ไม่มีการยกเว้นสิกขาบทให้ *
อ.คำปั่น ความประพฤติใดก็ตามที่ไม่เหมาะ ไม่ควรทั้งหมด ไม่ควรในเพศบรรพชิต เพราะว่าเป็นเพศที่ขัดเกลาอย่างยิ่ง ได้เห็นถึงความสำคัญ ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง พระภิกษุคือผู้ที่มีความละอาย ละอายยิ่งกว่าชีวิตของคฤหัสถ์ จึงสละชีวิตคฤหัสถ์ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง แล้วจะมามีความประพฤติเหมือนอย่างคฤหัสถ์ได้อย่างไร ก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่งเลย
อ.อรรณพ ถ้ามีภิกษุที่อาจจะมีการรักษาสิกขาบทหลักๆ ไว้บ้าง และสิกขาบทเล็กน้อย ก็อาจจะมีการผิดพลาดไปบ้าง อะไรบ้าง ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบทั้งหมดเลย พอจะได้ไหม
ท่านอาจารย์ ใครเว้นให้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติสิกขาบททุกข้อด้วยพระองค์เอง ใครเว้นให้ได้ ว่าข้อนี้ไม่ต้องทำ ข้อนั้นไม่ต้องทำ ใครจะเว้นให้ ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ แล้วก็มีความเคารพในเพศภิกษุจริงๆ ก็รู้ว่าตนเองสามารถที่จะดำรงเพศภิกษุต่อไปได้ไหม จะให้โทษกับตนเองหรือ เพราะโทษนั้นหนักมาก แล้วก็กั้นสวรรค์ นิพพานด้วย ถ้าอาบัติแล้วไม่ปลงอาบัติ แล้วก็ถ้าไม่ปลงอาบัติ กรรมใดที่ทำไว้ ที่จะทำให้ถึงการไปสู่อบายภูมิ ก็ไม่มีอะไรจะกั้นเลย โดยเฉพาะการไม่เคารพในความเป็นเพศบรรพชิต ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ตรง ต่อการที่จะรับทุกสิ่งทุกอย่างจากคฤหัสถ์ โดยฐานะที่เขาให้ด้วยความเคารพ และก็คิดว่าเป็นผู้ที่นำประโยชน์มาให้ เพราะฉะนั้นก็ต้องประพฤติให้ตรง ใช่ไหม เป็นผู้ที่ทำความดีในเพราะการขอ เพราะว่าภิกษุ ถึงไม่ขอด้วยปาก ก็เหมือนขอ บิณฑบาต ไม่เอ่ยเลยซักคำ แต่ว่าผู้เห็นอาการสงบ แล้วก็รู้ว่า บาตร สำหรับอะไร ก็ต้องสำหรับอาหาร
เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่สงบ แม้แต่ในการขอ ได้มาแล้ว คิดถึงไหมว่า คนให้มีจิตที่เป็นกุศล ระลึกถึงผู้ที่ไม่มีอาหาร และที่จะทำความดี กับการที่รู้ว่า ผู้นั้นจะทำความดี แล้วก็ให้สิ่งที่ดี ให้อาหารเพื่อจะได้มีชีวิตต่อไป เพราะฉะนั้นมีชีวิตต่อไปเพื่อทำความดี ไม่ใช่มีชีวิตต่อไปอย่างอื่นเลย ทำความดี ในเพราะการขอด้วย เพราะว่ามีชีวิตอยู่จากการให้ของบุคคลอื่น
เพราะฉะนั้นธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ไม่ใช่ใครสามารถที่จะบังคับกิเลสได้ หรือว่าจะทำความดี ด้วยความเป็นตัวตนที่มุ่งจะทำความดี แต่ไม่ได้เข้าใจถูกต้องเลยว่า ขณะนั้นดีหรือเปล่า เพราะฉะนั้นบางภิกษุ ก็คิดว่าตามที่ได้ยินได้ฟังมาก็มีคนบอกว่า รับเงินมาแล้วก็ให้คนอื่น นั่นไม่ใช่ความดี รับนั่นแหละเป็นโทษแล้ว ต้องมีความเข้าใจ ความละเอียดของความต่างกัน ของเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต เพื่อประโยชน์ตนในการที่จะไม่ละเมิดพระวินัย ในการที่จะทำสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งไม่เป็นไปตามที่มีผู้ที่ให้ เพื่อที่จะทำความดี
อ.คำปั่น ในประเด็นที่ว่า พระภิกษุรับเงินแล้วเอาไปให้ผู้อื่น หรือว่าเอาไปช่วยสังคม ในประเด็นนี้ อาจารย์จักรกฤษณ์ก็ได้เขียนในหนังสือเล่มใหม่ ก็คือ ภิกษุลามก อุบาสกจัณฑาล บริษัทดื้อด้าน วิกฤตพระพุทธศาสนา มีอยู่ตอนหนึ่งที่อาจารย์ได้กล่าวถึงตรงนี้ ก็เป็นข้อเปรียบเทียบได้ดีมากเลยว่า การที่พระภิกษุรับเงิน แล้วไปช่วยคนอื่น ส่วนใหญ่ก็บอกว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะไม่ได้เข้าใจพระธรรมวินัย ทางที่ถูกแล้ว ถ้าพระภิกษุจะช่วยเหลือสังคมในวิสัยของคฤหัสถ์ ต้องไม่เป็นพระภิกษุ ต้องลาสิกขา ถึงจะทำในสิ่งนั้น เป็นไปตามชีวิตของคฤหัสถ์ได้ ในทำนองเดียวกัน กับการที่เป็นโจร แล้วไปปล้นคนรวย เอามาช่วยเหลือคนจน คนก็บอกว่าเป็นสิ่งที่ดี ส่วนใหญ่เพราะไม่รู้ ทางที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร ควรที่จะเป็นว่า คนที่เคยเป็นโจร เลิกเป็นโจร แล้วมาช่วยเหลือคนอื่น ช่วยกันทำมาหากินในทางที่สุจริต ชอบธรรม นั่นแหละจึงจะเป็นประโยชน์