กล่าวคำจริง เพื่อเกื้อกูล ไม่ได้หวังร้าย *
ท่านอาจารย์ ในครั้งพุทธกาล มีข้อความที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามอุบาสก อุบาสิกา ติเตียน เพ่งโทษ โพนทะนาภิกษุหรือเปล่า
อ.อรรณพ อุบาสก อุบาสิกา ผู้เข้าใจพระธรรมวินัย เมื่อเห็นภิกษุผู้ทุศีล ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็จะเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ตามพระธรรมวินัย ก็คงต้องกล่าวซ้ำอีกเพื่อความเข้าใจ
อ.คำปั่น จริงๆ ก็เป็นกิจที่ควรทำจริงๆ สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ตามพระธรรมคำสอน แม้แต่คำ ๓ คำ ที่กล่าวถึงก็ชัดเจน ว่าต้องเป็นเรื่องของผู้ที่มีปัญญา เป็นผู้ที่เข้าใจความจริง เพ่งโทษก็คือ เป็นผู้ที่เห็นแล้วว่า สิ่งนี้เป็นโทษ ก็คือกล่าวชี้ให้เห็นว่า สิ่งนี้เป็นโทษอย่างไร ก็แสดงว่าต้องเป็นผู้ที่เข้าใจถึงความจริงว่า สิ่งนั้นเป็นโทษจริงๆ ติเตียน ก็คือ กล่าวตำหนิให้ได้สำนึกว่า บวชเข้ามาแล้ว เป็นบรรพชิตแล้ว มีความประพฤติที่ไม่เหมาะ ไม่ควรอย่างนี้ได้อย่างไร แล้วก็โพนทะนา ก็คือเป็นการกระจายข่าว ให้ได้รู้ความจริงโดยทั่วกันว่า ความประพฤติอย่างนี้ไม่เหมาะไม่ควรอย่างไร เพื่อจะได้รู้ความจริงโดยทั่วกัน นี่คือคำ ๓ คำที่ปรากฏมากมาย ทั้งในส่วนของพระวินัย และในส่วนของพระสูตรก็มี เป็นการแสดงถึงความจริง สำหรับผู้ที่เข้าใจความจริง ที่จะชี้ให้เห็นโทษตามความเป็นจริง ตำหนิด้วยจิตที่เป็นกุศล ที่จะให้ผู้นั้นสำนึกจริงๆ แล้วก็กล่าวความจริงนี้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น จะได้รู้ความจริงในทุกที่ทุกสถานด้วย
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่า เป็นประโยชน์ไหม ในการพูดความจริงที่ถูกต้อง เพื่อคนอื่นที่จะได้รับฟัง พิจารณา ไตร่ตรองว่าสมควรไหม ที่จะเข้าใจให้ถูก ไม่ใช่ตามๆ ผิดๆ กันไป เพราะว่าอุบาสก อุบาสิกา เพ่งโทษ ติเตียน ตามพระธรรมวินัย ตามข้อความในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ใครเป็นพระศาสดา ลืมได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นคำของพระองค์ต่างหากทั้งหมด ที่ไม่มีใครสามารถที่จะเอาคำของตัวเองไปลบล้าง หรือไปแก้ไขอะไรได้ เพราะเหตุว่าเป็นคำของพระองค์ เรากล่าวตามคำของพระองค์ ผิดหรือถูก ที่จะให้คนได้เข้าใจถูกต้อง ว่านี่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อ.อรรณพ จริงๆ แล้วเป็นหน้าที่อย่างยิ่งเลย ที่พุทธบริษัทกล่าวตามพระธรรมวินัย ถ้าพุทธบริษัทเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะควรในหมู่ผู้บริษัทด้วยกัน ก็มีจิตอนุเคราะห์ด้วยเมตตาจิต ที่ไม่อยากให้พลั้งพลาดไปในสิ่งที่ผิด แล้วเป็นโทษมหันต์กับทั้งตนเอง และก็เป็นการทำลายคำสอน อ.คำปั่นจะมีข้อความ หรือตัวอย่างในพระไตรปิฎกที่แสดงถึง การที่อุบาสกหรืออุบาสิกา ที่ท่านก็เกื้อกูลภิกษุ ในทางธรรม ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีความเข้าใจ
อ.คำปั่น เพราะว่า ก็แสดงถึงความจริง ว่าผู้ที่จะเกื้อกูลผู้อื่นได้ ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจธรรม มีความเข้าใจธรรมอย่างถูกต้องตรงความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของอุบาสิกาท่านหนึ่ง ที่ชื่อว่า มาติกมาตา เป็นอุบาสิกาท่านหนึ่ง ที่ท่านก็เป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่ได้รู้แจ้งธรรมด้วย ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ท่านก็สามารถที่จะรู้ว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งที่เหมาะควรแก่พระภิกษุ ท่านก็สามารถที่จะกระทำได้ เกื้อกูลกับพระภิกษุได้ จนกระทั่งภิกษุครั้ง ๖๐ รูปนี้ ที่ท่านได้ดูแล ได้อุปัฏฐากดูแลตามพระธรรมวินัย ถึงความเป็นพระอรหันต์ นี่ก็แสดงถึงว่า การอนุเคราะห์เกื้อกูลซึ่งกัน และกัน ก็เป็นไปตามพระธรรมวินัย ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริงเพราะว่าเมื่อได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ความประพฤติที่ดีงามทั้งหมด ก็จะคล้อยตามปัญญาที่เจริญขึ้นนั่นแหล่ะ ที่จะนำไปในกิจทั้งปวง ที่เป็นคุณความดีประการต่างๆ แม้แต่การอุปัฏฐากดูแลผู้ที่เป็นเพศบรรพชิตด้วย
ท่านอาจารย์ ท่านจิตตคฤหบดี เป็นใคร
อ.คำปั่น ท่านจิตตคฤหบดี ท่านก็เป็นอุบาสกท่านหนึ่ง ที่เป็นผู้ที่เป็นพระอริบุคคลขั้นพระอนาคามี แล้วก็เป็นอุบาสกผู้เลิศในการแสดงธรรมด้วย เวลาที่พระภิกษุไม่กล่าวธรรม หรือว่ามีความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ท่านก็กล่าวให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามความจริง ตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
อ.วิชัย ขออนุญาตกล่าวอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือถ้าพิจารณาในอานิยตสิกขาบท ก็คือเรื่องของพระโลฬุทายี ซึ่งท่านก็ไปสู่ตระกูล แล้วก็ไปนั่งในที่ลับกับมาตุคาม ซึ่งในสมัยนั้น ตระกูลนั้นก็เชิญนางวิสาขามิคารมารดา ไปในเรือนนั้นด้วย นางวิสาขาได้เห็นพระอุทายีอยู่กับมาตุคามสองต่อสอง ซึ่งท่านก็พิจารณาว่า เป็นการที่ไม่เหมาะสมเลย ก็ได้ไปเรียนแก่พระคุณเจ้าอุทายี ว่า การที่พระคุณเจ้าอยู่กับมาตุคามสองต่อสอง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม การที่จะชี้แจงให้คนอื่นได้เข้าใจ ได้เห็นถูก เป็นไปได้ยาก แล้วก็เรียนอย่างนี้ ซึ่งพระอุทายีก็ไม่ฟัง ภายหลังนางวิสาขาก็ได้นำเรื่องนี้ไปกล่าวแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งภิกษุทั้งหลาย ก็นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค ที่จะเป็นเหตุให้มีการแสดงบัญญัติสิกขาบทต่างๆ ขึ้นมา
อ.อรรณพ ท่านไม่นิ่งเฉย
ท่านอาจารย์ คนที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับวัด มาตุคามคืออะไร
อ.คำปั่น เป็นผู้หญิง เป็นเพศสตรี หรือจะเรียกว่าเป็นแม่บ้าน
อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นการที่พุทธบริษัทเกื้อกูลกัน แม้อุบาสก อุบาสิกาที่ท่านวิทยากร ได้ยกตัวอย่าง ก็เป็นข้อความในพระไตรปิฎกที่มีอุบาสก อุบาสิกา ผู้เข้าใจพระธรรมแล้ว ก็ไม่นิ่งเฉย ที่จะกล่าวแสดงสิ่งที่เป็นโทษว่าเป็นโทษ ให้กระจ่างแจ้ง เพื่อจะแก้ไข ทั้งที่จะเป็นไปเพื่อดำรงพระพุทธศาสนา แล้วก็เป็นการอนุเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์ ก็คือ พุทธบริษัทด้วยกัน แม้เป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็กล่าวตามพระธรรมวินัย เพื่อที่จะเกื้อกูลผู้ที่ทำผิด
ท่านอาจารย์ อีกประการหนึ่ง ลองคิดว่าหวังดีหรือเปล่า ที่กล่าวข้อความในพระไตรปิฎก ตามคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อที่จะให้คนอื่นได้ยิน ได้ฟัง ได้เข้าใจ ได้พิจารณาด้วย เป็นประโยชน์ทั้งผู้ฟัง ที่จะไตร่ตรอง และก็ผู้กล่าว ก็กล่าวด้วยความเมตตาหวังดีจริงๆ ไม่ได้กล่าวคำอื่น ซึ่งเป็นคำที่ผิดจากพระไตรปิฎก
อ.อรรณพ แต่สิ่งที่เป็นปัญหา ก็เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจ เพราะว่าเกิดมาในสังคมชาวพุทธแบบยุคนี้ ก็เคยชินกับความเป็นพระภิกษุแบบนี้ พระภิกษุแบบในยุคนี้ แล้วก็เห็นครูบาอาจารย์ ก็อ้างกันหรือว่าก็สอนมาอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เขาไม่ได้ยินตามพระธรรมวินัยจริงๆ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถึงเวลาหรือยัง ที่จะได้ฟังหรือไม่อยากฟัง หรือควรแล้วที่จะได้ฟังทั่วๆ กัน
อ.อรรณพ ก็แล้วแต่การสะสมว่า จะยึดถือสิ่งที่เคยชินมา ซึ่งไม่ได้เป็นพระธรรมคำสอน กับพระธรรมคำสอนที่สมบูรณ์พร้อมหมดเลย ทั้งพระวินัย พระธรรม ทุกอย่าง ก็ควรที่จะได้ทราบ เพราะทุกคนถ้าไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรม ก็เคยผิดกันมาทั้งนั้น ขนาดท่านพระอัครสาวก ท่านพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ท่านก็ยังเคยไปอยู่ในสำนักปริพาชก แต่พอได้ยินพระธรรมที่ถูกต้อง ท่านก็รู้ว่าอะไรถูก เมื่อรู้ว่าสิ่งใดถูก ก็ต้องคิดทิ้งสิ่งที่ผิด
ผู้ฟัง ขออนุญาตท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่ที่เราสนทนากัน คล้ายว่าอุบาสก อุบาสิกา ผู้รู้พระธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระอริยบุคคลหรือไม่ ถ้ารู้เห็นการกระทำผิด ก็สามารถที่จะเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ด้วยความเมตตา ด้วยความหวังดีจริงๆ
ผู้ฟัง ไม่จำเป็นต้องเป็นพระอริยบุคคล เพราะว่าในปัจจุบันนี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นพระอริยบุคคลอย่างไร จะมากล่าวโทษอะไรกัน ก็แปลว่าอุบาสก อุบาสิกา ผู้รู้พระธรรมวินัย ตามระดับปัญญา ก็สามารถที่จะเห็นสิ่งที่ผู้ที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ก็สามารถที่จะเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาตามพระธรรมวินัยได้
ท่านอาจารย์ และคำที่กล่าวไว้ ก็ควรจะได้พิจารณาไตร่ตรอง ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องมีการพิจารณา ไตร่ตรอง ถูกเสมอเลยหรืออะไร ถ้ามีสิ่งใดที่ขาดตกบกพร่อง ก็ควรที่จะได้ปรึกษาหารือ พร้อมเพรียงกันที่จะได้เข้าใจพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง
อ.อรรณพ คือจะมีพระธรรมวินัยเป็นศาสดา หรือเปล่า ใช่ไหม แต่ถ้ามีความคิด หรือว่าเราอาจจะคิดกันไปเอง แล้วก็อ้างคนโน้นอ้างคนนี้ ก็ไม่ใช่พุทธศาสนา ต้องเคารพตามพระธรรมวินัย เชิญอาจารย์จักรกฤษณ์
ผู้ฟัง ความเมตตา บางทีคนอื่นไม่ทราบ อย่างเช่น เราก็มีเสียงสะท้อนมาว่าการสนทนาพระธรรมวินัย แล้วก็ติเตียนภิกษุด้วยคำที่ อย่างเป็นโมฆบุรุษ เป็นภิกษุหยากเยื่อ เป็นคำที่รุนแรง แล้วก็ภิกษุ สามเณรก็ลูกหลานเราทั้งนั้น ทำไมเราถึงใช้คำอย่างนี้ เราเมตตาหรือเปล่า แล้วก็กล่าวลึกลงไปอีก อ่านตามตำราในพระธรรมวินัย อ่านแล้วมาพูด ดูสิว่า ขาดเมตตา ไม่มีวิปัสสนาธุระ คือ ไม่ไปฝึกปฏิบัติ อบรมจิต ขาดเมตตามาพูด ก็คือเอาตามตำรามาพูด ก็เห็นไปในด้านนี้
ท่านอาจารย์ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คำของใครทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะกล่าวในยุคไหน คำนั้นเป็นคำของพระองค์ เพราะฉะนั้นคำว่าภิกษุหยากเยื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสหรือเปล่า หรือเราคิดเอง แล้วตรัสเพื่อประโยชน์หรือเปล่า ถ้าคำใดไม่มีประโยชน์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสไหม มีใครบ้างที่จะมีพระมหากรุณา อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทียบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแค่ฟังก็ไม่เห็นในพระมหากรุณาแล้ว ทำไมตรัสคำเหล่านี้ เพื่อเตือน
เพราะฉะนั้นคนอื่นที่เห็นว่า คำนี้เป็นคำของพระองค์ ไม่ว่าใครจะกล่าวในยุคไหน สมัยไหน ก็ไม่ใช่คำของเรา พระองค์ตรัสไว้ว่าถ้าภิกษุไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย แล้วเป็นภิกษุประเภทไหน
อ.อรรณพ คำว่าพระบรมศาสดาที่สุดเลย ก็คือเป็นศาสดาที่ยิ่งที่สุด เพราะฉะนั้นครูอาจารย์ อะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่อาจจะเทียบได้เลยกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบรมครูจริงๆ ก็ต้องตามพระธรรมวินัย
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นคนที่เห็นคุณจริงๆ แค่ได้ยินคำว่าภิกษุหยากเยื่อ สำนึก สลด เห็นโทษ เห็นพระมหากรุณา
อ.วิชัย อ.คำปั่น ก็มีสูตรหนึ่งที่เกี่ยวว่า เด็กเมื่อเอาสิ่งของที่แปลกปลอมเข้าไปในลำคอ ก็มีผู้ที่เอาเศษกระเบื้องอะไรบ้าง การที่จะช่วยเหลือเด็กคนนั้น ต้องดึงออกมา เพื่อประสงค์ที่จะช่วยเหลือ จะมีอย่างไร
อ.คำปั่น แสดงถึงว่า เป็นการอนุเคราะห์เกื้อกูลจริงๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด โดยประการต่างๆ ทั้งหมด ก็คือเพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่ผู้นั้นที่จะได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง เปรียบเหมือนกับว่า ถ้าหากว่ามีความพลั้งเผลอไป ผู้นั้นก็คือได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนแน่นอน แต่ว่าถึงอย่างไรก็ตาม ก็ต้องอนุเคราะห์เกื้อกูลเขา แม้ว่าบุคคลคนนั้นจะได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อนก็ตาม แต่ว่าผลที่สุดแล้ว ของการอนุเคราะห์เกื้อกูลด้วยพระธรรมคำสอน ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้นั้นในที่สุด
อ.วิชัย บางครั้งการช่วยเหลือเด็ก ที่เอาวัตถุสิ่งของเศษกระเบื้องเข้าไป เด็กคนนั้นต้องมีความเจ็บปวดบ้าง แต่ว่าผู้ที่จะช่วยเหลือ มีความประสงค์หรือความหวังดี ถ้าไม่เอาออก ก็ยิ่งเดือดร้อนมากกว่านั้น แต่ว่าการที่จะกล่าวคำจริง ให้เห็นถึงความที่บุคคลไม่รู้ ให้รู้จักอกุศลว่าละเอียดอย่างไร แล้วมีโทษอย่างไรบ้าง ก็ต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นวันนี้ยังไม่เห็นประโยชน์ ยังไม่เห็นค่า ต่อไปได้ฟังซ้ำๆ อีกมากๆ ก็คงจะได้เห็นประโยชน์ เห็นค่าของทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อ.อรรณพ มีความเคารพในประธรรมวินัย ซึ่งทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต ก็ต้องมีการศึกษาพระธรรมวินัย นี่ทั่วไปเลยสำหรับพุทธบริษัท คำว่าสิกขานี้ก็ซึ้งมาก ยิ่งถ้าเป็นภิกษุซึ่งเป็นบริษัทแรก ก็ต้องสิกขาทั้งพระวินัย ก็คือบทต่างๆ ที่ต้องศึกษาก็คือสิกขา ศึกษาในพระวินัยแต่ละข้อที่จะเข้าใจ แล้วก็น้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยความเคารพยิ่ง ก็เป็นการศึกษาหรือสิกขาในพระวินัย ส่วนในธรรม การจะศึกษาหรือสิกขาส่วนที่เป็นพระธรรม เบื้องต้นคืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็ต้องรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความจริง ของสิ่งที่มีจริงโดยประการทั้งปวง โดยสิ้นเชิง แม้เดี๋ยวนี้
อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ศึกษาความจริงคืออย่างไร ที่ว่าศึกษาความจริง
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส แล้วแค่ฟัง ไม่คิด ไม่ไตร่ตรอง จำไว้ จะมีประโยชน์ไหม
อ.อรรณพ ไม่มีประโยชน์
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกคำของพระองค์ เพื่อให้ผู้ฟังไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง เงินทอง สมบัติมหาศาล ซื้อความเข้าใจให้ไม่ได้เลย แต่ว่าคำของสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟัง คิด ไตร่ตรอง พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ความจริงอยู่ไหน เห็นไหม แค่แต่ละคำถาม
อ.อรรณพ ถ้าหาไม่เจอก็คงศึกษาไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นแต่ละคำละเอียดมาก เป็นเหตุเป็นผล ที่จะให้คนนั้นเริ่มคิด เริ่มไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นปัญญา ซึ่งไม่เคยเกิดในสังสารวัฏฏ์ ก็เกิดขึ้น
อ.วิชัย ความจริงก็คือเดี๋ยวนี้
ท่านอาจารย์ แน่นอนที่สุด แค่เดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ล่ะ ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้
อ.อรรณพ เดี๋ยวนี้อย่างไร อ.วิชัย เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้อย่างไร ความจริงคือเดี๋ยวนี้
อ.วิชัย เพราะว่าก่อนฟังไม่รู้แน่ แต่ว่าถ้าพิจารณาในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นมีไหม พระองค์ก็ตรัส แต่พระองค์ตรัสโดยภาษาบาลี ใช่ไหม จักขุวิญญาณ สิ่งที่ปรากฏทางตามีไหม มี แต่พระองค์ตรัสโดยคำว่า รูปะ รูป อย่างนี้ แต่ละอย่างๆ ไม่ใช่ฟังเพียงผ่านๆ แต่ว่าฟัง พิจารณา จนเป็นความเข้าใจให้ถูกว่า เห็น เป็นเห็นหรือเปล่า รูป เป็นรูปหรือเปล่า แต่ละอย่างเป็นธรรมแต่ละอย่างหรือเปล่า เพราะพระองค์แสดงธรรม ไม่ใช่ว่าแสดงสิ่งที่ไม่มี แต่แสดงความจริงของสิ่งนั้น ว่าความจริงที่ปัญญาจะเข้าใจ สิ่งนั้นคืออะไร เพราะขณะนี้เห็น ยังเป็นเราเห็นแน่ ใช่ไหม แต่พระองค์ตรัสว่าเป็นธรรม ใช่ไหม ต่างจากความรู้เดิม ความสำคัญเดิม เพราะสำคัญว่าเป็นเรา แต่พระองค์ตรัสโดยความเป็นธรรม ให้มีความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม