ปัญหาท้าวสักกะ ๓.. มูลเหตุของความริษยาและความตระหนี่
ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎกตอนหนึ่ง ซึ่งแสดงเหตุของความตระหนี่ ในทีฆนิกาย มหาวรรค สักกปัณหสูตร ข้อ ๒๕๖ พระผู้มีพระภาคทางแสดงมูลเหตุของความตระหนี่กับท้าวสักกะจอมเทพ คือ พระอินทร์ ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีน แห่งพระนครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ฯ
พระอินทร์ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคว่า
ความริษยา และความตระหนี่ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความริษยาจึงมี มีอะไรไม่มี ความริษยา และความตระหนี่จึงไม่มี
ผู้ที่จะขัดเกลา ละคลายกิเลส ต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ทราบละความริษยา และความตระหนี่ และกิเลสต่างๆ ได้ เพราะไม่รู้ว่า มีอะไรเป็นสมุทัย คือ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความริษยาจึงมี มีอะไรไม่มี ความริษยา และความตระหนี่จึงไม่มี
คงจะไม่มีใครอยากจะมีความริษยา และความตระหนี่มากๆ รู้ว่า ความตระหนี่เป็นอกุศล อยากให้หมด แต่ตรงกันข้าม หมดไม่ได้ มีแต่ความพอใจ มีแต่ความติดข้อง มีแต่ความหวงแหน ไม่สามารถจะสละได้ จนกว่าปัญญาจะรู้จริงๆ ในเหตุของความตระหนี่ และต้องอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นดับกิเลสเป็นสมุจเฉทด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ความริษยา และความตระหนี่มีอารมณ์เป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด อันเป็นแดนเกิด เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีอยู่ ความริษยา และความตระหนี่จึงมี เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักไม่มี ความริษยา และความตระหนี่จึงไม่มี ฯ
ถ้าไม่มีอารมณ์เป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักก็คงจะไม่ติด ไม่หวงแหน แต่ไม่ใช่อารมณ์อันเป็นที่รักเท่านั้นที่เป็นสมุทัยของความริษยา และความตระหนี่ แต่มีอารมณ์อันไม่เป็นที่รักด้วยเป็นกำเนิด เป็นแดนเกิดของความริษยา และความตระหนี่ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่ความริษยาเกิดขึ้นจะริษยาในบุคคลที่ไม่รักหรือไม่เป็นที่รักของท่าน ถ้าบุคคลที่เป็นที่รักมีความเจริญรุ่งเรือง ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ท่านจะดีใจปลาบปลื้มหรือจะริษยา
เพราะฉะนั้น ความริษยา และความตระหนี่มีอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นสมุทัย ความตระหนี่ก็เช่นเดียวกัน ความหวงแหนสิ่งที่ท่านมี ไม่สามารถสละแบ่งปันให้บุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก แต่กับบุคคลที่เป็นที่รัก ไม่หวงแหน ไม่ตระหนี่เลย
เมื่อท้าวสักกะจอมเทพได้ฟังแล้ว ก็ทูลถามถึงเหตุของอารมณ์เป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก เพราะเหตุว่าจะเป็นเพียงอารมณ์ธรรมดาๆ เท่านั้นไม่ได้หรือ เพราะเหตุใด เหตุของความริษยา และความตระหนี่จึงต้องเป็นอารมณ์เป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักด้วย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรจอมเทพ อารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก มีความพอใจเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด เมื่อความพอใจมี อารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี เมื่อความพอใจไม่มี อารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี ฯ
นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะไม่ทราบว่า ทำไมเวลาที่อารมณ์ปรากฏ จึงไม่รู้ในสภาพของอารมณ์นั้นตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แต่มีกิเลสเป็นผู้ประมาณอารมณ์นั้นให้เป็นที่รัก และไม่เป็นที่รัก ตามลักษณะของกิเลสที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ท้าวสักกะจอมเทพตรัสถามพระผู้มีพระภาคว่า เหตุของอารมณ์เป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักนั้นคืออะไร ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสตอบว่า อารมณ์เป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีความพอใจเป็นเหตุ เป็นสมุทัย
ทันทีที่เห็น แทนที่จะเห็นเป็นเพียงอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริง แต่มีความพอใจเป็นเหตุให้อารมณ์นั้นเป็นที่รักทันที เป็นที่พอใจทันที เป็นที่ติดข้องทันที ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบไหมว่า ทันทีที่เห็นในขณะนี้มีความพอใจหรือไม่พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏหรือเปล่า ซึ่งตามปกติย่อมพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นประจำ แม้ว่าอารมณ์จะเกิดดับอย่างรวดเร็วสักเพียงใดก็ตาม ผู้ที่ยังมีอวิชชาอยู่เป็นปัจจัย ย่อมทำให้เกิดความยินดีในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส อย่างรวดเร็วในขณะที่สติไม่เกิด
ขอให้พิจารณาถึงเสียงที่กำลังปรากฏ ดูเหมือนว่าเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ความไม่รู้เสียงยังมี เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่เสียงปรากฏ ย่อมมีจิตซึ่งยินดีพอใจในเสียงที่ปรากฏ ถ้าขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ในลักษณะของเสียงที่ปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วหมดไป นี่ไม่รู้เลยในวันหนึ่งๆ แต่ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าสติไม่เกิดแล้ว วันหนึ่งๆ จิตเป็นไปในอกุศลอย่างมากทีเดียว
ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามต่อไปถึงเหตุของความพอใจว่า ความพอใจมีอะไรเป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความพอใจจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความพอใจจึงไม่มี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรจอมเทพ ความพอใจมีความตรึกเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด เมื่อความตรึกมี ความพอใจจึงมี เมื่อความตรึกไม่มี ความพอใจ จึงไม่มี ฯ
ในวันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่าคะ ตลอดทางที่จะมาฟังธรรม หรือในขณะที่เดินผ่านไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง เห็นสิ่งนั้นบ้าง เห็นสิ่งนี้บ้าง บางครั้งก็ไม่ได้สังเกต ไม่ได้สนใจสิ่งที่เห็นเลย เกือบจะไม่รู้ด้วยว่าเห็นอะไร ถ้าไปที่มีของขายมากมาย ท่านเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่วางขาย หรือบางอย่างก็ไม่เห็นเลย อาจจะเข้าไปในร้านหนึ่ง แล้วก็มีของขายหลายอย่าง แต่ก็ไม่ได้เห็นทั่วทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นแต่เพียงบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น ในขณะนั้นอาจจะไม่ทราบว่า มีความพอใจในการเห็น ในสิ่งที่เห็นเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท้าวสักกะจอมเทพว่า
ดูกรจอมเทพ ความพอใจมีความตรึกเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด
ความตรึกก็คือการคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พิสูจน์ธรรมได้ว่า เป็นความจริงอย่างนั้นไหมที่บางครั้งเห็นเหมือนไม่เห็น เพราะว่าไม่สนใจ และไม่ได้ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่เวลาที่มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น ขณะนั้นเพราะรู้ในรูปร่างสัณฐาน คือตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง รู้ว่าในขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ปัญญาก็จะต้องรู้ละเอียดจริงๆ คือ พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริง รู้ว่า ในขณะที่เห็นไม่ใช่ในขณะที่คิดถึงรูปร่างสัณฐาน และถ้ายินดีพอใจเกิดขึ้น ลักษณะของความยินดีพอใจนั้นก็เกิด เมื่อมีตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ
ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคต่อไป เพื่อจะรู้ถึงเหตุอันแท้จริงว่า ความตรึกซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความพอใจนั้น ความตรึกนั้นมีอะไรเป็นเหตุ
ท่านผู้ฟังเคยคิดพิจารณาอย่างละเอียดอย่างนี้ไหมคะ ในขณะที่ยินดีพอใจไม่ว่าทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เคยใคร่ครวญถึงเหตุของเหตุที่ทำให้เกิดความพอใจนั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่รู้ ก็ไม่สามารถดับความยินดีพอใจนั้นได้ เพราะไม่รู้เหตุ แม้แต่ท้าวสักกะจอมเทพก็ยังกราบทูลถามว่า ความตรึกมีอะไรเป็นเหตุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรจอมเทพ ความตรึกมีส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรมเป็นเหตุ
สัญญา คือความจำ ปปัญจธรรม คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้าในการเจริญกุศล
เพราะฉะนั้น สัญญา ความจำเกิดกับจิตทุกขณะ ถ้าเกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลสัญญา ถ้าเกิดกับกุศลจิตจึงเป็นกุศลสัญญา ขณะใดที่เกิดร่วมกับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ว่าเที่ยง ขณะนั้นสัญญานั้นก็เป็นอัตตสัญญา นิจจสัญญา สุขสัญญาด้วย เวลาที่เกิดกับสุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนา เมื่อไรจะมีสัญญาที่ไม่ใช่อกุศลสัญญา ที่เป็นอนิจจสัญญา ทุกขสัญญา อนัตตสัญญาตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าสัญญาก็จะต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ถ้าสติไม่เกิด การตรึกก็ตรึกไปในรูปร่างสัณฐาน แล้วก็มีการยึดถือจดจำว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ และสัญญาก็จำอย่างนั้นมาเรื่อยๆ ตราบใดที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น การจะให้เกิดสัญญาที่ถูกต้อง ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล กุศลสัญญาก็จะต้องเกิดกับสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่กำลังปรากฏ พร้อมปัญญาที่ศึกษา เริ่มรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะประจักษ์ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะใด สัญญาในขณะนั้นจึงจำในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นอนัตตาสัญญา และการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็ต้องเพิ่มขึ้นจนกว่าจะประจักษ์อนิจจลักขณะ คือ สภาพธรรมที่ไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อนั้นก็จะเป็นอนิจจสัญญา
เพราะฉะนั้น สัญญาก็มีมาก เมื่อเกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอกุศลสัญญา
ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุตต์ ตติยเทวสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี ฯ
ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลี เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง เมื่อประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเรียบร้อยแล้ว ได้ตรัสทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงเห็นท้าวสักกะจอมเทพหรือพระพุทธเจ้าข้า ฯ
แม้แต่เจ้าลิจฉวีก็ยังสงสัยว่า พระผู้มีพระภาคนั้นสามารถเห็นท้าวสักกะจอมเทพหรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมหาลี อาตมาเห็นท้าวสักกะจอมเทพ ถวายพระพร ฯ
ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ผู้ที่พระองค์ทรงเห็นนั้น จักเป็นรูปเปรียบของท้าวสักกะเป็นแน่ เพราะว่าท้าวสักกะจอมเทพยากที่ใครๆ จะเห็นได้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
ยังไม่มั่นใจในพระปัญญา ในพระญาณของพระผู้มีพระภาคว่า สามารถเห็นท้าวสักกะจอมเทพได้จริงหรือเปล่า
พ. ดูกรมหาลี อาตมารู้จักท้าวสักกะด้วย รู้ธรรมเครื่องกระทำให้เป็นท้าวสักกะด้วย และรู้ถึงธรรมที่ท้าวสักกะได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ เพราะเป็นผู้สมาทานธรรมนั้นด้วย
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์ในกาลก่อน เป็นมาณพชื่อว่า มฆะ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวมฆวา
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ทานมาก่อน เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวปุรินททะ
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ทานโดยเคารพ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสักกะ
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ที่พักอาศัย เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าววาสวะ
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพย่อมทรงคิดเนื้อความได้ตั้งพันโดยครู่เดียว เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสหัสนัยน์
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีนางอสุรกัญญานามว่าสุชาดาเป็นปชาบดี เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่าท้าวสุชัมบดี
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเสวยรัชสมบัติเป็นอิสราธิบดีของทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า เทวานมินทะ ฯ
ท่านผู้ฟังมีหลายชื่อ หรือมีชื่อเดียว ตามคุณธรรมของท่าน บางท่านอาจจะมีหลายชื่อ แล้วแต่ว่าท่านประกอบด้วยคุณธรรมอะไรบ้าง
ข้อความพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ วัตรบท ๗ ประการเป็นไฉน คือ
อันนี้ท่านผู้ฟังจะเทียบได้ว่า ท่านประกอบกุศลธรรมเช่นท้าวสักกะครบถ้วนหรือเปล่า
วัตรบท ๗ ประการเป็นไฉน คือ เราพึงเลี้ยงมารดาบิดาจนตลอดชีวิต ๑ เราพึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต ๑ เราพึงพูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ๑
ท่านที่บอกว่า มีมากกว่าเมื่อกี้นี้ เป็นอย่างนี้หรือเปล่าคะ แต่ว่าความละเอียดของจิต เราพึงพูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ๑ ใครทำได้ กุศลจิตที่จะเกิด ที่จะเป็นผู้อ่อนโยน วิรัติวจีทุจริต ที่เป็นวาจาที่หยาบกระด้าง ทำให้ผู้อื่นไม่สบายใจ แต่ว่าท้าวสักกะได้ประพฤติวัตรบท ๗ ประการ ซึ่งข้อหนึ่งมีว่า เราพึงพูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ๑
ถ้าใครพูดวาจาไม่อ่อนหวาน ให้ทราบได้เลยว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เปลี่ยนได้ แก้ได้ อบรมใหม่ได้ ให้เกิดกุศลได้
เราไม่พึงพูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต ๑ เราพึงมีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทินอยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกจ่ายทานตลอดชีวิต ๑ เราพึงพูดคำสัตย์ตลอดชีวิต ๑ เราไม่พึงโกรธตลอดชีวิต ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราพึงกำจัดมันเสียโดยฉับพลันทีเดียว ๑
ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการนี้บริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการดังนี้ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ ฯ
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
เทวดาชั้นดาวดึงส์กล่าวนรชนผู้เป็นบุคคลเลี้ยงมารดาบิดา มีปรกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อนหวาน กล่าวแต่คำสมานมิตรสหาย ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้นั้นแลว่า เป็นสัปบุรุษ ดังนี้