จิตที่มีกำลังอ่อน
ผู้ถาม อ่านเจอในพระอภิธรรมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๕ มีข้อความบางตอนที่ไม่เข้าใจก็คือตรงที่ว่ากรรมที่สหรคตด้วยอุทธัจจะไม่มีการให้ปฏิสนธิเป็นสภาพ หมายความว่าอย่างไร
อ.วิชัย ถ้าศึกษาเรื่องของจิตที่เป็นอกุศลจิต แล้วก็ที่แสดงไว้ก็จะมีถ้าเป็นโลภะก็มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ถ้าเป็นโทสะก็เป็นปฏิฆสัมปยุตต์ ถ้าเป็นโมหะก็จะเป็นสองอย่างก็คือเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์อย่างหนึ่ง แล้วก็อุทธัจจสัมปยุตต์อย่างหนึ่ง ถ้ากล่าวถึงอกุศลกรรมที่เกิดหมายถึงเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ จะมีเพียงเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๑ เท่านั้น เว้นโมหอุทธัจจะที่จะให้ทั้งปฏิสนธิแล้วก็ปวัตติกาล เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่มีกำลัง แต่ถ้าเป็นโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์เป็นจิตที่มีกำลังอ่อนไม่สามารถที่จะให้นำปฏิสนธิได้ แต่สามารถให้ผลในปวัตติกาลได้เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ฉะนั้นอุทธัจจสัมปยุตต์ในที่นี้ก็หมายถึงโมหอุทธัจจสัมปยุตต์
สุ. การศึกษาธรรมต้องละเอียดเพราะเหตุว่าบางครั้งพระไตรปิฎกพยัญชนะว่าอย่างนี้ แต่ผู้แปลอาจจะพลั้งเผลอก็ได้ อย่างเมื่อเช้านี้ก็มีเรื่องของมโนกรรมกับมโนทวาร ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกใช้คำว่าเจตนาที่เกิดทางปัญจทวารเป็นมโนกรรม ถูกต้องใช่ไหม เจตนาที่เกิดกับทางปัญจทวารเป็นมโนกรรม แต่ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเพราะไม่ได้กระทำกายกรรมหรือวจีกรรมใดๆ ทั้งสิ้น และสภาพของเจตนาต้องเป็นกรรม เจตสิกอื่นจะเป็นกรรมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเจตนาที่เกิดในปัญจทวาร ชวนะที่ทางปัญจทวารจะเป็นกรรมอะไร เมื่อไม่ใช่กายกรรม วจีกรรม ก็ต้องเป็นมโนกรรม เพราะฉะนั้นเราไม่เพียงแต่จำชื่อว่าอุทธัจจะเกิดกับจิตประเภทไหน ทุกประเภท แต่ทำไมกล่าวว่าจิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะไม่เป็นเหตุให้เกิดปฏิสนธิจิต นี่ก็คือถ้ามีความเข้าใจในเรื่องของอกุศลจิต ๑๒ ประเภท ก็จะรู้ว่าอกุศลใดที่ไม่มีโลภะกับโทสะเกิดร่วมด้วย มีแต่โมหะเกิดร่วมด้วย ต้องเป็นสภาพของจิตที่มีกำลังอ่อนกว่าอกุศลที่มีโลภะเกิดร่วมด้วยหรือมีโทสะเกิดร่วมด้วยเพราะเหตุว่าจิตนั้นประกอบถึง ๒ เหตุ จิตทุกประเภทที่เป็นอกุศลต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย และจิตบางประเภทนอกจากมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ยังมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็น ๒ เหตุ เพราะว่าเหตุมี ๖ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ ฝ่ายอกุศล และก็อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาหรืออโมหเจตสิกเป็นฝ่ายโสภณนี่ก็ต้องแยกกัน สำหรับอกุศลจิตก็จะต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ ไม่ขาด ๔ เจตสิกเลย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจ ก็สามารถที่จะรู้แยกได้ด้วยความเข้าใจของตนเองว่าที่กล่าวอย่างนี้มุ่งหมายอย่างไร ไม่ได้มุ่งหมายถึงอุทธัจจเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท แต่หมายเฉพาะโมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์โดยที่ว่าไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริง จิตประเภทนี้มีกำลังอ่อน แล้วถ้าไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย ไม่มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย จะรู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าขณะใดมีความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขณะนั้นไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง ขณะนั้นรู้ว่าเป็นอกุศล ขณะใดที่มีโลภะเกิดร่วมด้วยก็รู้ ขณะใดที่มีโทสะเกิดร่วมด้วยก็รู้ แต่ขณะใดที่จิตเป็นอกุศลโดยไม่มีโลภเจตสิก โทสเจตสิก หรือวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะนี้รู้ได้ไหมว่ามีแล้ว รู้ไม่ได้ จะเป็นกรรมอะไรหรือเปล่าที่จะทำให้ถึงกับเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้การศึกษาต้องพิจารณาถึงเหตุผลด้วย แต่ว่าในขณะที่ทำกรรมใดๆ ก็ตาม ก็จะมีจิตนี้เกิดสลับได้โดยความที่เป็นสภาพที่เป็นอกุศลที่ไม่รู้สึกตัวในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้จิตนี้จึงสามารถที่จะให้ผลหลังปฏิสนธิ แต่ว่าจะไม่ให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคง แล้วก็พบพยัญชนะใดในพระไตรปิฎก ความเข้าใจที่มั่นคงก็จะไม่ทำให้ไขว้เขวเพราะรู้ความต่างว่าขณะนั้นไม่ได้มุ่งหมายถึงอุทธัจจะที่เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท แต่หมายเฉพาะจิตที่เป็นโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ ไม่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย และก็ไม่ใช่จิตที่เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิตที่มีกำลังที่จะทำให้อกุศลกรรมสำเร็จลงไปได้ ที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้
ที่มา ...