ปัญหาท้าวสักกะ ๑.. ธรรมทานย่อมชนะทานทั้งปวง


    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงการอุทิศส่วนกุศล ซึ่งได้กล่าวว่า กุศลทุกประเภทที่ทุกท่านกระทำแล้ว สามารถอุทิศให้บุคคลอื่นอนุโมทนาได้ ไม่ว่าจะเป็นกุศลที่เป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีล ในการฟังธรรม และการแสดงธรรม ก็มีท่านผู้ฟังได้ไปขอให้ดิฉันอุทิศส่วนกุศลในการแสดงธรรมให้ท่านอนุโมทนา ซึ่งที่จริงแล้วตามปกติดิฉันก็ได้อุทิศส่วนกุศลในการแสดงธรรม เวลาที่กล่าวบูชาคุณพระรัตนตรัยหลังจากการบรรยาย แต่ว่าสำหรับท่านผู้ฟังเองก็ควรอุทิศส่วนกุศลในการฟังธรรมของท่านให้ผู้อื่นอนุโมทนาด้วย ท่านที่ไปขอให้ดิฉันอุทิศส่วนกุศลในการแสดงธรรมให้ท่านได้อนุโมทนา ตามที่ท่านได้อ่านจากพระธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาตัณหาวรรควรรณนา เรื่องท้าวสักกเทวราช ซึ่งมีข้อความว่า

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภท้าวสักกเทวราช ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สพฺพทานํ" เป็นต้น.

    เรื่องมีว่า ในสมัยหนึ่ง เทพดาในดาวดึงสเทวโลกประชุมกัน แล้วตั้งปัญหาขึ้น ๔ ข้อ ว่า

    บรรดาทานทั้งหลาย ทานชนิดไหนหนอแล บัณฑิตกล่าวว่าเยี่ยม,

    บรรดารสทั้งหลาย รสชนิดไหน บัณฑิตกล่าวว่ายอด,

    บรรดาความยินดีทั้งหลาย ความยินดีชนิดไหน บัณฑิตกล่าวว่าเลิศ,

    ความสิ้นไปแห่งตัณหาแล บัณฑิตกล่าวว่าประเสริฐที่สุด เพราะเหตุไร?

    นี่ก็ไม่ใช่แต่เฉพาะสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แม้แต่ท่านที่ฟังธรรมโดยละเอียด ก็น่าจะพิจารณาในอรรถที่ว่า

    ทานชนิดไหนหนอแล บัณฑิตกล่าวว่าเยี่ยม,

    ในขณะนี้เอง

    บรรดารสทั้งหลาย รสชนิดไหน บัณฑิตกล่าวว่ายอด,

    บรรดาความยินดีทั้งหลาย ความยินดีชนิดไหน บัณฑิตกล่าวว่าเลิศ,

    ทุกท่านทำทานก็ควรจะได้รู้ว่า ทานชนิดไหน บัณฑิตกล่าวได้เยี่ยม ทุกท่านบริโภครส ก็ควรจะรู้ว่า รสชนิดไหน บัณฑิตกล่าวว่ายอด ทุกท่านมีความยินดี ในวันหนึ่งๆ ยินดีดีใจแต่ละเรื่อง ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง แต่ในบรรดาความยินดีทั้งหลาย ความยินดีชนิดไหน บัณฑิตกล่าวว่าเลิศ,

    ความสิ้นไปแห่งตัณหาแล บัณฑิตกล่าวว่าประเสริฐที่สุด เพราะเหตุไร?

    ทุกคนไม่อยากจะหมดโลภะ แต่ความสิ้นไปแห่งตัณหาแล บัณฑิตกล่าวว่า ประเสริฐที่สุด

    ทุกท่านยังต้องการมีโลภะ แต่ควรที่จะรู้ว่า ถ้าหมดโลภะได้ ประเสริฐที่สุด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่หมด แต่ขอให้รู้ความจริงว่า ถ้าหมดได้ ประเสริฐที่สุด เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยการเห็นโทษของโลภะ แล้วเห็นประโยชน์ของธรรมที่ดับโลภะ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาที่สามารถดับโลภะได้จริงๆ

    เมื่อเทวดาในชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายไม่อาจจะวินิจฉัยปัญหานี้ได้. ก็ได้ประชุมกัน และพากันไปยังสำนักของท้าวจาตุมหาราชิกาทั้ง ๔ ท้าวจาตุมหาราชิกาทั้ง ๔ นั้นก็ให้เทวดาทั้ง ๔ นั้นไปทูลถามท้าวสักกะ เพราะท่านเองก็ไม่สามารถอธิบายอรรถของปัญหาธรรม ๔ ข้อนั้น ท้าวสักกะทรงทราบว่า ปัญหานี้คนอื่นย่อมไม่รู้เนื้อความ เพราะเป็นวิสัยของพระผู้มีพระภาค จึงพาเทวดาเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระวิหารเชตวัน ในเวลากลางคืน แล้วได้กราบทูลถามปัญหานั้นต่อพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    "ดีละ มหาบพิตร ตถาคตบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ บริจาคมหาบริจาค ๕ คือ บริจาคอวัยวะ ๑ บริจาคทรัพย์ ๑ บริจาคบุตร ๑ บริจาคภรรยา ๑ บริจาคชีวิต ๑

    แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็เพื่อตัดความสงสัยของชนผู้เช่นพระองค์นี่แหละ ขอพระองค์จงทรงสดับปัญหาที่พระองค์ถามแล้วเถิด

    บรรดาทานทุกชนิด ธรรมทานเป็นเยี่ยม,

    บรรดารสทุกชนิด รสแห่งพระธรรมเป็นยอด,

    บรรดาความยินดีทุกชนิด ความยินดีในธรรมประเสริฐ

    ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะความเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุพระอรหัต"

    ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

    ธรรมทานย่อมชนะทานทั้งปวง รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง.

    ซึ่งคำอธิบายต่อไปมีว่า

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพทานํ เป็นต้น ความว่า

    ก็ถ้าบุคคลพึงถวายไตรจีวรเช่นกับใบตองอ่อนแด่พระพุทธเจ้า คือเป็นไตรจีวรอย่างดี

    พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้นั่งติดๆ กันในห้วงจักรวาล ตลอดถึงพรหมโลก. การอนุโมทนาเทียวที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงทำด้วยพระคาถา ๔ บาทในสมาคมนั้นประเสริฐ;

    ก็ทานนั้นหามีค่าถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพระคาถานั้นไม่ การแสดงก็ดี การกล่าวสอนก็ดี การสดับก็ดีซึ่งธรรมเป็นของใหญ่ ด้วยประการฉะนี้.

    อนึ่ง บุคคลใดให้ทำการฟังธรรม คือจัดให้มีการฟังธรรม

    อานิสงส์เป็นอันมากก็ย่อมมีแก่บุคคลนั้นแท้. ธรรมทานนั่นแหละที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นให้เป็นไปแล้ว แม้ด้วยอำนาจอนุโมทนา โดยที่สุดด้วยพระคาถา ๔ บาท ประเสริฐที่สุดกว่าทานที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยบิณฑบาตอันประณีต แล้วถวายแก่บริษัทเห็นปานนั้นนั่นแหละบ้าง

    ประเสริฐกว่าเภสัชทานที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยเนยใส และน้ำมันเป็นต้น แล้วถวายบ้าง

    ประเสริฐกว่าเสนาสนทานที่ทายกให้สร้างวิหารเช่นกับมหาวิหาร และปราสาทเช่นกับโลหะปราสาทตั้งหลายแสน แล้วถวายบ้าง

    ประเสริฐกว่าการบริจาค ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้นปรารภวิหารทั้งหลาย แล้วทำบ้าง.

    เพราะเหตุไร?

    เพราะว่าชนทั้งหลายเมื่อจะทำบุญเห็นปานนั้น ต่อฟังพระธรรมแล้วเท่านั้นจึงทำได้ ไม่ได้ฟังก็หาทำได้ไม่. ก็ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายไม่พึงฟังธรรมไซร้ เขาก็ไม่พึงถวายข้าวยาคูประมาณกระบวยหนึ่งบ้าง ภัตประมาณทัพพีหนึ่งบ้าง เพราะเหตุนี้ธรรมทานนั่นแหละจึงประเสริฐที่สุดกว่าทานทุกชนิด.

    ประโยชน์ของธรรมทานต่อไปคือ

    อีกอย่างหนึ่ง เว้นพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าเสีย แม้พระสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตรเป็นต้น ผู้ประกอบด้วยปัญญาซึ่งสามารถนับหยาดน้ำได้ ในเมื่อฝนตกตลอดกัลป์ทั้งสิ้น ก็ยังไม่สามารถจะบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น โดยธรรมดาของตนได้ ต่อฟังธรรมที่พระอัสสชิเถระเป็นต้นแสดงแล้ว จึงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และทำให้แจ้งซึ่งสาวกบารมีญาณ ด้วยพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค เพราะเหตุแม้นี้ มหาบพิตร ธรรมทานนั่นแหละจึงประเสริฐที่สุด.

    เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ."

    ต่อไปพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถของปัญหาธรรมข้อที่ ๒ ที่ว่า

    บรรดารสทุกชนิด รสแห่งพระธรรมเป็นยอด

    ซึ่งมีข้อความอธิบายว่า

    อนึ่ง รส มีรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้นทุกชนิด โดยส่วนประณีต แม้รสแห่งอาหารทิพย์ของเทพดาทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้.

    ส่วนพระธรรมรสกล่าวคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และกล่าวคือโลกุตรธรรม ๙ ประการนี้แหละ ประเสริฐกว่ารสทั้งปวง.

    เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ."

    ทุกคนได้รสอาหารอยู่ทุกวัน แม้ว่าจะเป็นรสประณีตถึงขั้นอาหารทิพย์ของเทวดาก็ตาม แต่แม้อย่างนั้นก็เป็นปัจจัยให้สัตว์ตกไปในสังสารวัฏฏ์ การบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันแต่ละครั้งที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นบริโภคด้วยความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง จึงเป็นการสะสมอกุศลซึ่งจะทำให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้

    วันนี้ทุกท่านต้องมีความทุกข์แน่ๆ เพียงแต่ว่าจะสังเกตหรือไม่ได้สังเกต แล้วอาจจะเป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ โดยที่ว่าไม่ทันจะรู้ว่าเป็นทุกข์ แต่แท้ที่จริงสภาพธรรมทุกขณะเกิดขึ้นแล้วดับไป นั่นเป็นทุกข์จริงๆ แต่ว่าขณะใดที่ได้ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นก็มีความรู้สึกเป็นทุกข์ ซึ่งถ้าสังเกตแล้วจะรู้ได้ทีเดียวว่ามีมาก แม้แต่ความขุ่นใจ ทางตาที่เห็น เป็นทุกข์หรือเป็นสุข แล้วทางหูที่ได้ยิน แล้วเกิดขุ่นใจ รำคาญใจ เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คิดเรื่องที่ไม่พอใจ ในขณะนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรสที่ประณีตทั้งหลายก็ไม่สามารถช่วยทำให้พ้นจากทุกข์ได้ นอกจากพระธรรมรส คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งก็ได้กล่าวถึงแล้ว และโลกุตตรธรรม ๙ นี่แหละประเสริฐกว่ารสทั้งปวง เพราะเหตุว่าจะไม่ทำให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ หรือเสวยทุกข์

    เวลาที่ท่านผู้ฟังได้ศึกษาพระธรรม และเข้าใจ มีศรัทธาปสาทะ มีความรู้สึกซาบซึ้ง ในขณะนั้นก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมรสประเสริฐกว่ารสทั้งปวง

    ต่อไปก็เป็นอรรถแห่งปัญหาธรรมข้อที่ ๓ ว่า

    บรรดาความยินดีทุกชนิด ความยินดีในธรรม ประเสริฐ

    ซึ่งข้อความมีว่า

    อนึ่ง แม้ความยินดีในบุตร ความยินดีในธิดา ความยินดีในทรัพย์ ความยินดีในสตรี และความยินดีมีประเภทมิใช่อย่างเดียว อันต่างด้วยความยินดีในการฟ้อน การขับ การประโคมเป็นต้น และการละเล่นต่างๆ ทุกชนิด ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้.

    ส่วนความอิ่มใจซึ่งเกิดขึ้นภายในของผู้แสดงก็ดี ผู้ฟังก็ดี ผู้กล่าวสอนก็ดี ซึ่งธรรม ย่อมให้เกิดความเบิกบานใจ ให้น้ำตาไหล ให้เกิดขนชูชัน ความอิ่มใจนั้น ย่อมทำที่สุดแห่งสังสารวัฏฏ์ มีพระอรหัตเป็นปริโยสาน ความยินดีในธรรมเห็นปานนี้แหละประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง.

    เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ."

    วันหนึ่งๆ ทุกท่านก็แสวงหาความเพลิดเพลิน ยินดี ไม่ว่าจะเป็นความเพลิดเพลินยินดีในธิดา ในบุตร ในทรัพย์ ในการละเล่น การฟ้อน การขับ ประโคมต่างๆ แต่ความยินดีนั้นๆ ทั้งหมดยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ต่างกับความยินดีของผู้แสดงธรรมก็ดี ผู้ฟังธรรมก็ดี ผู้กล่าวสอนธรรมก็ดี ย่อมให้เกิดความเบิกบานใจ ให้น้ำตาไหล ให้เกิดขนชูชัน ความอิ่มใจนั้น ย่อมทำที่สุดแห่งสังสารวัฏฏ์ มีพระอรหัตเป็นปริโยสาน, ความยินดีในธรรมเห็นปานนี้แหละ ประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง.

    ต่อไปเป็นอรรถของปัญหาธรรมข้อที่ ๔ ที่ว่า

    ความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะความเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุพระอรหัต มีข้อความอธิบายว่า

    ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหา คือ พระอรหัตซึ่งเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นไปแห่งตัณหา พระอรหัตนั้นประเสริฐกว่าทุกอย่างแท้ เพราะครอบงำวัฏฏทุกข์แม้ทั้งสิ้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ."

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเนื้อความแห่งพระคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้ อยู่นั่นแล บุคคลเป็นจำนวนมากได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    เป็นปกติ ในขณะที่กำลังฟัง ฟังด้วย พิจารณาธรรมที่กำลังปรากฏด้วย สติเกิดแทรกคั่นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น สำหรับผู้ที่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐานมามากแล้ว มีเหตุปัจจัยให้ปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาย่อมสามารถแทงตลอดในความเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ แม้ท้าวสักกะทรงสดับธรรมกถาของพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วทูลว่า

    "พระเจ้าข้า เพื่อประโยชน์อะไร พระองค์จึงไม่รับสั่งให้ให้ส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์ ในธรรมทานอันชื่อว่าเยี่ยมอย่างนี้ จำเดิมแต่นี้ไป ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกแก่ภิกษุสงฆ์แล้วรับสั่งให้ให้ส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า."

    พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ตรัสว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พวกเธอทำการฟังธรรมใหญ่ก็ดี การฟังธรรมตามปกติก็ดี กล่าวอุปนิสินนกถาก็ดี โดยที่สุดแม้การอนุโมทนา แล้วพึงให้ส่วนบุญแก่สัตว์ทั้งหลาย"

    นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า เมื่อท้าวสักกะได้กราบทูลถามว่า ทานใดเป็นทานที่เลิศ และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมทานเป็นทานอันเลิศ ก็เป็นเหตุให้พระอินทร์ได้ทูลถามว่า เมื่อธรรมทานเป็นทานอันเลิศแล้ว เหตุใดเมื่อได้ฟังธรรมก็ดี ได้แสดงธรรมก็ดี ไม่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นอนุโมทนา ซึ่งการที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นอนุโมทนา ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดทั้งสิ้น สามารถอุทิศได้ หรือผู้อื่นก็สามารถอนุโมทนาได้

    โดยมากท่านผู้ฟังอาจจะเคยแผ่เมตตาหลังจากฟังธรรม แต่การแผ่เมตตายังแผ่ไม่ได้ จนกว่าจะอบรมเจริญเมตตาจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำเมตตา และการแผ่ก็เป็นเรื่องที่ยาก ที่จะต้องระลึกถึงบุคคลที่ควรจะแผ่ก่อน ได้แก่ ผู้มีคุณเสมอด้วยบิดามารดา ครูอาจารย์ เป็นต้น และแผ่ไปถึงบุคคลอื่นในภายหลัง


    หมายเลข 1137
    3 ส.ค. 2567