คำจริงไม่วิวาท


        อ.อรรณพ คำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงจะไม่วิวาทกับใครทั้งสิ้น แต่คำไม่จริงไม่ตรงตามสภาพธรรม เป็นวิวาทะ


        ท่านอาจารย์ วิวาทกันอยู่แล้วทั้งนั้นเลย ใช่หรือไม่ พูดคำจริง ไม่ได้วิวาทกับใครเลย ไม่ว่าใครจะไปวิวาทกับใคร เรื่องอะไร ต่างคนต่างวิวาทกัน ก็เป็นคำที่เขาพูดกัน ที่ไม่ตรงกัน แต่ว่าถ้าพูดความจริงก็คือว่า ไม่ต้องไปยุ่งกับใคร เขาวิวาทก็วิวาทไป แต่พูดคำจริงเท่านั้นเอง ประโยชน์อยู่ที่การพูดคำจริง ความจริง ให้คนได้มีความเห็นที่ถูกต้อง แล้วคำจริงของความจริง ไม่ทะเลาะกับใคร ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงทะเลาะกับใครเลย เพราะทุกคำเป็นความจริง

        อ.สงบ จะทราบได้อย่างไรว่า อะไรคือจริง อะไรคือไม่จริง

        ท่านอาจารย์ เห็น จริงหรือไม่

        อ.สงบ จริง

        ท่านอาจารย์ ได้ยิน จริงหรือไม่

        อ.สงบ จริง

        ท่านอาจารย์ เห็นเกิดแล้วดับ จริงหรือไม่

        อ.สงบ ใช่

        ท่านอาจารย์ ก็จริง ไม่ใช่เรา

        อ.สงบ ต้องรู้ได้ด้วยการฟัง

        ท่านอาจารย์ ฟังแล้วต้องคิด และต้องไตร่ตรอง แล้วต้องตรง ที่สำคัญที่สุดคือต้องตรง

        อ.สงบ ไม่ตรงคืออย่างไร

        ท่านอาจารย์ ไม่ตรงก็ไม่จริง

        อ.สงบ ไม่จริง ไม่ตรง

        ท่านอาจารย์ พระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้ คือพระศาสดา หมายความว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

        อ.สงบ ถ้าเราศึกษาก็จะรู้ว่า ไม่ตรงเยอะหรือไม่

        ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าศึกษาให้เข้าใจในความถูกต้องแล้ว ก็รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก และการที่เข้าใจก็ไม่ได้ไปวิวาทกับใคร เพราะว่าพูดแต่คำจริง ให้เขาเข้าใจให้ถูกต้อง แล้วจะไปวิวาทอะไร

        อ.สงบ บางทีถ้าพูดความจริงเขาอาจจะวิวาทกับเราก็ได้ ถ้าเขาไม่รู้ความจริง

        ท่านอาจารย์ ถ้าคำจริง ความจริง คนฟัง ไม่ว่าใครพิสูจน์ได้ ไม่ใช่เชื่อข้างหนึ่งข้างใด

        อ.สงบ พิสูจน์อย่างไร

        ท่านอาจารย์ เห็น มีจริงหรือไม่

        อ.สงบ เห็นมีจริง พิสูจน์ด้วยการศึกษา

        ท่านอาจารย์ แน่นอน และสภาพธรรมก็มีจริงๆ ให้ปรากฏ ในพระไตรปิฎกทั้งหมด เป็นเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลภะ โทสะ สุข ทุกข์ ทุกอย่างในชีวิตประจำวันทั้งหมด แต่ถูกปกปิดไว้ ไม่มีใครรู้เลยสักนิดเดียว จนกว่าการตรัสรู้ จะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีขณะนี้ เหมือนยั่งยืน เหมือนเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ ที่มั่นคง แต่ตามความจริง หนึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับ แต่มารวมกัน และก็เกิดดับเร็ว จนกระทั่งหลงเข้าใจผิด ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จริงหรือไม่ ถ้าจริงมีใครที่จะไปวิวาทหรือไม่

        อ.สงบ ไม่วิวาท แล้วอะไรปกปิดไว้

        ท่านอาจารย์ ความไม่รู้

        อ.สงบ ไม่รู้ว่า

        ท่านอาจารย์ ไม่รู้ว่า ขณะนี้เห็นเกิดดับ

        อ.สงบ ฟังเหมือนจะรู้ แต่ว่าก็ยังวิวาทอยู่

        ท่านอาจารย์ แค่เข้าใจว่าเห็นมี และเห็นต้องเกิด ถ้าเห็นไม่เกิดก็ไม่มีเห็น แต่เห็นก็ไม่ได้ยั่งยืนตลอดไป ดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ นี่ไม่รู้จึงต้องฟัง เพื่อจะได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ว่าจริงหรือไม่

        อ.อรรณพ วาทะสองวาทะนี้ วาทะแรกก็คือ เห็นเป็นเห็น ไม่ใช่เรา กับอีกคำพูดหนึ่ง อีกวาทะหนึ่งว่าเป็นเราที่เห็น สองวาทะนี้เป็นวิวาทะกัน

        ท่านอาจารย์ ตรงกันหรือไม่

        อ.อรรณพ ไม่ตรงกัน

        ท่านอาจารย์ ไม่ตรง ก็วิวาทะต่างกัน

        อ.อรรณพ แต่วาทะที่ถูกต้องตรงก็คือ เห็นเป็นเห็น ไม่ใช่เรา

        ท่านอาจารย์ ใครจะเห็นเป็นอย่างอื่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงทะเลาะกับใคร ไม่วิวาทกับใคร เพราะว่าเห็นเป็นเห็นจริงๆ เห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วเห็นก็ไม่ใช่ของใคร จะไปวิวาทกับใคร

        อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นคำจริง ก็ไม่ใช่วิวาทะ

        ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงวิวาทกับใคร แต่คนที่เห็นต่างกับความเป็นจริงทั้งหมด ทะเลาะวิวาทกับคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะต่างกับคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงไว้แล้ว

        อ.อรรณพ ข้อความหนึ่งในพระไตรปิฎก ซึ่งถ้าผิวเผิน ก็จะคิดไปอีกอย่างหนึ่ง จากในขุททธกนิกาย อปาทาน ว่าท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาทโดยเป็นภัย และเห็นความไม่วิวาท โดยเป็นความเกษม จงสมัครสมานกัน กล่าววาจาอ่อนหวานแก่กัน นี้เป็นอนุสาสนีของพระพุทธเจ้า ถ้าฟังแค่นี้ ถ้าผิวเผินเราก็คิดว่า อย่ามาวิพากษ์วิจารณ์ มาทะเลาะเบาะแว้งอะไรกันเลย จงสมัครสมานสามัคคีกัน แล้วกล่าววาจาอ่อนหวานต่อกัน แค่นี้พอ แต่ถ้าเป็นความตรงตามพระธรรม ข้อความนี้จะมีความหมายอย่างไร

        ท่านอาจารย์ ทีละประโยค

        อ.อรรณพ ท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาท โดยเป็นภัย

        ท่านอาจารย์ จริงหรือไม่

        อ.อรรณพ ความวิวาทเป็นภัยอย่างไร

        ท่านอาจารย์ ก็ไม่จริง ถึงได้วิวาทกัน เห็นเกิดขึ้น และเห็นดับไป ไปวิวาทกับใครหรือไม่

        อ.อรรณพ ไม่วิวาท

        ท่านอาจารย์ เพราะจริงใช่หรือไม่

        อ.อรรณพ ใช่

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรที่ไม่จริง ก็วิวาทกันไป เป็นฉัน เป็นเรา ทำอย่างนี้ก็ได้ ทำอย่างนั้นก็ได้

        อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นถ้ามีวาทะจับความเห็นว่า มีเราที่ต้องไปจดจ้องทำจริงๆ

        ท่านอาจารย์ วาทะที่ต่างกับความจริง เป็นวิวาทะ คำใดก็ตามที่ต่างกับความจริง คำนั้นเป็นวิวาทะ

        อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นคำที่เป็นวิวาทะ คือคำที่ต่างความจริง ตรงข้ามความจริง จะเป็นภัยอย่างไรบ้าง

        ท่านอาจารย์ ใครพูด ใครคิด คนนั่นแหละก็กำลังวิวาทกับความจริง ความจริง คำจริง ไม่ได้วิวาทะ ไม่วิวาทกับใครเลย เพราะเป็นสิ่งที่จริง ใครจะปฏิเสธได้ แต่ที่ไม่จริงก็วิวาทกันไป เพราะไม่จริง ถ้าไม่จริง หมายความว่าไม่ใช่จริง ก็ต้องเป็นภัย ใครว่าความไม่จริง ไม่เป็นภัยบ้าง

        อ.อรรณพ ความไม่จริง เป็นภัยอย่างไรบ้าง

        ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเห็น เป็นเราหรือว่าเป็นธรรม

        อ.อรรณพ เป็นธรรม แต่ถ้าคนที่เข้าใจผิด ก็คิดว่าเป็นเราที่เห็น

        ท่านอาจารย์ เป็นภัยหรือไม่ ที่เข้าใจผิดว่าเป็นเรา ถ้าไม่เป็นภัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ที่จะทรงตรัสรู้ความจริง ว่าไม่มีเรา

        อ.อรรณพ ถ้ามีความเห็น ยึดมั่นว่าเป็นเราที่เห็น หรือว่าการเห็นนั้นเป็นเรา จะเป็นภัยอย่างไร

        ท่านอาจารย์ เป็นภัยคืออยากฉลาด อยากเก่ง อยากมีปัญญา ไม่อยากมีโลภะ ไม่อยากมีโทสะ ไม่อยากมีทุกข์ ไม่อยากเดือดร้อน และเป็นไปได้หรือไม่

        อ.อรรณพ เป็นไปไม่ได้

        ท่านอาจารย์ นั่นเป็นภัยหรือไม่ เมื่อเป็นไปไม่ได้ ก็เข้าใจผิด คิดว่าจะทำให้เป็นไปได้ เราไปคิดว่าวิวาทะเป็นคนนั้นคนนี้ แต่วิวาทะเป็นคำต่าง กับความจริง

        อ.อรรณพ และเห็นความไม่วิวาท โดยเป็นความเกษม ความไม่วิวาทจะเป็นความเกษม หมายความว่าอย่างไร

        ท่านอาจารย์ เห็นเกิดดับจริง ไม่ได้ไปวิวาท ไม่ได้มีวาทะต่างจากนี้ เกษมหรือไม่ ที่วันนึงก็สามารถที่จะดับกิเลสได้ ดับทุกข์ทั้งปวงได้ ถ้าทุกคนเข้าใจถูกต้อง มั่นคง เห็นขณะนี้เกิดแล้วดับ ไม่ใช่เรา สิ่งที่เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย ว่างเปล่าจากก่อนเกิดไม่มี พอเกิดก็มี เกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีก ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงอย่างนี้ จะเกษมหรือไม่ คือไม่หลงติดในสิ่ง ซึ่งไม่มี

        อ.อรรณพ จงสมัครสมานกัน กล่าววาจาอ่อนหวานแก่กัน

        ท่านอาจารย์ วาจาอ่อนหวานเป็นกุศล และอกุศล อ่อนหวานด้วยเมตตากับอ่อนหวานด้วยโลภะ เหมือนกันหรือไม่

        อ.อรรณพ ไม่เหมือน

        ท่านอาจารย์ วาทะถ้าคิดว่าอ่อนหวานเป็นกุศลทั้งหมด ก็ไม่ได้ หรือเป็นอกุศลทั้งหมด ก็ไม่ได้ ต้องศึกษาธรรมให้เข้าใจแต่ละคำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประมาทไม่ได้เลย ไม่ใช่หมายความว่า ใครอ่านเอง คิดเอง เข้าใจเอง รู้ใจ รู้ปัญญา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปหมด อย่างนั้นได้หรือ แต่ละคำลึกซึ้งที่สุด ที่จะต้องไตร่ตรองจริงๆ ถูกต้องเป็นถูก ถ้าถูกแล้วจะเข้าใจผิดอย่างนั้นไม่ได้ ว่าจงถ้อยคำอ่อนหวานหรืออะไรอย่างนั้น

        อ.อรรณพ สมัครสมานกัน และก็กล่าววาจาอ่อนหวานกัน ที่เป็นอนุสาสนีของพระพุทธเจ้า มีความลึกซึ้งอย่างไร

        ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นฝ่ายกุศลทั้งหมด ถ้าคนใจดี พูดร้ายๆ ได้หรือไม่ กำลังสงสารเขา น่าจะไปดุว่าเขาหรือไม่

        อ.อรรณพ ก็ไม่ทำ ไม่พูด สมัครสมานกันด้วยกุศล

        ท่านอาจารย์ ด้วยกุศล ต้องไม่ลืม

        อ.อรรณพ แล้วก็กล่าววาจาอ่อนหวานกัน ก็ต้องด้วยกุศล

        ท่านอาจารย์ เมตตา

        อ.กุลวิไล เพราะคำพูดที่เป็นสุภาษิต ท่านถึงแสดงว่าต้องเป็นคำจริง แล้วก็มีประโยชน์ ถูกกาละ แล้วที่สำคัญวาจานั้นไพเราะอ่อนหวาน สุดท้ายต้องประกอบด้วยเมตตาจิต

        อ.อรรณพ ไม่ใช่อ่อนหวาน แบบประจบประแจงกันไป นั่นก็คือความเป็นโลภะ คือความเป็นอกุศลที่ไม่ตรง


    หมายเลข 11461
    12 มี.ค. 2567