สิงคาลกสูตร


    ข้อความในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สิงคาลกสูตร มีข้อความว่า

    ๘. สิงคาลกสูตร (๑๓)

    เรื่องบุตรคฤหบดีชื่อสิงคาลกะ

    [๑๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น สิงคาลกคฤหบดีบุตรลุกขึ้นแต่เช้าออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้ายทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน ฯ

    เป็นกุศลหรือเปล่าคะ การนอบน้อม การไหว้ เป็นการไหว้ในสิ่งที่ถูก เป็นการนอบน้อมเพราะจิตในขณะนั้นเบา ผ่องใส ปราศจากกิเลส เป็นการนอบน้อมต่อบุคคลที่ควรนอบน้อม ในขณะนั้นเป็นกุศล แต่การไหว้ของแต่ละคนในชีวิตประจำวันพิจารณาได้ว่า ต้องการอะไรหรือเปล่า การนอบน้อมหรือกราบไหว้บูชาแต่ละครั้งต้องการอะไรหรือเปล่า หรือว่าไหว้ครั้งหนึ่ง ขอมาก ขอจริงๆ อธิษฐานขอให้ไม่มีโรค ถ้าท่านทำกุศล ผลของกุศลจะทำให้ท่านมีโรคได้ไหมคะ กุศลย่อมให้ผลให้ท่านเป็นสุข ใครจะเปลี่ยนแปลงผลของกุศลให้เป็นการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ให้ได้นินทา ให้ได้ทุกข์ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ผลของกุศลย่อมนำมาซึ่งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความปราศจากโรคก็เป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้น ต้องขอไหมคะ หรือกลัวว่าทำกุศลแล้วจะไม่ให้ผลอย่างนั้นๆ แต่ถ้าท่านทำอกุศลกรรมมาแล้ว เปลี่ยนว่าอย่าให้เป็นทุกข์เลย ขออย่าให้มีโรคเลย ขออย่าให้เสื่อมลาภเลย เสื่อมยศเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหม ถ้าเป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้น ไม่ต้องหวังผลซึ่งต้องเกิดจากเหตุ จะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จากการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทาได้ ก็ต้องกระทำกุศล หรือละคลายอกุศลให้เบาบาง แต่ถ้าท่านทำกุศลแล้ว ต้องได้รับผลของกุศลแน่นอน แต่ส่วนโทษทุกข์ภัยต่างๆ ซึ่งท่านได้รับอยู่แม้แต่ความมีโรค ก็ต้องเป็นผลของอกุศลที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น ก็อย่ากระทำอีก เมื่อไม่ต้องการผลที่ไม่ดี ก็อย่ากระทำอกุศลกรรม เมื่อการผลที่ดี ก็จงทำกุศลกรรม เพราะเหตุว่าผลต้องเป็นไปตามเหตุ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการไหว้ การนอบน้อมที่เป็นกุศลก็มี หรือว่าเพราะความปรารถนาก็มี

    ข้อความต่อไปมีว่า

    [๑๗๓] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้วทรงถือบาตร และจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกคฤหบดีบุตร ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียกประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ แล้วได้ตรัสถามว่า

    ดูกรคฤหบดีบุตร ท่านลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียกประคองอัญชลีนอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ เพราะเหตุอะไรหนอ ฯ

    สิงคาลกคฤหบดีบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บิดาของข้าพระองค์เมื่อใกล้จะตายได้สั่งไว้อย่างนี้ว่า นี่แน่ลูก เจ้าพึงนอบน้อมทิศทั้งหลาย ข้าพระองค์สักการะ เคารพ นับถือ บูชาคำของบิดา จึงลุกขึ้นแต่เช้าออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ ฯ

    ภ. ดูกรคฤหบดีบุตร ในวินัยของพระอริยเจ้า เขาไม่นอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างนี้ ฯ

    สิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างไร ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ตามที่ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันนั้นเถิด พระเจ้าข้า

    การไหว้ของพระอริยสาวกกับการไหว้ของผู้ที่ไม่ใช่พระอริยสาวกก็ต่างกัน

    ข้อความในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา สิงคาลกสูตร มีข้อความว่า

    บิดาของสิงคาลกมาณพเป็นคฤหบดีมหาศาล มีทรัพย์ที่ฝังไว้ถึง ๔๐ โกฏิ และเป็นอุบาสกโสดาบัน แม้ภรรยาของท่านมารดาของสิงคาลกมาณพก็เป็นพระโสดาบัน

    นี่ชีวิตจริง ใครจะรู้ว่าใครเป็นพระโสดาบันหรือไม่เป็น สิงคาลกมาณพไม่รู้เลยว่า มารดาบิดาของท่านเป็นพระโสดาบัน แล้วก็ชีวิตตามความเป็นจริง ก็ความปรารถนาดีที่มารดาบิดามีต่อบุตร เพราะเหตุว่ามารดาบิดาเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็มีความปรารถนาที่จะให้บุตรได้เข้าถึงพระรัตนตรัย บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันด้วย แต่ว่าสำหรับบุตร คือ สิงคาลกมาณพนั้นเป็นคนที่ไม่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเลย ถึงแม้ว่ามารดาบิดาของท่านจะได้กล่าวสั่งสอนอยู่เนืองๆ ว่า

    ลูกเอ๋ย ท่านจงไปหาท่านพระธรรมบดี ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอสีติมหาสาวกทั้งหลายเถิด

    นี่คือความหวังดีนะคะ ใครเลยจะได้มีโอกาสไปหาท่านธรรมเสนาบดีสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ หรือแม้แต่ท่านอสีติมหาสาวก พระเถระอื่นๆ ผู้ทรงคุณ ในสมัยนี้ไม่มีโอกาสจะได้พบท่านอีกแล้ว แต่ผู้ที่สะสมปัจจัยมาที่จะไม่เลื่อมใสศรัทธา แม้ว่ามีโอกาสก็ไม่เห็นประโยชน์เลย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้สะสมความไม่เลื่อมใสในผู้ที่ควรเลื่อมใส มี แม้ในครั้งก่อนหรือในครั้งนี้

    เพราะฉะนั้น สิงคาลกมาณพผู้ที่ได้เคยสะสมความไม่เลื่อมใสในผู้ที่ควรเลื่อมใสแล้ว ก็คิดว่าไม่ควรจะไปหาบุคคลอย่างเช่นพระธรรมเสนาบดี หรือท่านพระมหาโมคคัลลานะ และความคิดของสิงคาลกมาณพที่จะไม่ไปก็เพราะเหตุว่า สิงคาลกมาณพคิดว่า ถ้าไปหาพวกสมณะก็ต้องไหว้

    ดูซิคะเพียงเท่านี้ก็ลำบากเสียแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ได้สะสมปัจจัยมา ไม่มีศรัทธาที่จะไหว้ การไหว้นี้ไม่ใช่บังคับ แต่เป็นจิตที่เบา และผ่องใสจากอกุศล เพราะเหตุว่ามีการนอบน้อมในผู้มีคุณ เมื่อมีกุศลจิตเกิดขึ้นก็เป็นปัจจัยให้มีการไหว้ การแสดงความนอบน้อม แต่ผู้เห็นว่าทำไมจะต้องนอบน้อม ต้องไหว้ ก็กลับเห็นเป็นความลำบากในการที่จะต้องไหว้ เพราะฉะนั้น สิงคาลกมาณพ ก็มีความคิดเห็นว่า เมื่อไปหาพวกสมณะก็ต้องไหว้ เมื่อก้มตัวลงไหว้ก็ปวดหลัง

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่เห็นคุณเลย ไม่ยอมสละอะไรทั้งนั้น แม้แต่จะไหว้ ก็คิดว่าจะเป็นการเสียประโยชน์หลายประการ คุกเข่าลงก็เจ็บเข่า จริงไหมคะ เจ็บน่ะเจ็บแน่ ต้องนั่งกับพื้น เสียดายผ้าจะเปื้อนเปรอะหม่นหมองเมื่อนั่งกับพื้น เมื่อสนทนากับท่าน คุ้นเคยกันขึ้นแล้ว ก็ต้องถวายจีวร บิณฑบาต เป็นต้น แก่ท่าน

    แทนที่จะคิดว่าเป็นโอกาสดีเหลือเกิน ที่จะได้ถวายสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่ทรงคุณ เพราะเหตุว่าถ้าเกิดในภพอื่น ชาติอื่น มือที่จะไหว้นี้มีไหม ถ้าไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มือที่จะไหว้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร พระโมคคัลลานะ หรือพระสงฆ์ทั้งหลาย มีไหมที่จะไหว้ ไม่มีแม้แต่มือที่จะไหว้ ซึ่งถ้าได้เกิดในภพอื่นภูมิอื่นซึ่งเป็นอบายภูมิ แต่ว่าเมื่อมีมือแล้ว แทนที่จะใช้มือ ใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ในการที่จะเจริญกุศล ก็กลับกลัวว่าถ้าไปสนทนาด้วยเกิดความคุ้นเคย นอกจากจะต้องกราบไหว้แล้วยังจะต้องถวายจีวร บิณฑบาต เป็นต้น

    เป็นความจริงหรือเปล่าคะ สำหรับสิงคาลกมาณพคนเดียวหรือว่าอีกหลายท่านทีเดียวที่สะสมเหตุปัจจัยมาที่จะคิดอย่างนี้ กุศลควรเจริญ การขัดเกลากิเลสควรจะมีทุกขั้นทุกประการ โดยเฉพาะกับผู้ที่ทรงคุณ ควรจะคิดว่าเป็นโอกาสพิเศษที่ได้มีโอกาสให้ท่านใช้จีวร บิณฑบาต เพื่อชีวิตที่ประเสริฐของท่าน แต่ก็เกิดการเสียดายขึ้น สิงคาลกมาณพไม่รู้แม้แต่ว่า การที่เกิดเป็นบุตรของคฤหบดีมหาศาล เป็นผลของกุศลที่ได้กระทำมาแล้ว ไม่ได้รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น ก็ไม่รู้ว่าการเกิดเป็นบุตรของคฤหบดีมหาศาลนั้นเป็นผลของกุศลก็จริง แต่ว่าถ้ายังมีการติดอย่างมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว ไม่สามารถสละแม้แต่จีวร บิณฑบาต เป็นต้น แก่ท่านเหล่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นบุตรของคฤหบดีมหาศาล ก็ยังเสียดาย และไม่เห็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าสะสมการติดไว้มาก ไม่คิดว่าการสละแต่ละครั้งก็จะทำให้ขจัดละคลายกิเลสที่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ออกได้บ้าง แม้ว่าไม่เป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่เป็นการเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าสามารถจะสละออกได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์ของการสละออก แม้ว่าจะมีเงินมากก็ยังคิดว่าเป็นการเสียประโยชน์ แม้ว่าท่านมารดาบิดาของสิงคาลกมาณพจะได้กล่าวสั่งสอนท่านอยู่จนตลอดชีวิตของท่านทั้งสอง ก็ไม่อาจจะให้เขาเข้าในพระศาสนาได้

    นี่คือชีวิตตามความเป็นจริงนะคะ พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านก็มีชีวิตปะปนไปกับปุถุชนทั้งหลาย โดยฐานะของการเป็นมิตรสหาย หรือโดยฐานะของมารดาบิดาของบุตรบ้าง แต่ท่านก็มีความปรารถนาดี ที่จะให้บุคคลอื่นรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือเมื่อเป็นบุตรของท่าน ท่านก็ปรารถนาจะให้เข้าถึงพระศาสนา แต่การสะสมของแต่ละบุคคลก็ต่างกันไป ในสมัยนี้โดยฐานะของมารดาบิดาทั้งหลาย เมื่อท่านได้เข้าถึงพระธรรม ได้รู้คุณของพระธรรมแล้ว ท่านคงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้บุตรของท่านได้เข้าถึงพระศาสนาด้วย แต่ว่าท่านจะกระทำได้หรือไม่ สำเร็จมากหรือน้อย นั่นก็เป็นเรื่องของการสะสมมาของบุตรธิดาของท่านแต่ละคนด้วย แต่ท่านก็จะเห็นได้ถึงความปรารถนา ความหวังดี อย่างสูงที่สุดในชีวิตของท่านก็คือ เมื่อท่านได้เห็นคุณของพระศาสนาด้วย ก็ปรารถนาที่จะให้บุตรธิดาได้เข้าถึงพระศาสนาด้วย แต่ทุกคนก็มีการสะสมมาของตนเอง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ามารดาบิดาจะเป็นถึงพระอริยเจ้า ก็ยังไม่อาจให้บุตรของท่าน คือ สิงคาลกมาณพได้เข้าในพระศาสนาได้ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะสิ้นชีวิต มารดาบิดาของสิงคาลกมาณพก็ได้ให้โอวาทแก่บุตร โดยให้บุตรไหว้ทิศ เพราะเห็นว่าบุตรไม่สามารถจะเข้าใจความหมายของทิศที่ถูกต้องได้ เพราะฉะนั้น บุตรก็คงนอบน้อมทิศทั้งหลายจนกว่าพระผู้มีพระภาคหรือพระสาวกจะไปพบเข้า และจะมีการสอบถาม ไต่ถามสนทนาธรรม และในที่สุดก็คงได้แสดงความมุ่งหมายที่มารดาบิดาของท่านไหว้ทิศว่า ที่มารดาบิดาของท่านมุ่งหมายให้บุตรของตนไหว้ทิศนั้นคืออย่างไร และเมื่อบุตรสามารถเข้าใจความมุ่งหมายของมารดาบิดาที่ให้ไหว้ทิศแล้ว ก็คงรู้จักคุณของพระศาสนา และจะได้ทำบุญกุศลต่อไป

    ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาจวนสว่างแล้ว ก็ได้ทรงพระดำริว่า วันนี้จักแสดงสิงคาลกสูตร ธรรมอันเป็นวินัยพระคฤหัสถ์แก่สิงคาลกมาณพ การแสดงธรรมนี้จะมีผลแก่มหาชนเป็นอันมาก ควรที่พระผู้มีพระภาคจักไปที่นั้น

    นี่เป็นข้อความในอรรถกถาที่ว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาจวนสว่าง และทรงพระดำริว่า วันนี้จักแสดงธรรมอันเป็นวินัยของคฤหัสถ์แก่สิงคาลกมาณพ การแสดงธรรมนี้จะมีผลแก่มหาชนเป็นอันมาก

    ทุกท่านที่ฟังนี้ส่วนมากเป็นคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น มีวินัยของคฤหัสถ์เป็นเครื่องวัด เครื่องเทียบให้เห็นว่า กิเลสของท่านจะมีมากหรือมีน้อยประการใด ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า การแสดงธรรมนี้จะมีผลแก่มหาชนเป็นอันมาก พระผู้มีพระภาคทรงเห็นประโยชน์ว่า ธรรมประการใดจะเป็นประโยชน์แก่มหาชนเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้ก็จะต้องเป็นประโยชน์มากทีเดียวแก่ท่านผู้ฟังทั้งหลาย เพราะเหตุว่าในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวินัยของคฤหัสถ์ ซึ่งวินัยย่อมเป็นเครื่องวัดกิเลสว่า มีมากหรือน้อยเพียงไร และวินัยนั้นก็คือธรรมนั่นเอง วินัยก็เป็นสภาพธรรม และสภาพธรรมก็เป็นวินัย เพราะเหตุว่าเป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่า สิ่งใดควร และสิ่งใดไม่ควร สำหรับผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นได้ว่าสติย่อมเกิดขึ้นอุปการะในชีวิตประจำวัน ที่จะให้ตรงตามวินัยของคฤหัสถ์ยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่ผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย ย่อมไม่มีการที่จะระลึกว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร แต่เพราะว่าเป็นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน มีการศึกษา สังเกต สำเหนียก ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏถี่ถ้วนขึ้น ละเอียดขึ้น ไวขึ้น เป็นปัจจัยอุปการะแก่สติขั้นอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้การกระทำทางกาย ทางวาจา ว่าเป็นสิ่งที่ควรหรือไม่

    ข้อความในสิงคาลกสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรคฤหบดีบุตร ในวินัยของพระอริยเจ้า เขาไม่นอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างนี้ ฯ

    คือประคองอัญชลีนอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่

    ซึ่งสิงคาลกมาณพก็ได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างไรขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ตามที่ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันนั้นเถิด ฯ

    ซึ่งในวันนี้ท่านผู้ฟังก็จะได้ทราบถึงวินัยของคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวท่านมาก เพราะเหตุว่าท่านผู้ฟังส่วนมากก็เป็นคฤหัสถ์ จะได้ทราบว่าวินัยของคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นชีวิตของท่านนั้นเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าโดยมากท่านมักจะสนใจสิ่งที่อยู่ไกลมาก เช่น มรรคผลนิพพาน เลยลืมว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเสียก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าญาณคือปัญญาไม่เกิดขึ้น ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ก็จะไม่ทำให้ท่านบรรลุมรรคผลนิพพานได้ และจะไม่ทำให้สามารถทำให้ทราบด้วยว่า ชีวิตของท่านแต่ละท่านซึ่งต่างกันไปแต่ละบุคคลนั้น ย่อมเป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ว่าด้วยกรรมกิเลส ๔

    [๑๗๔] ดูกรคฤหบดีบุตร ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักกล่าว ฯ

    สิงคาลกคฤหบดีบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค

    ได้ตรัสว่า

    ดูกรคฤหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ย่อมปฏิบัติเพื่อชำนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้วทั้งโลกนี้ และโลกหน้า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกอริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

    กรรมกิเลส ๔ เป็นไฉน ที่อริยสาวกละได้แล้ว ดูกรคฤหบดีบุตร กรรมกิเลส คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑ กรรมกิเลส ๔ เหล่านี้

    ที่อริยสาวกนั้นละได้แล้ว ฯ

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    [๑๗๕] ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท และการคบหาภรรยาผู้อื่น เรากล่าวว่าเป็นกรรมกิเลส บัณฑิตไม่สรรเสริญ ฯ

    นี่เป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันนะคะ แต่เป็นเครื่องวัดสภาพของจิตที่มีกิเลส ว่ามีกิเลสกล้าหรือแรงที่จะกระทำกรรมด้วยกิเลสนั้นๆ หรือไม่ เพราะเหตุว่าผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าละกรรม และกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ ประการอย่างนี้แล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นอริยสาวก ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ท่านยังกระทำกรรมที่ไกลต่อการที่จะเป็นพระอริยสาวกหรือไม่

    สำหรับกรรมกิเลส ๔ ที่พระอริยสาวกละแล้ว คือ

    ปาณาติบาต ๑ การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ตรวจสอบพิจารณาได้ การกระทำในชีวิตประจำวันของท่านใกล้หรือไกลการที่จะเป็นพระอริยสาวก ถ้ายังมีการฆ่าสัตว์อยู่ก็ยังไกลมากทีเดียว นี่เป็นการแสดงถึงกิเลสที่ยังมีอยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นวินัยของคฤหัสถ์

    เพราะเหตุว่าสำหรับคฤหัสถ์ที่เป็นอริยสาวกนั้น ท่านละปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑ ชีวิตปกติตามความเป็นจริงที่จะใกล้หรือไกลต่อการเป็นพระอริยเจ้า ถ้ายังมีเจตนาที่จะฆ่า อันนั้นก็ยังไกลมากทีเดียว บางครั้งก็งดเว้นได้ชั่วคราว แต่แล้วก็ถอยกลับไปสู่การฆ่าอีก ไม่แน่นอน ไม่เป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่ายังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเพียงความตั้งใจ หรือเจตนาที่จะละเว้น ก็ยังเป็นการดีกว่าที่จะไม่ตั้งใจเสียเลย เพราะเหตุว่าถ้าตั้งใจแล้ว ก็ยังมีกำลังนิดหน่อยที่จะพยายามทำตามที่ตั้งใจ ถ้ามีเจตนาที่จะละเว้นการฆ่า ก็อาจจะทำให้ระลึกขึ้นได้เวลาคิดใคร่จะฆ่า เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดการระลึกได้ ที่จะทำให้เว้นในขณะนั้น แต่สภาพธรรมเป็นอนัตตา จะเว้นได้มากได้น้อยแล้วแต่เหตุการณ์ เพราะเหตุว่าบางครั้งสัตว์อาจจะตัวเล็กเหลือเกิน แม้ว่าจะไม่มีความเพียรเท่าไร เพียงแต่ปัดนิดเดียว สัตว์นั้นก็ตายเสียแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องที่จะแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ที่จะละเว้นได้จริงๆ ก็จะต้องมีกุศลจิตเกิดที่จะระมัดระวังแม้แต่ชีวิตของสัตว์เล็กสัตว์น้อย

    สำหรับอทินนาทานก็เช่นเดียวกันนะคะ ถ้าเป็นผู้ที่มุ่งจะขัดเกลากิเลสแล้ว ก็ย่อมจะมีความระมัดระวังยิ่งขึ้น แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจจะเคยขาดความระวัง แต่การที่จะเป็นผู้ที่มุ่งที่จะขัดเกลา ละคลายกิเลสให้เบาบาง ถึงความดับเป็นสมุจเฉท จะเป็นผู้ที่ประมาทไม่ได้เลย เรื่องใหญ่ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับอทินนาทาน แต่เรื่องเล็กเรื่องน้อย ก็เป็นภัยด้วย ที่ควรที่จะเห็นโทษ และเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น

    สำหรับกาเมสุมิจฉาจารก็เช่นเดียวกัน และมุสาวาทด้วย แม้ในเรื่องเล็กน้อย ก็เป็นผู้ที่มั่นคงขึ้นที่จะไม่กล่าวคำไม่จริง แม้ว่าก่อนนี้อาจจะเห็นว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องกล่าว แต่ว่าเมื่อเจตนานี้ที่จะงดเว้นมากขึ้น ก็จะมีสติที่เกิดขึ้น รู้ว่าแม้ว่าเป็นความจำเป็น ก็ไม่จำเป็นที่จะใช้คำที่ไม่จริง อาจจะมีคำพูดอื่น ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่าการที่จะให้กิเลสมีกำลังแรงถึงกับพูดคำที่ไม่จริง

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ท่านละกรรมกิเลส ๔ เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้าก็จะต้องพากเพียรที่จะละคลายให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท

    ข้อความในอรรถกถา อธิบายความหมายของคำว่า “กรรมกิเลส” ว่า ได้แก่ กิเลสอันเป็นตัวกรรม เพราะเหตุว่าผู้ที่มีกิเลสเท่านั้นที่ฆ่า กระทำปาณาติบาต ที่ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ ที่เป็นอทินนาทาน ที่ประพฤติผิดในกาม ที่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร และที่กล่าวคำไม่จริง คือ มุสาวาท

    ถ้าผู้ที่เบาบางจากกิเลสแล้ว ถึงแม้ว่ากิเลสยังมีอยู่ ยังดับไม่หมด เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระอรหันต์ แต่กิเลสนั้นก็ไม่มีกำลังที่จะให้กระทำกรรมซึ่งเกิดจากกิเลสนั้นได้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท และการคบหาภรรยาผู้อื่น เรากล่าวว่าเป็นกรรมกิเลส บัณฑิตไม่สรรเสริญ ฯ


    หมายเลข 1136
    3 ส.ค. 2567