ไม่พร้อมจะจาก


        อ.อรรณพ เพราะมีความติดข้อง และความไม่รู้ จึงยังคงมีความอาลัย ไม่พร้อมจะจาก สิ่งอันเป็นที่รักไปได้ แม้ว่าตามความจริง จะไม่มีเรา และของเราเลย


        อ.วิชัย สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ความเข้าใจของบุคคลที่ฟังในครั้งโน้น กับ ณ ตอนนี้ ก็ต้องต่างกันด้วย

        ท่านอาจารย์ เหมือนอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ความจริงอยู่ตรงนี้ ถูกปิดบังไว้มากแค่ไหน แต่ละคำ แต่ละคำ ก็กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิต แต่ไม่เคยคิด ไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลยว่า นี่แหละเป็นธรรมทั้งหมด อย่างคำว่า อาลัย เหมือนไม่รู้จัก แต่ความจริงก็ไม่รู้จัก รู้จักแต่เรื่องราว กว่าจะรู้จักจริงๆ ก็ก่อนเมื่อได้ฟังพระธรรม คือไม่พร้อมที่จะจากสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มี เพียงแค่มีเมื่อปรากฏแล้วก็หมดไป แต่เสมือนว่าสิ่งที่ปรากฏยังอยู่ตลอดเวลา ไม่พร้อมที่จะจากไป เคยของหายไหม แค่นี้ก็เห็นความอาลัยไหม ในสิ่งที่หายไปแล้ว ยิ่งเป็นของที่ชอบมาก แล้วก็หายไป ความอาลัยนั่นก็ชัดเจนเลย นี่เพียงแค่สิ่งของ ญาติ มิตรสหาย ครอบครัว ผู้ที่เป็นที่รัก นอกจากสมบัติ รู้ไหมว่ายังไม่พร้อมที่จะจาก ยังไม่หมดความอาลัย ความติดข้อง ติดข้องจนไม่รู้ตัวเลย จนกว่าสิ่งนั้นจะจากไปเมื่อไหร่ ความอาลัยในสิ่งนั้นปรากฏ ให้รู้แจ้งชัดว่า นี่ไงคำว่าอาลัย ไม่สามารถที่จะตัดขาด จากการที่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าไม่มี ถึงเขายังไม่จากไป ถึงสิ่งนั้นยังไม่จากไป สิ่งนั้นก็หามีไม่ เพียงแค่มีเมื่อปรากฏ แค่นี้ จะเบาใจไหม ทั้งวันๆ มีเมื่อปรากฏ นอนหลับสนิทไม่เหลือเลย แค่นี้ยังคิดไม่ออก ว่าแท้ที่จริงทั้งวันเหมือนมี แล้วอยู่ไหน ไม่เหลือเลย ต่อไปก็เป็นพรุ่งนี้แล้ว ไม่ใช่วันนี้แล้ว จากไปอยู่ทุกขณะ ก็ไม่รู้ความจริง จึงเต็มไปด้วยความอาลัย แต่ว่าสิ่งที่อาลัยยังน้อยกว่าความเป็นจริง ทุกคำที่ได้ฟังตั้งแต่ต้น ความจริงยังลึกซึ้งกว่านั้นอีก หารู้ไม่ว่าสุดแสนจะอาลัย อะไร ความรู้สึก ความจำ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตทั้งหมด ไม่รู้ตามความเป็นจริงเลยว่า ไม่มี เราอยู่ที่ไหน ไม่มีเราแค่ไม่มีเรา บางคนก็คิดว่า จะเป็นไปได้ยังไง ก็ยังเป็นเราอยู่ จำก็ยังเป็นเราเห็นก็ยังเป็นเรา ทุกอย่างก็ยังเป็นเรา

        เห็นความต่างกันมากของความไม่รู้ความจริง กับกว่าจะได้รู้ แล้วก็สามารถจะรู้ได้ ไม่ท้อถอยเลย ถึงจะอาลัยก็อาลัยในสิ่งที่ไม่มี เสียเวลาอาลัย ใช่ไหม ไม่มีให้อาลัยเลย ก็ยังคงอาลัยอยู่ คิดดูว่าถ้าไม่มีปัญญาจริงๆ ไม่สามารถที่จะดับหรือละสิ่งที่สะสมมาเนิ่นนานด้วยความไม่รู้ จนกว่าปัญญาถึงระดับที่สามารถที่จะรู้ขึ้น แล้วก็ละไป ตามขั้นของปัญญานั้นๆ

        อ.อรรณพ คืออาลัยในความเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นอย่างไร

        ท่านอาจารย์ ก็คุณอรรณพเกิดใหม่เป็นเทพบุตร ยังอาลัยเดี๋ยวนี้ไหม ยังไม่อยากไปเป็นเทพบุตรไหม

        อ.อรรณพ ก็สบาย

        ท่านอาจารย์ ไปไหม พร้อมหรือยัง หรือรอไว้ก่อน หรือเมื่อไหร่ก็ได้

        อ.อรรณพ อยู่ให้เต็มที่ก่อน

        ท่านอาจารย์ เห็นไหม แสดงความอาลัยชัดเจน ก็จะไปเป็นเทพบุตรแล้วจะมาอาลัย อะไรกับโลกนี้ ที่โน่นสวยกว่าทุกอย่าง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งหลายทุกอย่างหมด ยังไม่เอา ยังอาลัยในสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้

        อ.อรรณพ ท่านอาจารย์พูดตรงใจ ผมนั่งนอนอยู่ที่บ้าน ก็มองๆ อะไรต่ออะไรไป แล้วในบ้าน แล้วที่ต้นไม้บ้าง อะไรบ้าง แล้วก็คิดว่าจริงๆ ทรัพย์สมบัติในมนุษย์ก็เทียบไม่ได้เลยกับภพภูมิที่ปราณีตกว่า แต่ว่าเราก็อยากจะอยู่อย่างนี้ให้ได้ว่าเต็มที่

        ท่านอาจารย์ ถ้ายังอยู่ ยังอาลัยแค่นี้ ลองหายไปสักอย่าง ความอาลัยชัดเจน ว่าเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ แสดงถึงความผูกพันไว้มากแค่ไหน ก็อาลัยแค่นั้น

        อ.อรรณพ ในความเป็นเรา ลึกมาก

        ท่านอาจารย์ แน่นอน อกุศลที่จะต้องดับก่อน ก็คือความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา เพราะความจริงไม่มีเรา จะมีของเราได้อย่างไร แต่โลภะก็ทำให้มีไปหมดเลย ของเราทั้งนั้น

        อ.วิชัย ในช่วงแรก ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงภิกษุในธรรมวินัย ซึ่งเป็นผู้ที่สละจริงๆ ดังนั้นความอาลัยของความเป็นภิกษุในธรรมวินัย ย่อมไม่มีความอาลัยในความเป็นคฤหัสถ์

        ท่านอาจารย์ แม้แต่ที่อยู่อาศัยที่ไหนก็ได้ ต้องกลับไปคิดถึงว่าเราเคยอยู่บ้านสบายๆ ไหม ภิกษุไม่เห็นประโยชน์ ที่จะต้องกลับไป จึงดำรงเพศภิกษุเป็นเถระที่มั่นคง แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ กลับเป็นคฤหัสถ์ แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ใช่ผู้ที่มั่นคง รับเงินรับทอง หรือไม่รับ แต่ยินดีในเงิน และทอง

        พระธรรมขัดเกลาทั้งกาย วาจา และใจ ทรงแสดงเรื่องของอินทรีย์ ตา หูจมูก ลิ้น กาย และใจ ทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ขัดเกลามาก ยากที่จะหาใครมีพระคุณ คือพระมหากรุณาคุณ ที่เห็นกิเลสของชาวโลกหนาแน่นมาก รู้ว่าละยาก แต่ก็ทรงแสดงทุกอย่างไว้ เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง ซึ่งเพราะปัญญาที่เข้าใจต่างหาก ที่ทำให้ค่อยๆ ละคลายสิ่งที่ติดข้องไว้


    หมายเลข 11526
    29 ก.พ. 2567