เห็นตาได้ไหม
อ.อรรณพ เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้คือสีสันวรรณะ ไม่ใช่ตาหรือ
ท่านอาจารย์ ฟังแล้วต้องคิด จะได้เป็นความเข้าใจของตัวเอง เห็นตาหรือไม่ มีตาหรือเปล่า เห็นหรือไม่เห็น กำลังมองตาหรือเปล่า ไม่เห็นหรือ เห็นตาคนอื่นใช่หรือไม่ ถ้าส่องกระจกเห็นตาใคร เห็นไหม ความจริงแล้วธรรมลึกซึ้งกว่านั้นมาก เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เมื่อสักครู่นี้เราบอกแล้วใช่หรือไม่ ว่าสิ่งนั้นไม่รู้อะไร แต่ว่าสามารถที่จะถูกรู้ คือถูกเห็นได้ เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นมากมาย เพราะมีธาตุเห็นเกิดขึ้นเห็น แต่ตัวตาคือจักขุปสาทรูป ไม่ใช่ตาทั้งหมด สีขาว สีดำสองข้าง แต่หมายความถึงธาตุชนิดหนึ่ง จักขุธาตุหมายความถึง ธาตุที่ใครก็มองไม่เห็น เพราะถ้าเห็นเมื่อไร ก็เห็นแต่เพียงสีสันวรรณะของสิ่งนั้น แต่ตัวธาตุซึ่งสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้นตรงนั้น ไม่ใช่เห็นตรงอื่นเลย
ธรรมเป็นเรื่องที่กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่เผิน ว่าเราไปจำมาแล้วกี่คำ อยู่หน้านั้น เล่มนี้ แต่อยู่ที่ความเข้าใจจริงๆ ว่าที่กาย มีกายทุกคนใช่หรือไม่ กระทบแข็ง เพราะมีกายปสาทรูป ที่ไม่ใช่แข็ง แต่ว่าถ้าไม่มีกายปสาทที่จะกระทบแข็ง จิตที่เกิดขึ้นรู้ ก็เกิดไม่ได้ แม้แต่การที่จะรู้แข็งนิดเดียว ก็จะต้องมีสภาพ ซึ่งมีธาตุที่สามารถกระทบกับแข็ง ซึ่งเป็นรูปพิเศษ รูปพิเศษมีจักขุปสาทรูปหนึ่ง กระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา อยู่กลางตา แต่มองไม่เห็น ไม่มีใครสามารถจะเห็นจักขุปสาทรูปเลย โสตปสาทรูปไม่ใช่ใบหู หรือช่องหูทั้งหมด ที่เรามองเห็นได้ ที่เรามองเห็นได้ ไม่ใช่ตัวปสาทรูปที่กระทบ แต่เป็นสีสันวรรณะ ซึ่งมีอยู่ในทุกรูป ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่ที่ไหน ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นสีสันวรรณะต่างๆ แต่ตัวจักขุปสาทรูปเห็นไม่ได้เลย โสตปสาทรูปก็เห็นไม่ได้ แต่มีแน่ๆ จมูกก็เป็นรูปพิเศษใช่หรือไม่ สามารถกระทบกับกลิ่น ลิ้นก็เป็นรูปพิเศษ ที่สามารถกระทบกับรส ไม่ใช่ลิ้นทั้งหมดเลย แต่เป็นตัวลิ้นที่เป็นชิวหาปสาทรูป ชิวหาแปลว่าลิ้น เราก็พูดบ่อยๆ ใช่หรือไม่ ลิ้น ก็มีคำว่าชิวหาคือลิ้น แต่เป็นปสาท รูปพิเศษที่สามารถกระทบ ซึ่งมองไม่เห็น ไม่ใช่ลิ้นทั้งหมดเลย ตรงไหนที่กระทบรส ตรงนั้นแหละเป็นชิวหาปสาทรูป ตรงไหนที่กระทบกลิ่น ภาษาบาลีอีกหน่อยหนึ่งก็คือฆานปสาทรูป ไม่ต้องจำก็ได้ เพียงแต่ว่ารูปตา รูปหู รูปจมูก รูปลิ้น รูปกาย แต่ใช้คำว่าปสาท ปสาทแปลว่าใส สามารถกระทบ อุปมาเหมือนกระจก อะไรผ่านก็กระทบ เห็นได้ ถ้าเป็นไม้ธรรมดา ไปยืนสักเท่าไรก็ไม่เห็น ใช่หรือไม่ ว่ารูปร่างสัณฐานในนั้นเป็นอย่างไร ปสาทก็เป็นรูปพิเศษ ที่ใช้คำว่าปสาทคือ พิเศษที่สามารถกระทบกับรูป เฉพาะทาง จักขุปสาทกระทบได้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา โสตปสาทรูปสามารถกระทบได้เฉพาะเสียง ถ้าไม่มีโสตปสาท เสียงไม่ปรากฏเลย หูหนวก ที่เราใช้คำว่าหูหนวก เพราะว่าไม่มีปสาทที่กระทบเสียง ที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นได้ยิน ตรงนั้น การศึกษาธรรมแต่ละคำก็ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ โดยไม่เผิน แม้แต่ชื่อของรูปต่างๆ ก็ต้องชัดเจน ว่าแต่ละชื่อเป็นแต่ละธรรม เช่นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เห็นแข็งหรือไม่ คือคิด เห็นแข็งหรือไม่
ถ้าเข้าใจธรรมแต่ละคำ มั่นคงเห็น แข็งไม่ได้เลย เห็นสิ่งที่เราบอกว่า น้ำแข็ง ใช่หรือไม่ ก้อนอิฐ ลักษณะที่แข็งไม่ได้ปรากฏ เพียงสีสันวรรณะที่มีอยู่ตรงนั้น ที่สามารถกระทบตา ทำให้รู้ว่าจำได้ว่า ถ้ากระทบแล้วแข็ง แต่ละทาง เป็นแต่ละโลก ไม่ใช่เราเลย เพราะฉะนั้นเราคิดว่าโลกนี้กว้างใหญ่ไพศาลมาก มีตั้งหลายโลก โลกพระจันทร์ โลกพระอาทิตย์ ดาวอังคาร พฤหัสอะไรต่างๆ แต่ถ้าไม่มีธรรม คือสิ่งที่มีจริงแต่ละอย่างเกิดขึ้น อะไรๆ ก็ไม่มี ไม่มีรูปธาตุเกิดขึ้น รูปธาตุไม่ใช่นามธาตุ แต่นามธาตุคือจิต และเจตสิก สามารถที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วยังคิดนึก แล้วยังจำ แล้วยังคิดต่อๆ ไป จนปรากฏเป็นโลกที่น่าอัศจรรย์สำหรับชาวโลก จากการที่ไม่เคยมีไฟฟ้า ก็มีไฟฟ้า ไม่มีรถ ก็เริ่มมีรถจักรยาน มีรถยนต์ มีรถไฟ เพราะแต่ละหนึ่งขณะ สะสมไปที่จะคิดละเอียดขึ้น จนกระทั่งเป็นความที่หลายคนบอกว่า เป็นความน่าอัศจรรย์ของวิทยาการสมัยใหม่ เช่นคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ใช่หรือไม่
แต่ทั้งหมดเป็นธรรม แต่ไม่รู้ความจริง เพราะนักปราชญ์ใดๆ นักวิทยาศาสตร์ใดๆ ใครที่แสนเก่งโลกไหนก็ตาม ไม่สามารถจะเปรียบกับพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงตรัสรู้ สิ่งที่ถูกปกปิดไว้มานานมาก ว่าแท้ที่จริงแล้ว มีจิต ธาตุรู้ ที่กำลังรู้ทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าไม่มีธาตุรู้ ก็ไม่เป็นคน เป็นสัตว์ และจิต ก็ต้องมีเจตสิก อาศัยการเกิดขึ้นปรุงแต่ง หลากหลายมาก เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวรัก เดี๋ยวชัง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ ไปจนกระทั่งตายจากโลกนี้ไป ก็ยังไม่หมด มีเหตุที่จะต้องให้เกิด เหมือนเมื่อสักครู่นี้ ดับแล้วแต่ก็มีเหตุให้เกิดขณะต่อไป สืบต่อ ไม่มีระหว่างคั่นเลย ที่ใช้คำว่าสังสารวัฏฏ์ ก็คือ การเกิดดับสืบต่อ ไม่หยุด ตอนหลับมีจิตเห็นอะไรหรือไม่ ถามว่าเห็น เห็นกับฝันไม่เหมือนกัน ไม่ใช่หรือ คือสิ่งที่มีจริง ซึ่งเราสามารถที่จะเข้าใจได้ จากการเริ่มเข้าใจธรรมทีละคำ อย่างมั่นคงขึ้น ไม่ใช่รีบร้อนหลายๆ คำ แต่ทุกคำต้องค่อยๆ ละเอียด ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น
แม้หลับก็มีธาตุรู้ แต่ไม่ใช่รู้ทางตาคือเห็น ไม่ใช่รู้ทางหู ไม่ใช่รู้ทางจมูก ไม่ใช่รู้ทางลิ้น ไม่ใช่รู้ทางกาย ไม่ใช่รู้ทางใจ คือไม่คิดนึกด้วย ตอนเกิดฉันใด ตอนหลับก็ฉันนั้น หนึ่งขณะจิตแรกที่เกิด ขณะเดียวสั้นแค่ไหน ถ้าจะเปรียบกับขณะนี้ว่า ประมาณไม่ได้เลย ว่าจิตเกิดดับเร็วมากมายแค่ไหน เพียงหนึ่งขณะแรกที่เกิด โลกไม่ปรากฏ เพราะว่าโลกจะปรากฏต่อเมื่อมีทาง เช่นมีตาเป็นปัจจัย ให้รู้สิ่งที่กระทบตา แล้วเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็คิดถึงสิ่งนั้น โลกก็มีแค่ ๖ แต่ว่าวุ่นวายมากมายมหาศาล เพราะไม่รู้ ปะปนกันหมดเลย จนกระทั่งเป็นเรา เป็นเขา เป็นอะไรต่างๆ แต่ถ้ารู้ตามความจริงก็คือว่า ไม่ใช่เรา คนที่ฟังธรรม ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดว่า ไม่ใช่เรา เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย มิฉะนั้นจะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนนี้ไม่เห็นตา เห็นอะไร เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ มั่นคง ไม่ว่าในความมืดหรือความสว่าง อย่างไรก็ตามแต่ โลกไหนที่ไหน ในน้ำ บนบก อย่างไร เห็นก็ต้องเห็นสิ่งที่กระทบตา และปรากฏให้เห็นได้