รู้โดยวิญญาณ สัญญา และปัญญา
ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ และท่านอาจารย์วิทยากรทุกท่าน ท่านอาจารย์คะ คือ ยังมีข้อสงสัยเรื่องของ รู้แจ้ง แล้วรู้ด้วยสัญญา รู้ด้วยปัญญา
ท่านอาจารย์ ถามว่า เดี๋ยวนี้อะไร
ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ ก็มีเห็น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นมีจริงๆ ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ เห็น รู้หรือเปล่า รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้เอง รู้แค่นี้ ใช่ไหม นั่นคือ เห็น ไม่ว่าจะเห็นอะไร ก็รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น ถูกต้องไหม แล้วขณะที่จำ สิ่งที่ปรากฏ มีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจำ ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นี่คือความละเอียดอย่างยิ่งของธรรม ซึ่งมีประเภทที่ต่างกันสองอย่าง อย่างหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย รูปธรรม ไม่ยากที่จะเข้าใจ ใช่ไหม สภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ กลิ่นไม่รู้อะไร เสียงไม่รู้อะไร แข็งไม่รู้อะไร หวาน ไม่รู้อะไร ทั้งหมดนี้เกิดแล้วปรากฏ รู้หรือเปล่าว่า เพียงแค่ปรากฏก็ดับแล้ว
นี่คือสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเจ้าทรงประจักษ์แจ้ง แต่ว่าผู้ที่ไม่ได้มีปัญญา ความเข้าใจถูก เริ่มตั้งแต่ว่าสิ่งนี้มีจริงแค่ปรากฏ จำกัดความชัดเจนไหม สิ่งนี้มีจริงเมื่อปรากฏ มีบ้านไหม
ผู้ฟัง จำว่า มี
ท่านอาจารย์ จำ ใช่ไหม แต่ว่าไม่ได้ปรากฏ ใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง จริงๆ ไม่มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่มีจริงๆ คือธาตุรู้ มีแน่นอน เกิดขึ้นเห็น คือรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เห็นนะคะ แล้วขณะนั้นก็จำ สีสันวรรณะต่างๆ ซึ่งหลากหลายมาก เป็นแต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการเห็น จะจำไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่จำ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพอเห็นแล้ว จำทันทีเลย พร้อมกันเลย แยกกันไม่ได้เลย แต่ว่าลักษณะต่างกัน คือ เห็นเป็นเห็น แล้วก็จำเป็นจำ นี่คือพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เห็นมาตั้งนาน แต่ไม่เคยรู้ความต่างกันเลย ใช่ไหม แต่ทรงแสดงความละเอียดว่า ทันทีที่เห็น เห็นเป็นอย่างหนึ่ง และจำในสิ่งที่เห็นพร้อมกันเลย แต่จำไม่ใช่เห็น ถูกต้องไหม
เพราะฉะนั้นก็มีคำที่เรียก เพื่อให้รู้ความต่างว่า สภาพที่รู้แจ้งเห็นจริงๆ แต่ละหนึ่งที่ปรากฏ เป็นจิต จิตตะ จะใช้คำวิญญาณก็ได้ มีอีกหลายคำ มโน มนัส ก็ได้ หมายความถึงสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้ง เฉพาะ แจ้งเท่านั้นเอง ไม่ได้จำ ไม่ได้ทำอะไรเลยทั้งสิ้น แค่เกิดมาเห็น และจำก็เกิดมาจำ ไม่ได้เสียใจ ดีใจอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ละหนึ่งๆ เป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นทำหน้าที่ของตนได้ เพียงเฉพาะหน้าที่ของตน จะไปทำหน้าที่อื่นของสภาพธรรมอื่นไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นเห็นเป็นอย่างหนึ่ง ในขณะที่เห็นก็จำ เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่อย่างนั้น เราจะรู้ไหม โต๊ะกับเก้าอี้ต่างกัน ขณะที่รู้ เพราะจำ แต่จำเมื่อเห็น ถ้าไม่เห็นจะไปจำอะไร ถูกต้องไหม ถ้าไม่ได้ยิน จะไปจำอะไร ถ้าไม่ได้กลิ่นจะไปจำอะไร แต่เพราะมีสิ่งเหล่านี้ปรากฏ ให้รู้ว่า สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ โดยเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แต่สภาพที่จำ เกิดพร้อมกัน และจำในสิ่งที่ปรากฏทันที เพราะฉะนั้นจำสีหรือเปล่า
ผู้ฟัง จำ
ท่านอาจารย์ จำเสียง หรือเปล่า
ผู้ฟัง จำ
ท่านอาจารย์ จำกลิ่น หรือเปล่า
ผู้ฟัง จำ
ท่านอาจารย์ จำรส หรือเปล่า
ผู้ฟัง จำ
ท่านอาจารย์ จำสิ่งที่กระทบสัมผัสกายหรือเปล่า
ผู้ฟัง จำ
ท่านอาจารย์ รวมกันยังจำอีก ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นจึงมี อัตตะ หรืออัตตา ที่ใช้คำว่า อัตตสัญญา จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่มีการที่จะจำเฉพาะแต่ละหนึ่ง ว่าเสียงเป็นเสียง ไม่ใช่คน ไม่ใช่นก เสียงเป็นเฉพาะรูปที่ดัง ที่สามารถกระทบรูปที่อยู่กลางหู ซึ่งเป็นรูปพิเศษ สามารถกระทบได้เฉพาะเสียง เป็นปัจจัยให้มีธาตุรู้เกิดขึ้น ห้ามธาตุรู้ไม่ให้เกิด ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ห้ามแข็งไม่ให้เกิดขึ้นเป็นแข็ง ได้ไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ห้ามหวานไม่ให้เกิดขึ้นเป็นหวาน ได้ไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ห้ามธาตุรู้ ไม่ให้เกิดขึ้นรู้ ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ นี่คือธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะไม่มีใคร เป็นแต่ธรรมแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ทำกิจหน้าที่ของธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นรู้จัก เห็น แล้วใช่ไหม ใช้คำว่า จิต หรือ วิญญาณ รู้จัก จำ แล้ว ใช่ไหม ใช้คำว่า สัญญา เข้าใจไหม
ผู้ฟัง เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นธรรม อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่จำ แต่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นปัญญา เพราะฉะนั้นมี ๓ ญา คือ วิญญาณหรือวิญญาณะ แล้วก็สัญญา แล้วก็ปัญญา รู้ต่างกัน แต่ก็รู้ รู้อย่างรู้แจ้ง ว่าแข็งแค่ไหน อ่อนแค่ไหน ขมแค่ไหน เผ็ดแค่ไหน รู้โดยวิญญาณ และขณะที่รู้ก็จำไว้ด้วย แข็งไม่ใช่หวาน ไม่ใช่เค็ม ไม่ใช่เปรี้ยว เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็โดนจำ ลักษณะที่ต่างกัน และขณะที่เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้น ไม่มีใครไปทำได้เลยทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถทำให้ธรรมหนึ่งธรรมใดเกิดได้เลย เพราะทั้งหมดเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ขณะนั้นถ้าเข้าใจถูกต้อง ที่เข้าใจว่าเป็นเรา สามารถที่จะกระจัดกระจาย แยกออกเป็นแต่ละหนึ่งๆ ซึ่งสิ่งนั้นๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะเป็นเราได้อย่างไร ถ้าเข้าใจถูกต้อง ความเข้าใจถูกก็เป็นปัญญา จะใช้คำว่า ญาณะ ก็ได้