ไวในกุศล
อ.อรรณพ การที่กุศลจะมีโอกาสเกิดได้บ่อยขึ้น ก็เพราะปัญญาเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลเพิ่มขึ้น
อ.อรรณพ ท่านอาจารย์กล่าวว่า ไวในกุศล แต่ทุกวันนี้ ไวในอกุศล
ท่านอาจารย์ แล้วจะแก้อย่างไร หรือจะปล่อยไป ก็มีผู้ที่มีปัญญาจะปล่อยให้เป็นเหมือนเดิม ไม่แก้ไขอะไร หรือรู้โทษ เห็นโทษว่าโทษนั้นไม่ได้เป็นของคนอื่นเลยทั้งสิ้น เป็นของตัวเองทั้งนั้น ยังจะเพิ่มโทษให้ตัวเองทุกวันหรือ
อ.อรรณพ ความเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้ค่อยๆ ไวในกุศลขึ้นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่มีเรา ใช่หรือไม่ ถ้าลองดูว่า ถ้าไม่มีเรา ไม่เดือดร้อน ไม่มีเรา แล้วยังเป็นธรรมที่เกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ แล้วไม่กลับมาอีกเลย คิดดู เมื่อไหร่ปัญญาจะเป็นผู้ที่ไม่ลืม เพราะว่าเป็นปกติที่รู้ความจริง ว่าเป็นธรรมที่เกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ ไม่เหลือเลยสักอย่าง แต่ละคน ทั้งเขา ทั้งเรา แล้วจะโกรธอันไหน ดับหมดแล้วทั้งนั้น ใช่หรือไม่ ก็ย่อมขึ้นอยู่กับปัญญา แต่ละหนึ่งก็เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ แม้ฟังธรรมด้วยกัน จะมีจิตที่อ่อนโยน แล้วก็เห็นประโยชน์ของการที่ไม่สะสมกิเลสมากๆ อย่างเดิม เหมือนเดิม เพราะรู้ว่าเอาไปทำไม เป็นโทษกับตัวเอง ไปนรกแน่ๆ ไม่พ้นจากนรกเลย จนกว่าจะเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง ว่าไม่ใช่เราจริงๆ ในขณะนี้เอง
เพราะขณะนี้เราพูดได้ ใครก็พูดได้ ทุกอย่างในขณะนี้เป็นธรรมใครไม่รู้บ้าง คำนี้ได้ยินบ่อย พูดก็ได้ ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ว่าความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่พูด กว่าสิ่งที่ได้พูดแล้ว ได้ฟังแล้ว ได้เข้าใจแล้ว จะปรากฏว่าทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ อีกนานหรือไม่ ขณะนี้ทำไมสภาวะของธรรม ซึ่งเราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แข็ง มีลักษณะเฉพาะตน สภาวะแข็ง เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เห็นเดี๋ยวนี้ก็สภาวะของธาตุที่เกิดขึ้น รู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่สามารถที่จะได้ยินได้ กว่าจะรู้ว่าสภาวะของเห็นกับสภาวะของได้ยิน แต่ละหนึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เราเลย เพราะภาวะของสิ่งนั้นต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่หมายความว่ากระทบนิดหน่อย รู้แล้ว นี่เป็นธรรม ไม่ใช่เรา นั่นไม่ถูกต้องเลย เป็นความไม่รู้ เพราะขณะนั้นเราต่างหากที่กำลังคิด เราต่างหากที่กำลังพอใจ หรือไม่พอใจ สุข และทุกข์ สังขารขันธ์ เวทนาขันธ์ รูปขันธ์ วิญญาณขันธ์ ทั้งหมดก็ไม่รู้เลย การฟังธรรมก็เป็นผู้ที่ เมื่อความไม่รู้ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ หนทางเดียวก็คือว่าเข้าใจธรรม ก็แล้วแต่จะมีปัจจัยที่จะรู้ประโยชน์แค่ไหน
อ.อรรณพ ในเรื่องไวในกุศล กราบเรียนว่าการที่จะไว้ในกุศลจากพื้นฐานเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา มีความละเอียดต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เห็นโทษของอกุศลก็ไม่ไว ไวหรือไม่ แค่ไหน ระยะใกล้ ระยะไกล ห่างหรือชิดกัน คำว่าเห็นโทษของอกุศล ฟังตั้งนานโกรธไปแล้วตั้งนาน เพิ่งจะเห็นโทษของอกุศล กับการที่สามารถที่จะเห็นได้เร็วกว่านั้น ด้วยสติ ด้วยปัญญา ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความหมายที่ลึกซึ้ง และละเอียด และเป็นความจริง ซึ่งถ้าไม่กล่าวให้คนอื่นได้รู้ว่าอกุศลก็มีหลายระดับ หรือแม้แต่การเข้าใจธรรมของแต่ละคนๆ ก็ต่างกันไป จะใกล้ชิดต่อการที่ว่าเป็นคนดี แต่ว่าไม่ได้เข้าใจว่าไม่ใช่เรา หรือว่าเป็นคนดี และรู้ด้วยว่าขณะนั้นเป็นธรรม ถึงแม้ว่าจะรู้ช้า แต่ก็ยังรู้ แล้วก็ค่อยๆ เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นหนทางไว ไม่ใช่ไปเร่งรัดอย่างอื่นเลย แต่เพราะปัญญาเพิ่มขึ้น
อ.อรรณพ เหมือนกับพระธรรม เตือนกระชั้นขึ้น ที่จะค่อยๆ รู้ แต่ก็ยังไม่ใช่แบบรวดเร็ว
ท่านอาจารย์ คิดถึงผู้ที่สามารถดับกิเลสหมด เป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องรออะไรเลยใช่หรือไม่ ไม่ต้องค่อยห่าง แล้วก็ค่อยๆ ใกล้ๆ แล้วก็ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ละเพราะว่าไม่มีเชื้อของกิเลสใดๆ ที่จะเกิดเลยทั้งสิ้น เห็นความห่างไกลหรือไม่ การเริ่มฟังธรรม กว่าจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ กว่าธรรมจะเกิดขึ้นแล้วก็รู้ว่าไม่ใช่เรา จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เพียงหนึ่ง ทั้งหมดเป็นสภาวธรรม แต่ละหนึ่งที่ไม่เคยปรากฏเลย เห็นเดี๋ยวนี้ก็มี คิดเดี๋ยวนี้ก็มี รูปต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นก็มี ที่กำลังกระทบสัมผัสก็มี เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ภาวะของความเป็นธรรมไม่ได้ปรากฏ เพราะว่าถูกปิดบัง ปกคลุม หนาแน่นด้วยการยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
กว่าที่ค่อยๆ ทีละหนึ่ง โดยความเป็นอนัตตา อดทนหรือไม่ เห็นประโยชน์เท่าไหร่ ก็อดทนได้ เป็นประโยชน์จริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่สามารถจะเป็นไปได้ ผู้ที่ได้เป็นไปแล้วมากมาย ที่เป็นตัวอย่าง และพระธรรม ธรรมเตชะแต่ละคำ สามารถที่จะทำให้คนฟัง ที่ไตร่ตรอง และเข้าใจได้ถึงการที่จะรู้ธรรมในขณะนั้น จนกระทั่งขณะที่เดี๋ยวนี้ ต้องเป็นธรรมทั้งหมดก่อน ก่อนที่สภาพธรรมจะปรากฏยิ่งกว่านั้น ความอดทนของคนที่ยังไม่ได้ถึงการที่จะเป็นปัญญาระดับที่กล่าวไว้เลยว่า เป็นความอดทนอย่างอ่อน หรือความอดทนอย่างกลาง หรือความอดทนอย่างกล้า สำหรับผู้ที่ถึงวิปัสสนาญาณแล้ว ยังห่างไกลกันมาก แต่ก็เป็นโอกาสในสังสารวัฏ ที่มีโอกาสจะได้ฟังคำ และก็เข้าใจเลย ว่ายังไง ๔ อสงไขยแสนกัป หรือว่าแสนกัป ไม่มีการจำกัดเลย ไม่มีการหวัง ไม่มีการรอคอย เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นเรื่องของธรรมเท่านั้นทั้งหมด แล้วแต่ว่าจะเป็นธรรมประเภทใด