001 หมู่บ้านรักษาศีล 5
หมู่บ้านรักษาศีล ๕
ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ตอนที่ ๑
คุณทวีศักดิ์ สวัสดีครับ วันนี้มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้จัดรายการ สนทนาพิเศษในหัวข้อเรื่อง หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ซึ่งเข้าใจว่า ท่านผู้ฟังคงจะรับทราบ เกี่ยวกับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ มาพอสมควรแล้ว ที่ปรากฏอยู่ในข่าวสารสาธารณชนต่างๆ โครงการนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ จนถึงปัจจุบันนี้ ก็เป็นระยะเวลาเกือบ ๔ ปีแล้ว ก็เลยเป็นที่มา ที่มูลนิธิให้นำเสนอ การสนทนาเรื่องนี้ เพื่อที่พุทธศาสนิกชนหรือชาวพุทธทั้งหลาย ก็จะได้มีความรู้ความเข้าใจกันอย่างถูกต้อง
วันนี้ผมทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล ได้รับมอบหมาย ให้เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และยังรวมถึงวิทยากรอีกสองท่านของมูลนิธิ อาจารย์อรรณพ หอมจันทร์ และอาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ ขอกราบสวัสดีท่านอาจารย์ครับ และสวัสดีอาจารย์ทั้งสองท่าน
ท่านอาจารย์ครับ เรื่องของหมู่บ้านรักษาศีล ๕ นั้น ชาวพุทธส่วนใหญ่ เราในฐานะที่เป็นฆราวาสหรือคฤหัสถ์นั้น เราก็คงจะทราบเรื่องศีล ๕ กันพอสมควร ตั้งแต่เรียนกัน มีการพูดกันโดยทั่วๆ ไป แต่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องศีล ๕ นั้น ท่านอาจารย์พอจะชี้แนะในประเด็นอะไร อย่างไรบ้างครับ
ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจศีล ๕ ว่าเป็นข้อห้าม ๕ ข้อ แล้วก็ไม่เข้าใจอะไรเกินกว่านั้นเลย แล้วก็คิดว่า ถ้าได้รักษาศีล ๕ ก็จะเป็นประโยชน์ อาจจะทำให้ชีวิตไม่ไปทำสิ่งที่ไม่ดี บ้านเมืองจะสงบราบรื่น แต่ว่าในครั้งพุทธกาลไม่มีหมู่บ้านศีล ๕ ทั้งๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ประทับอยู่ที่พระวิหาร หรือว่าที่เมืองต่างๆ ไม่มีสักแห่ง สักเมือง ที่จะมีหมู่บ้านศีล ๕
เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะพิจารณา ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ศีล ๕ มีประโยชน์อย่างไร และศีล ๕ คืออะไร ก่อนอื่นต้องรู้จักคำว่า ศีล เพราะว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่พูดสั้นๆ หรือว่าเพียงนิดหน่อย แต่จะพูดถึงความจริงถึงที่สุด แม้แต่ว่า คำใดๆ ก็ตาม ที่ได้ยินได้ฟัง ที่เราพูดกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทุกคำโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง
เพราะฉะนั้น ชาวบ้านเข้าใจว่าศีล ๕ ก็คือ ๕ ข้อห้าม แต่ความจริงศีลคืออะไร ถ้าจะเป็นพุทธศาสนิกชนก็คือว่า มีความเคารพในแต่ละคำที่ได้ฟังว่า เกิดจากพระปัญญาที่ทรงตรัสรู้ ที่ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นคิดตั้งแต่ต้นว่า คนที่รักษาศีล ๕ เป็นชาวพุทธหรือเปล่า ถ้าเข้าใจกันว่าศีล ๕ คือข้อห้าม ๕ ข้อ ที่ทุกคนก็รู้ว่า เริ่มจากการห้ามฆ่าสัตว์เป็นต้น เพราะฉะนั้นคำถามที่น่าคิดก็คือว่า คนที่รักษาศีล ๕ เป็นชาวพุทธหรือเปล่า
คุณทวีศักดิ์ นับถือศาสนาอื่นหรือเป็นชนชาติอื่น เขาก็ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ก็ได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นศีล ๕ ทั่วๆ ไป ไม่ใช่คำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น โดยการที่ทรงแสดงว่า ศีลคืออะไร ศีลคือปกติ ชีวิตคนเราเกิดมาแล้ว ก็มีปกติ เห็น ได้ยิน คิดนึก ทำกิริยาอาการ เคลื่อนไหวต่างๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ขณะนั้นเป็นศีลหรือเปล่า เพราะ ศีลคือปกติของสภาพรู้คือ จิต และเจตสิก แค่นี้
เราก็ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ศีลหรือเปล่า และศีลอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนที่จะเข้าใจคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพียงอย่างคนอื่น ที่เขาเข้าใจว่าห้าม ๕ ข้อ ไม่ต้องเป็นชาวพุทธ ใครไม่ทำก็ได้ ใช่ไหม แต่นี่ถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว ต้องเข้าใจคำทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ศีลคือปกติ เดี๋ยวนี้มีศีล ๕ ที่เราสนทนากัน เป็นศีล ๕ หรือมีศีล ๕ หรือเปล่า ก่อนที่จะไปถึงหมู่บ้านศีล ๕
คุณทวีศักดิ์ ขณะนี้เราก็ไม่ได้ฆ่าสัตว์ ก็คือเป็นปกติ
ท่านอาจารย์ แต่ว่าเป็นศีล ๕ หรือเปล่า
อ.วิชัย จริงๆ แล้ว ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าศีลก่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ตามความเป็นจริงว่า ศีลก็คือปกติของแต่ละบุคคล ที่มีความประพฤติเป็นไปอย่างไร ซึ่งถ้ากล่าวถึง ถึงที่สุดก็คือ นามธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้คือจิต และเจตสิก ให้เห็นถึงพระปัญญา (นาทีที่ ๕.๓๑ ธิ) คุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ไม่ได้กล่าวทั่วๆ ไป เหมือนอย่างคนที่เคยเข้าใจกัน ว่าศีลก็คือ บุคคลนั้นไม่ฆ่าสัตว์ ก็กล่าวว่าเป็นศีล แต่พระองค์แสดงธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมที่เป็นศีล ก็คือเป็นปกติของแต่ละบุคคล แต่ปกติของบุคคล แต่ละบุคคลนั้น มีความประพฤติเป็นไปอย่างไร ถ้าแต่ละบุคคล มีความประพฤติเป็นไป ที่มีการกระทำทุจริต กระทำอกุศลกรรม นั่นก็เป็นศีลของบุคคลนั้น แต่เป็นอกุศลศีล แต่ถ้าบุคคลใดก็ตาม ประพฤติสุจริต กระทำแต่คุณความดีงาม นั่นก็เป็นปกติของบุคคลนั้น ก็กล่าวแสดงสิ่งนั้นว่าเป็นกุศลศีล เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะใดที่กล่าวว่าเป็นศีล
คุณทวีศักดิ์ ถ้าอย่างนั้นหมายถึงว่า ศีล เป็นทั้งกุศล และอกุศล อย่างนั้นใช่ไหมครับ อ.อรรณพ
อ.อรรณพ ผมว่าถ้าคนไม่รู้จักจิต ก็ไม่รู้จักศีล เพราะว่าศีล ที่เป็นความเป็นปกติ คือความเป็นปกติของจิต ถ้าไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง ว่าธรรมคืออะไร ธรรมคืออะไร จิตคืออะไร เพราะว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง จิตซึ่งเป็นสภาพรู้ คือสิ่งที่มีจริง ความเป็นไปของจิตนั้น เป็นอย่างไร
ถ้าจิตนั้นเป็นอกุศล คือประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นก็เป็นความเป็นไป เป็นปกติของอกุศลจิต นั่นก็คือเป็นอกุศลศีล ใช่ไหม เช่นมีการพูดจาที่ไม่เหมาะควร มีการกระทำทางกาย วาจาอะไรต่างๆ ด้วยอกุศลจิต อกุศลจิตคือสภาพจิต ตัวจิต มีความเป็นธรรมชาติ ปกติ ธรรมดาที่เป็นอกุศล นั่นก็เป็นอกุศลศีล ที่พระองค์ทรงแสดงเป็นตัวธรรม สภาพธรรมเลย ไม่ใช่อย่างที่คนไม่รู้อะไร ธรรมก็ไม่รู้จัก จิตก็ไม่รู้จัก แต่ว่าจะมาทำศีลกัน ข้อเดียวก็ทำไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึง ๕ ข้อ
คุณทวีศักดิ์ ดูปัญหาอย่างนี้แล้ว แสดงว่าภาษาไทยเรา เราจะมีความสับสนในเรื่องการใช้ภาษาต่างๆ ของทางพระพุทธศาสนาก็เป็นภาษาบาลี แล้วเราก็มาแปลเป็นภาษาไทย แล้วก็ใช้แบบไม่ตรงกับภาษาบาลี เช่น ผม ปกติถ้าพูดถึงศีล ก็เข้าใจว่า ต้องงดเว้นสิ่งนั้นสิ่งนี้อะไรต่างๆ เป็นคฤหัสถ์ก็ศีล ๕ ถ้าเป็นสามเณรก็ศีล ๑๐ ถ้าเป็นภิกษุก็ศีล ๒๒๗ ลักษณะอย่างนี้ ใคร่ขอให้ท่านอาจารย์ ได้ให้ความเข้าใจเพิ่มเติมขึ้น
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจจิต ก็ไม่เข้าใจศีล อย่างที่คุณอรรณพกล่าว เพราะว่ามีชาวพุทธกี่คน ที่จะรู้ว่า จิตเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดดับ แค่นี้ เดี๋ยวนี้ อย่างเห็น เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ เพราะรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ ซึ่งขณะอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย นอกจากขณะเห็นเท่านั้น ที่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ว่าจะนึกคิดถึงสิ่งที่เคยเห็นแล้ว ก็ไม่เหมือน ใช่ไหม
เพราะฉะนั้นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เป็นคำที่ไม่มีใครสามารถที่จะคิดเองได้ ต้องศึกษาด้วยความเคารพทุกคำ ต้องเข้าใจความต่างของธรรม เช่น โต๊ะ ไม่มีจิต มีศีลหรือไม่
คุณทวีศักดิ์ ไม่มีศีล
ท่านอาจารย์ ไม่มีจิต มีศีลไม่ได้ เพราะว่าศีลเป็นปกติของจิต แมว มีศีลหรือไม่
คุณทวีศักดิ์ แมวก็มีจิต
ท่านอาจารย์ ไม่ได้พูดถึงคน พูดถึงธรรม ถ้าพูดถึงธรรมก็คือ สิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ไม่ใช่เอามารวมกันเป็นคนหนึ่ง เป็นเชื้อชาติต่างๆ เป็นการกระทำต่างๆ ของแต่ละคน แต่พูดถึงสิ่งที่มีจริง ละเอียดอย่างยิ่งแต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้นตามที่เราได้เข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ศีลต้องเป็นความประพฤติเป็นไปของจิต เพราะเมื่อจิตเกิดแล้ว ไม่ได้อยู่เฉย ใช่ไหม ต้องเป็นไป อย่างจิตเกิดขึ้นเห็น ต้องเห็น จิตเกิดขึ้นได้ยิน ไม่ได้ยิน ได้ไหม
คุณทวีศักดิ์ ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอาการเป็นไปของจิตแต่ละอย่าง ก็เป็นปกติ เพราะฉะนั้นอย่างเราตื่นมา รับประทานอาหาร เรามีจิตเป็นปกติ ใช่ไหม
คุณทวีศักดิ์ ใช่
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นศีลหรือเปล่า ถ้าจิตเป็นอกุศล ก็คือขณะนั้น ก็กล่าวได้เลย อกุศลศีล คำนี้มีในพระไตรปิฎก เพื่อที่จะแสดงความชัดเจนว่า คำสอนของพระองค์ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ไม่ใช่เผินๆ เพียงแค่ได้ยินคำว่าศีล ๕ ก็คิดว่าเป็นชาวพุทธ จะต้องรักษาศีล ๕ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครสามารถที่จะรักษาศีล ๕ ได้สมบูรณ์ นอกจากพระโสดาบัน ผู้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่า ศีล ๕ เป็นความประพฤติเป็นไปของจิตแต่ละหนึ่งขณะ ถ้าขณะใดเป็นกุศล ขณะนั้นจึงเป็นกุศลศีล ถ้าขณะใดจิตประกอบด้วยสภาพธรรมที่ไม่ดี ซึ่งเป็นเจตสิกที่ไม่ดี ขณะนั้นก็เป็น อกุศลศีล กล่าวได้เลยว่า อกุศลจิตก็คืออกุศลศีล กุศลจิตก็คือกุศลศีล
เพราะฉะนั้นเวลาที่เรารับประทานอาหาร มีศีลหรือไม่ ทุกคำที่ได้ฟัง ลืมไม่ได้ ความประพฤติ อาการเป็นไปของจิต เพราะฉะนั้นจิตเกิดที่ไหน เมื่อไร จึงจะเป็นศีล คือความประพฤติเป็นไปอย่างนี้
คุณทวีศักดิ์ ถ้าพูดถึงศีล เดิมทีเราก็เข้าใจอย่างที่พูดกันในตอนแรก แต่พอฟังท่านอาจารย์ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจแล้ว เท่ากับเราต้องไปเริ่มต้นตั้งแต่ปรมัตถธรรม
ท่านอาจารย์ การศึกษาทั้งหมด ไม่ใช่จากปลายมาหาต้น เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นใครจะไปหยิบธรรมตอนกลาง ตอนปลาย โดยไม่รู้ตอนต้น ไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ แม้แต่คำว่าศีล ถ้าเรารู้แล้ว จะมีทั้งกุศลศีล อกุศลศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ วิรตีเป็นศีล วิรัติศีล จารีตศีล มากมาย คืออาการเป็นไปของจิตทั้งหมด ที่ทรงแสดงไว้ เพราะได้ทรงตรัสรู้ ใครจะรู้บ้าง ได้ยินคำไหน ได้ยินแค่คำว่าศีล ๕ เผินมากเลย คือไม่รู้ว่าตามความเป็นจริงก็คือ กล่าวถึงจิตของแต่ละคน ในขณะหนึ่งๆ
คุณทวีศักดิ์ ขออนุญาต ขอความรู้เพิ่มเติมต่อว่า ถ้าพูดถึงธรรม ก็จะมีกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม ศีลจะอยู่ในส่วนของอัพยากตด้วยหรือไม่
อ.วิชัย ก็เป็นเรื่องละเอียด ดังนั้นการที่จะเข้าใจธรรม ก็ต้องตั้งแต่เบื้องต้นที่จะรู้ว่า ธรรมคืออะไร ดังนั้นความเป็นจริงของสิ่งที่มีทั้งหมด ที่เป็นไปหรือว่ามีจริงๆ พระองค์ก็แสดง โดยนัยที่หลากหลาย แม้ที่กล่าวถึงเมื่อสักครู่ กล่าวถึงกุศลธรรมบ้าง อกุศลธรรมบ้าง หรืออัพยากตธรรมบ้าง แต่ต้องเริ่มต้นว่า คืออะไรก่อน
ดังนั้นถ้าเข้าใจว่าจะมีส่วนทั้งที่เป็นนามธรรม ใช่ไหม ที่เรากล่าวถึงเรื่องของศีล ก็เป็นเรื่องของนามธรรม คือจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้นเป็นไป ให้มีความประพฤติของแต่ละคน ที่เป็นไปที่ต่างๆ กัน แต่เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้น พระองค์ก็แสดงตามความเป็นจริงว่า สิ่งนั้นเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แต่เป็นอกุศล จึงแสดงว่าเป็นอกุสลา ธัมมา หรือธรรมที่เป็นอกุศล แต่ขณะใดก็ตาม ที่จิตที่ดีงาม เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้น แสดงตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นว่า เป็นกุศล ก็ แสดงว่าเป็น กุสลา ธัมมา ส่วนธรรมใดก็ตาม ที่เกิดขึ้นเป็นไป ที่ไม่ใช่ทั้งอกุศล ที่ไม่ใช่ทั้งกุศล พระองค์ก็แสดงว่าเป็นอัพยากตา ธัมมา
ดังนั้น ถ้าศึกษาละเอียดลงไปอีก ก็จะรู้ว่าจิตที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี เป็นผลของกุศลหรืออกุศลก็มี พระองค์ทรงแสดงว่าเป็นวิบาก แล้วก็เป็นกิริยา ก็เป็นอีกชาติหนึ่ง ทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ละเอียด แต่ต้องเริ่มต้นว่า คืออะไรก่อน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า อัพยากต ได้ยินกันบ่อย งานศพได้ยินแน่ๆ เลย กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา แต่ไม่มีใครคิดว่า แล้วอัพยากตา ธัมมา คืออะไร เพราะเหตุว่ากุศลรู้จักนิดๆ หน่อยๆ สภาพธรรมที่ดีงาม อกุศลก็สภาพธรรมที่ไม่ดีงาม แต่ไม่มีใครคุ้นหู กับคำว่าอัพยากตา ธัมมา เพราะเหตุว่าแม้เราได้ยิน แต่ถ้าไม่สนใจ ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรม
เพราะฉะนั้นคำถามของคุณทวีศักดิ์ ที่ว่าอัพยากตศีล มีหรือไม่ มี เพราะเหตุว่าต้องเข้าใจ อัพยากต ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่คนเราปกติ ความประพฤติเป็นไปในทางกาย ทางวาจา เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ใช่ไหมส่วนที่เป็นอัพยากตธรรม รวมทั้งสิ่งที่ไม่ใช่กุศล อกุศลทั้งหมด แต่เวลาที่กล่าวถึง อัพยากตศีล หมายความถึง ศีลนั้นไม่ใช่กุศลศีล เพราะฉะนั้นศีลนั้นเป็นของใคร เห็นไหม
เฉพาะของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีอกุศลเลย และไม่มีทั้งกุศลด้วย เพราะเหตุว่ากุศล และกุศล เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลต่อไป แต่เมื่อไม่มีปัจจัยคือดับเหตุ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศลอีกต่อไป พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อถึงวาระที่ท่านจะจากโลกนี้ไป ใช้คำว่าปรินิพพาน จิตขณะสุดท้าย เกิดแล้วดับจบ หมายความว่าไม่มีการเกิดอีกเลย เพราะฉะนั้นอัพยากตศีล ต้องสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้น
คุณทวีศักดิ์ ถ้าเช่นนั้นแล้ว อ.อรรณพ เราศึกษาพระอภิธรรมกัน ก็ศึกษาเรื่องปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่นิพพาน เรางด ไม่พูดถึง กรณีจิตก็มีชาติของจิต ใช่ไหม ที่ว่าเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิตจะมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรากำลังพูดถึงกันหรือไม่
อ.อรรณพ ศีล ใช่ไหม
คุณทวีศักดิ์ กุศลศีล อกุศลศีล อัพยากตศีล
อ.อรรณพ จิต เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดในสี่อย่าง เกิดแล้วเป็นกุศลก็มี เกิดแล้วเป็นอกุศลที่เรียกว่าชาติอกุศล หรือเป็นผลของกุศล และอกุศล ก็คือวิบาก เช่น เห็น ได้ยิน เป็นวิบาก หรือว่าจิตนั้นเกิดขึ้นเพียงกระทำกิจ ที่ไม่ได้เป็นกุศล อกุศล หรือว่าเป็นผล จิตก็มี ๔ ชาติ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา
ถ้าเราจะพูดถึงศีล ที่เป็นอกุศลศีลบ้าง กุศลศีลบ้าง หรือไม่ใช่ทั้งกุศล และอกุศล เป็นอัพยากตศีล มุ่งถึงว่า โดยทั่วไปผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จิตก็เป็นอกุศลบ้าง เป็นกุศลบ้าง อย่างปุถุชน ก็มีอกุศลจิตเยอะกว่า ถ้าเราพูดถึงหลักๆ จิตที่สำคัญ ถ้าเราไม่พูดถึงจิตเห็น จิตได้ยิน หรือตอนหลับ ตอนอะไร เราเอาส่วนสำคัญของชีวิตคือ ตอนดีหรือตอนชั่ว
ถ้าตอนที่จิตนั้นของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์เป็นจิตที่ดี จิตเป็นกุศลจิต จิตขณะนั้นมีความเป็นไปที่เป็นกุศล ก็คือเป็นกุศลจิต สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าจิตนั้น ประกอบไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศล ธรรมชาติความเป็นไปของจิต และเจตสิกขณะนั้น ก็เป็นอกุศลธรรม ก็เป็นอกุศลศีล แต่จากผู้ที่เคยมีแต่อกุศลศีลมาก คือมีอกุศลจิตมากๆ ได้อบรมปัญญาขึ้น ก็มีส่วนที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้น พระโสดาบันก็มีส่วนที่เป็นกุศลจิตเพิ่มขึ้นมากกว่าปุถุชน พระสกทาคามีก็เพิ่มขึ้น จนพระอนาคามีก็จะมีกุศลมาก มากขึ้น แต่ก็ยังมีส่วนที่เป็นอกุศล
คุณทวีศักดิ์ เมื่อสักครู่พูดถึงอัพยากต
อ.อรรณพ กำลังจะเรียน
คุณทวีศักดิ์ เป็นจิตของพระอรหันต์
อ.อรรณพ จากจิตที่เป็นอกุศล และกุศล สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน แล้วก็พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็มีปัจจัยที่จะเป็นกุศลเพิ่มขึ้น คือตราบใดที่ยังมีกุศล แสดงว่าตราบนั้นยังไม่ได้ถูกดับอกุศลทั้งหมด แต่ถ้าพระอรหันต์ดับอกุศลแล้ว
คุณทวีศักดิ์ ประเด็นคือ เป็นกิริยาจิตอย่างนั้น ใช่ไหม
อ.อรรณพ ใช่ เพราะฉะนั้นจิต แทนที่จะเป็นกุศล อกุศล อย่างผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ตั้งแต่พระอนาคามีลงมา จนถึงพวกเรา ใช่ไหม จิตนั้นมีปกติไม่หวั่นไหวอีกแล้ว ที่จะต้องมาเป็นอกุศลที่หวั่นไหว หรือเป็นกุศลที่เพื่อดับอกุศลอีก เหมือนกับปราบโจรได้หมด ก็ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่
เพราะฉะนั้นจิต แทนที่จะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็เป็นอัพยากตจิต คือเป็นมหากิริยาจิตของพระอรหันต์ คำว่ามหากิริยาจิต ที่จะพอเข้าใจได้ก็คือ จิตที่มาแทนอกุศล และกุศล ของผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เพราะโดยทั่วไปจิต ถ้าไม่เป็นอกุศล ก็เป็นกุศล ส่วนสำคัญของชีวิต แต่พอเป็นพระอรหันต์ ไม่มีอกุศลอีกแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องมีกุศล ที่จะดับอกุศล
คุณทวีศักดิ์ วิบากจิต จะเป็นส่วนไหนของ
อ.อรรณพ วิบากจิต จะเป็นอัพยากตธรรม แต่ถ้าเราพูดมุ่งถึงอัพยากตศีล จะมุ่งมหากิริยาจิตของพระอรหันต์ที่มาแทนกุศลหรืออกุศล ของผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ นี่คือความละเอียด ถ้าเราพูดกันกุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา กล่าวถึงธรรมทั้งหมด เพราะธรรมที่เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี หรือไม่ใช่ทั้งกุศล อกุศล ทั้งวิบาก ทั้งกิริยา ทั้งรูป ทั้งอะไร เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็เป็นอัพยากตธรรม
แต่ถ้าพูดถึง ศีล เราพูดถึงจิตอย่างเดียว แล้วเป็นจิตที่เป็นส่วนสำคัญของชีวิต ว่าชีวิตคนที่ไม่ได้ฟังธรรมก็มีแต่อกุศล ถ้าอบรมเจริญปัญญาขึ้น ก็มีกุศลเพิ่มขึ้นๆ ๆ จนเป็นพระอนาคามี ก็มีกุศลเยอะ แต่ก็ยังมีส่วนที่เป็นอกุศลอยู่ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ ดับอกุศลหมด ก็ไม่ต้องมีกุศลอีกแล้ว ที่จะไปดับอกุศล จึงเป็นอัพยากตศีล
คุณทวีศักดิ์ ท่านอาจารย์เมื่อสักครู่ ก็ได้พูดถึงเรื่อง เราจะคุ้นเคย ก็หมายถึงว่าชาวพุทธโดยทั่วไป เวลาไปงานสวดพระอภิธรรม ก็คืองานศพทั้งหลายก็จะได้ยินพระเทศน์ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา ทำอย่างไรบ้าง ชาวพุทธถึงจะได้มีโอกาส ได้เรียนรู้ หรือได้มีความเข้าใจกับ ๓ คำนี้ จะโดยวิธีการใด วิธีการหนึ่ง จะได้รับประโยชน์กลับบ้าน ไม่ใช่ว่าไปงานศพแล้วก็ไม่รู้เรื่องอะไร ไม่ได้ข้อคิด ไม่ได้เกิดสติ ไม่ได้เกิดอะไรสักอย่าง อาจารย์จะมีข้อชี้แนะ แนะนำอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เพราะเหตุว่า ทั่วๆ ไปก็มีแต่ชื่อ พระรัตนตรัย พุทธัง สรณัง คัจฉามิ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง แต่ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจคำที่พระองค์ได้ตรัส จะมีพระองค์เป็นที่พึ่งได้อย่างไร เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมเมื่อไร เห็นคุณค่าของการที่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมเพราะแต่ละคำ ทำให้สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่มีใครที่สามารถจะบอกให้เข้าใจอย่างนั้นได้ แม้แต่ แต่ละคำๆ เช่น คำว่า ศีล คำเดียว ถ้าไม่ศึกษาก็จนปัญญาที่จะตอบ ใช่ไหม เช่น ถามว่ากำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นศีลหรือเปล่า