เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว
ท่านอาจารย์ สิ่งหนึ่งที่คนลืม คือลืมว่าเราไม่สามารถที่จะรู้จิตใจของคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นอยากให้ใครบวช เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะเหตุว่าถ้าเราต้องการที่จะให้พระศาสนาดำรงอยู่ ก็ต้องเข้าใจว่า พระศาสนาจะดำรงอยู่ได้ด้วยอะไร ถ้าไม่มีใครเข้าใจธรรมเลย ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือคฤหัสถ์ พระศาสดาก็ดำรงอยู่ไม่ได้ และการที่จะบวช ไม่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าต้องสละชีวิต ความเป็นอยู่ทั้งหมดของคฤหัสถ์ ทำกิจของคฤหัสถ์ไม่ได้เลย จะหุงต้มอาหาร หรือว่าจะรับเงินทองเอาไปบริจาคให้ใครที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าภิกษุต้องรู้ว่าตนเอง เหมือนกับว่าอุทิศชีวิตให้กับการศึกษา เพื่อประโยชน์ใหญ่ ในการที่จะให้คนที่ไม่ได้บวช สามารถได้รับสิ่งซึ่งผู้นั้นบวชแล้ว โดยการอุปถัมภ์ให้อาหารบิณฑบาต ที่อยู่พวกนี้ เขาจะได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะเขาบวชเองไม่ได้ แต่เขายังสามารถได้รับประโยชน์จากคนที่บวช
เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์ก็เคารพ ในการที่บุคคลนั้น สะสมมาที่จะเป็นคนดีในเพศบรรพชิต โดยการที่ว่า มีความดีต่างกับคฤหัสถ์ ที่ชีวิตทั้งหมดต้องเพื่อการศึกษาธรรม และประพฤติตามพระวินัยบัญญัติ จะทำกิจของคฤหัสถ์อีกต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์ก็ควรที่จะรู้ว่า กิจนี้เป็นกิจของพระภิกษุหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าอยากให้เขาบวช แล้วเขาก็ไม่ได้เรียน ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่ประพฤติตามธรรมวินัย ถ้าอย่างนั้นก็เป็นการทำลายพระศาสนา เพราะฉะนั้นต้องเป็นสิ่งซึ่งยาก ไม่ใช่ง่าย ตัวเองบวชไม่ได้ เพราะไม่ได้สะสมมา แล้วคนอื่นจะไปรู้หรือ ว่าเขาสะสมมาที่จะบวชหรือเปล่าๆ เพราะฉะนั้นพระศาสนาไม่ได้อยู่ที่การบวช แต่อยู่ที่การที่ให้ทุกคนได้เข้าใจพระธรรม
คุณทวีศักดิ์ อ.อรรณพ เมื่อสักครู่ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กล่าวถึง ผมก็นึกถึงเรื่องของทางโลกขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เช่น ทุกวันนี้นักเรียนที่เรียนระดับ มัธยมศึกษาตอนปลายค่อนข้างเครียด เครียดอย่างหนึ่งก็คือการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย เครียดประการที่สอง ไม่สามารถที่จะเลือกคณะวิชา ที่ตนเองอยากจะเรียน แต่พ่อแม่เป็นผู้เลือกให้ ความละเอียดลึกซึ้งคงจะแตกต่างจากการที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กล่าวถึงว่า จะไปให้ใครบวช แล้วเราจะไปรู้ใจ ไปรู้อัธยาศัย ไปรู้การสะสมอะไรอย่างไร แม้กระทั่งทางโลกนิดๆ อย่างนั้น เด็กยังมีปัญหา อ.อรรณพในฐานะที่เป็นอาจารย์ อยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อ.อรรณพ มีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้
อ.อรรณพ อาจารย์ทวีศักดิ์ก็เข้าใจเปรียบเทียบ เพราะว่าพ่อแม่ ถ้าไม่รู้อัธยาศัยของลูก ลูกก็ต้องรู้ตัวเองดีที่สุด ใช่ไหม พ่อแม่ก็อยากให้ลูกเรียนในสาขาที่ตัวเองชอบ อาจจะเช่น คุณพ่อคุณแม่เคยเป็นแพทย์ ก็อยากให้ลูกเรียนแพทย์ หรือเป็นวิศวะก็อยากให้ลูกเรียนวิศวะ ตามที่ตัวเองถนัด แต่ลูกไม่ได้สะสมมาอย่างนั้นก็มี ใช่ไหม
เพราะฉะนั้นแค่เรื่องอย่างนี้ ถ้าสมมติว่าไปให้ลูกเรียนอย่างโน้นเรียนอย่างนี้ ผมประสบปัญหานี้เยอะมากเลย ก็คือเขาก็เรียนมา บางคนเรียนเก่ง เรียนจนจบ พอจบแล้วบอกว่า เขาขอไปสอบเรียนใหม่ในสาขาที่เขาชอบ
คุณทวีศักดิ์ คือตามใจพ่อแม่เบื้องต้นไปก่อน
อ.อรรณพ คือตามใจคุณพ่อคุณแม่ สอบได้ เรียนจบ จากนี้ขอเป็นตัวเขาเอง หรือบางคนก็ไม่ถนัด เรียนไม่จบก็เป็นการเสียหาย ก็ยังเป็นเรื่องที่เราพอจะสังเกตได้ แต่ในเรื่องว่าใครจะไปให้ใครบวช ใครจะไปรู้อัธยาศัยของใคร นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะทรงทราบอัธยาศัย ซึ่งตรงนี้ผมอยากจะใช้คำ ไม่ทราบว่าจะแรงไปไหม เราไปคิดเหิมเกริมเอาเองว่า เราเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เราจะรู้ว่าคนนี้ควรจะไปบวช
อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบอัธยาศัยของท่านพระราหุลกุมาร ว่าท่านสะสมอัธยาศัยที่จะเป็นบรรพชิต และเป็นถึงพระอรหันต์ แต่ว่าคนทั่วไป ก็เลยคิดเอาตรงนี้มาเป็นเค้ามูล จะต้องจัดให้เด็กบวชเณร ไม่ได้แล้ว ไม่ได้สามารถจะรู้อัธยาศัย แม้การที่จะรู้ว่า ลูกซึ่งเลี้ยงมากับมือ ว่าเขาจะถนัดทางไหน เรายังไม่รู้เลย ก็ต้องเป็นตัวเขาเองที่เขาจะรู้ แต่ว่าในทางพระธรรมวินัย ที่หยิบเรื่องสำคัญ คือการบวช ผู้ที่จะบวชก็ไม่รู้ตัวเอง ว่าเหมาะหรือเปล่าที่อยู่ในเพศบรรพชิต แล้วผู้ที่จะให้ผู้นี้ไปบวช ก็ยิ่งไม่รู้ใหญ่เลย ว่าใครเหมาะสมที่จะไปบวชหรือไม่
แต่ว่าถ้าได้เข้าใจพระธรรม ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ คุณลูกได้ฟังพระธรรมเข้าใจ คุณพ่อคุณแม่ก็จะรู้ว่า เป็นเรื่องของการสะสมอัธยาศัย แล้วตัวลูกเอง ตัวผู้ที่จะบวชเอง ไม่ใช่แค่ตอนเป็นเด็ก โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่แล้วก็ตาม รวมไปถึงคนที่อาจจะเกษียณอายุแล้ว แล้วก็คิดว่าไหนๆ ก็ทำทางโลกมาเยอะแล้วก็ไปบวชเถอะ มีไม่น้อย อาจารย์ที่เกษียณแล้วไปบวช ผมพูดเลยไปถึงตรงโน้นด้วย ก็เพราะว่าไม่ได้เข้าใจธรรมก่อน ว่าพระวินัยคืออะไร หรือความเป็นพระภิกษุคืออย่างไร อย่างคนอุปมาเหมือนเด็กที่นักเรียน ที่จะเรียนวิศวะหรือไปเรียนแพทย์ เขารู้ไหมว่าแพทย์ และวิศวะเรียนอะไรบ้าง เขาไม่รู้ พอเข้าไป เขาก็ล้มเหลว ถูกไหม ฉันใด การที่จะไปอยู่ในเพศอันสูงยิ่ง ถ้าไม่ได้มีการเข้าใจธรรมวินัยอย่างละเอียด ก็คิดไปเองว่า ไปบวชเถอะ บวชแล้วก็ดี แต่ว่าพระธรรมวินัยสูงส่งจริงๆ เพศบรรพชิตห่างไกลจากเพศคฤหัสถ์มากๆ ห่างกันมากจริงๆ
คุณทวีศักดิ์ พูดถึงว่าการบวชของชาวพุทธเรา ส่วนใหญ่ก็มีเหตุผลมากมายเหลือเกิน เช่น บวชเพื่อให้พ่อแม่ได้บุญ ได้เกาะชายผ้าเหลือง หรือว่าบวชเพื่อบวชก่อนแต่งงาน หรือว่าบวชเพื่อต้องการให้พ้นจากเรื่องราวที่อาจจะไม่เป็นมงคล ให้พ้นจาก เช่น เบญจเพศอย่างนี้ก็ได้ หรือว่าชีวิตกำลังมีปัญหาก็เข้าบวชเลย อะไรต่างๆ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ประสบกับปัญหาชีวิตรุมเร้า จะจากการงาน จากอะไรก็แล้วแต่ ก็บวช หรือแม้กระทั่งผู้ที่จะหลบอาญาแผ่นดินก็เข้าไปบวช อะไรต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีอะไรที่สะท้อนถึงว่า เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะบวช
ท่านอาจารย์ ก็ผิดตั้งแต่คิด เพราะเหตุว่าเขาไม่เข้าใจว่า บวช มาจากภาษาบาลี ปะวะชะ หรือ ปะพะชา หมายความว่าสละ แต่เขาต้องการทั้งหมดเลยที่พูด ใช่ไหม บวชเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ ล้วนเป็นเรื่องความต้องการทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่เข้าใจธรรมเลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย บวชแล้วทำอะไร ถ้าไม่เข้าใจกันธรรม ศึกษาธรรมหรือเปล่า ถ้าไม่ศึกษาธรรม ไม่สามารถที่จะดำรงรักษาพระวินัยได้ เพราะความที่เขามีกิเลส แล้วไม่ได้อุทิศชีวิต เพื่อที่จะศึกษา และเข้าใจธรรม ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง มีสัจจะ ความจริงใจ ที่รู้ตัวเองว่า บวชเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่ออยาก นั่นอยากหมดเลย ใช่ไหม อยากจะบวชเพราะเหตุนั้น อยากเพราะเหตุนี้ แต่ว่าก่อนบวชเป็นคนดีหรือเปล่า ยังไม่ได้ไปบวชเลย แต่ก่อนบวชรู้ตัวเองไหม ว่าเป็นคนดีหรือเปล่า หรือคิดว่าดีแล้ว หรือคิดว่าไม่ดี หรืออย่างไร
คุณทวีศักดิ์ แม้กระทั่งพ่อแม่ คิดว่า เอาลูกไปบวช สึกออกมาแล้ว จะดีขึ้น
ท่านอาจารย์ ก่อนบวชเป็นคนดีหรือเปล่า เห็นไหม ถ้าดีแล้วต้องบวชไหม ถ้าเขาคิดว่าเขาจะเป็นคนดี เพราะการบวช ก่อนบวชเป็นคนดีหรือเปล่า และจะเป็นคนดีโดยไม่ต้องบวช ได้ไหม
อ.อรรณพ หลายคนอยากให้ดีขึ้นด้วยความไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ก็ดีขึ้น ก็เป็นคนดีก่อนจะบวชก็ดีขึ้นได้ ทำไมต้องบวช คำถามคือว่า ทำไมต้องบวช หวังอะไรจากบวช แล้วหวังแบบไม่เป็นความจริง เพราะเหตุว่าบวชแล้ว ต้องประพฤติปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าพระองค์ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อให้ภิกษุอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ต่างคนต่างมา กิริยามารยาท อากัปกริยา ทั้งกาย วาจาก็หลากหลาย ทั้งความรู้ ความคิด
เพราะฉะนั้นภิกษุทุกรูป ต้องเข้าใจธรรมจึงควรบวช ถ้าไม่เข้าใจธรรมจะบวชทำไม บวชแล้วไม่ศึกษาธรรม บวชทำไม นอกจากศึกษาธรรมแล้ว ยังเห็นคุณของพระวินัย ต้องเห็นคุณถึงจะรักษาพระวินัยได้ แต่ที่ประพฤติล่วงพระวินัยบัญญัติ เพราะไม่เห็นคุณ ไม่เห็นประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นก็ไม่มีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงบัญญัติพระวินัยเพื่ออะไร เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่ออยู่อย่างผาสุก แต่คนที่คิดว่าประพฤติตามไม่ได้ เพราะประพฤติตามลำบากมาก แล้วจะบวชทำไม เป็นคนดี โดยไม่บวชดีกว่าไหม
คุณทวีศักดิ์ ถ้าจะพูดในแง่ที่ว่า มองดูแล้วว่ามีปัญหา หรือว่ามองในแง่ไม่ดี ก็เหมือนกับเป็นของเล่นๆ ไม่ได้จริงจังว่ากระบวนการ วิธีการบวช วัตถุประสงค์ การครองตน การประพฤติปฏิบัติอะไรต่างๆ
ท่านอาจารย์ ไม่เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บวชโดยที่ว่าไม่รู้ว่าพระองค์ตรัสว่าอะไร แล้วบวชทำไม
คุณทวีศักดิ์ แล้วผลตามมา ก็คือเมื่อไม่เคารพ การครองตนในเพศบรรพชิต ก็ไม่ได้สร้างความศรัทธาให้กับอุบาสก อุบาสิกา
ท่านอาจารย์ ไม่เห็นคุณของพระวินัย ก็ไม่พฤติตามพระวินัย เช่น รับ และยินดีในเงิน และทอง เป็นภิกษุได้อย่างไร
คุณทวีศักดิ์ ก็จะย้อนมาทางอ.คำปั่นว่า ดังที่ได้กล่าวว่าเมื่อสักสองสัปดาห์นี้เอง ทางมหาเถรสมาคมเขาก็จะเคลื่อนไหว จะจัดการเกี่ยวกับเรื่องวิธีการ ระเบียบการบวช อะไรต่างๆ โดยสรุปแล้ว ก็คือถ้าบวชต่ำกว่า ๑๕ วัน ไม่ให้บวช แล้วก็ให้บวชหน้าไฟ กรณีงานศพได้ แค่นั้นเอง แต่จริงๆ มันมีอะไรมากกว่านั้น ที่จะต้องมองในเชิงกระบวนการ มองในเชิงองค์รวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอุปัชฌาย์ ซึ่งจะเป็นผู้ที่ดูแล แล้วก็ชี้แนะอบรมอะไรต่างๆ อยากให้อ.คำปั่นได้พูดถึงด้วย
อ.คำปั่น ในเบื้องต้นที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงการบวช โดยความหมาย เป็นผู้ที่เว้นทั่ว เป็นผู้ที่สละความเป็นคฤหัสถ์ทุกประการ เว้นจากความติดข้องต้องการ เว้นจากชีวิตของคฤหัสถ์ทุกอย่าง มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง นี่คือความหมายของการบวช ถ้าศึกษาในเหตุการณ์ ในสมัยพุทธกาล ที่มีผู้ที่เป็นกุลบุตร ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้ฟังพระธรรม มีความเข้าใจธรรมแล้ว สละทุกสิ่งทุกอย่างเลย บางท่านเป็นพระราชา บางท่านเป็นเศรษฐี บางท่านเป็นพ่อค้า สละทุกสิ่งทุกอย่างเลย อุทิศชีวิตทั้งหมด เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเองในเพศบรรพชิต ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการ สละหมดเลย ไม่มีการกำหนดว่า จะบวชกี่วัน จะบวช ๑๕ วัน หรือว่าจะบวช ๓ เดือน ๔ เดือน ไม่มีเลย ไม่มีเลย เพราะว่าสละแล้ว ไม่มีความอาลัยในความเป็นคฤหัสถ์อีกต่อไป แสดงถึงความจริงใจของผู้ที่จะบวชว่า มีอย่างนี้ จึงจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดในพระธรรมวินัย แล้วก็ในฐานะที่ได้สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติแล้ว มุ่งสู่เพศบรรพชิต มีความจริงใจที่จะศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา ขัดเกลากิเลสนี้ จึงจะเป็นประโยชน์
แต่ความประพฤติเป็นไปในยุคนี้สมัยนี้ อย่างที่อ.ทวีศักดิ์ได้กล่าวถึง ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย ไม่มี ไม่มีการบวชหน้าไฟ ไม่มีการบวช ๑๕ วัน ไม่มีเลย แต่ว่าทรงแสดงว่า บวชคืออะไร จุดมุ่งหมายของการบวชคืออะไร ทรงแสดงไว้หมดเลย บวชเพื่อศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา ขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่ง ที่จะมีความประพฤติตามชีวิตของสมณะ ตามชีวิตของพระภิกษุทุกประการ จะมามีชีวิตเหมือนอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ รับเงิน และทองไม่ได้ ประพฤติเหมือนอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้
นี่คือความจริงใจจริงๆ แล้วก็เป็นไปตามความเป็นจริงของการบวชที่แท้จริง แต่ถ้ามีการกำหนดไว้อย่างนั้น ไม่เป็นไปตามพุทธประสงค์ เหมือนกับเป็นการเอาการบวชมาเป็นของเล่น บวช ๕ วัน ๗ วัน ๑๕ วัน หรืออะไรก็ตาม แต่ว่าไม่ได้บวชเพื่อศึกษาพระธรรม ไม่ได้เห็นโทษเห็นภัยของกิเลสจริงๆ ไม่ได้สละเพศคฤหัสถ์จริงๆ ยังมีความติดข้องยินดีพอใจ ยังมีความยินดีในเงิน และทอง รับเงิน และทอง ก็ผิดพระวินัย บวชมาก็เพื่อที่จะผิดพระวินัย ทำลายพระธรรมวินัย ไม่ได้เป็นประโยชน์เลย