ดับแล้วไม่กลับมา


        ที่มีความติดข้องในสิ่งใด ก็เพราะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเพียงเกิด และดับแล้วไม่เหลือเลย


        ท่านอาจารย์ ในอริยสัจ ๔ ใช่ไหมคะ ทุกขอริยสัจ สิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป สภาพธรรมที่จากไม่มี แล้วมี แล้วดับไปไม่เเหลือเลย ควรหรือที่จะยินดีติดข้อง จึงใช้คำว่าทุกข์ หมายความว่าไม่ใช่สภาพที่ควรยินดี ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริงอย่างนี้ จะไปละความยินดีในสิ่งที่ปรากฏได้ยังไง ในเมื่อไม่ประจักษ์ว่าก่อนนี้ไม่มี แล้วก็เกิดมี แล้วก็หายไป หมด ไม่เหลือเลย จึงเข้าใจว่าละอะไร ละความยินดี อริยสัจที่สอง ทุกขสมุทยอริยสัจ อะไรเป็นเหตุของทุกข์ ความติดข้อง ถ้าตราบใดที่ยังมีความติดข้องอยู่ ใครจะไปหยุดยั้งการเกิดดับของสภาพธรรมเดียวนี่หล่ะ แม้แต่พระอรหันต์ที่ดับกิเลสแล้ว แต่ยังไม่ปรินิพพานก็ไม่สามารถที่จะไปหยุดยั้ง ปัจจัยที่ทำให้มีการเกิดดับ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง จนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายที่ปรินิพพาน ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ เพราะสิ่งนี้เกิดแล้วด้วยความไม่รู้ และด้วยความติดข้อง ให้ทราบว่าอะไรที่ปรากฏ สิ่งนั้นเกิดแล้ว แล้วมีปัจจัยที่ทำให้เกิดด้วย เห็นเดี๋ยวนี้จะสละไหม

        อ.อรรณพ สละ อะไรครับท่านอาจารย์ เห็นขณะนี้

        ท่านอาจารย์ ไม่มีไง เข้าใจว่ายังอยู่

        อ.อรรณพ คือสละความยึดมั่นในเห็น ว่าเป็นเรา

        ท่านอาจารย์ สละความไม่รู้ความจริงว่าแท้ที่จริง ทุกขณะที่ติดข้องเพราะเข้าใจว่ายังมี แต่ถ้ารู้ว่าไม่มี คิดดูสิ ไม่มีจริงๆ แต่ไม่ประจักษ์ความไม่มีต่างหาก เหมือนลวง เหมือนมายากล เกิดดับรวดเร็วจนปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ทำให้ยึดมั่นด้วยความจำ ว่ายังมีสิ่งนั้นอยู่

        อ.อรรณพ แต่ว่าการที่จะละได้จริงๆ ก็ไม่ง่าย เพราะว่าใครจะเชื่อง่ายๆ ว่าขณะนี้เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรเหลือ จะไปเอาปัญญาที่ไหนมาเชื่อ

        ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร

        อ.อรรณพ ตรัสรู้ความละเอียดลึกซึ้งของธรรม ซึ่งยากจะรู้

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกคำจากการตรัสรู้ ไม่ใช่คิดเอง ฟังเหมือนเหลือเชื่อ สิ่งที่กำลังปรากฎเกิดดับ แต่จริง แม้แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ก็ยากที่จะรู้ได้ เพราะสะสมความไม่รู้มานานมากในสังสารวัฏ นับประมาณกับการที่ได้ฟังเทียบกันไม่ได้เลย เคยไม่รู้มานานเท่าไหร่ และได้ยินได้ฟังแค่ไหน และกำลังอบรมเจริญกุศลคือ ปัญญาท่ามกลางอกุศลด้วย ทรงแสดงความจริงถึงอย่างนั้น เพื่อความไม่ประมาท


    หมายเลข 11540
    26 ก.พ. 2567