ตะกละคืออะไร
ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะไม่รู้จักแม้สักคำหนึ่งที่พูด ว่าความจริงของสิ่งนั้นคืออะไร
ท่านอาจารย์ ถ้าได้ฟังธรรมแล้ว เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า รู้จักคำที่พูดไหม ขอยกคำหนึ่ง ตะกละ น่าเกลียดไหมคำนี้ ตะกละมีไหม มี เป็นความจริง สิ่งที่มีจริงต้องจริง เราใช้ชื่อเรียกสิ่งที่มีจริงหลากหลาย เพราะเหตุว่าสิ่งที่มีจริงหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นตะกละทุกคนรู้จักเลย ใช่ไหม มีจริงๆ ด้วย แต่คืออะไร ก่อนอื่นแต่ละคำที่เราคิดว่าเรารู้จักแล้ว แต่ว่าถ้าจะรู้จักจริงๆ ต้องรู้ว่าคืออะไร ไม่พ้นจากความเป็นจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ที่เรากล่าวแล้ว คือเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป เพราะฉะนั้นทบทวนก็คงจะตอบได้ ว่าตะกละเป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เป็นธรรมอะไร นามธรรมหรือรูปธรรม แค่นี้ ง่ายมาก ตอบได้ใช่ไหม เป็นนามธรรม ถามอีกตะกละเป็นนามธรรมประเภทไหน จิต หรือเจตสิก หรือรูป ตอบได้แน่ๆ ว่า เป็นเจตสิก แต่พอไหมแค่นี้ ไม่พอ เพราะฉะนั้นทำไมจึงมีคำว่า ตะกละ ในเมื่อ เมื่อกี้นี้เรามีคำว่าชอบ ชอบดอกไม้ แต่ก็ยังมีคำที่เราพูดในชีวิตประจำวันทุกคำ แสดงถึงความจริง ซึ่งเราไม่เคยคิดเลย เพราะฉะนั้น ตะกละ นี่คืออะไร ใครรู้บ้าง
ผู้ฟัง เชิญเลยครับ น้องตุ้ม
ท่านอาจารย์ จะมาพูดคำว่าตะกละ ใช่ไหม
ผู้ฟัง กินมากเกินไปจนคนอื่นมองดูไม่ดี
ท่านอาจารย์ เพราะชอบใช่ไหม
ผู้ฟัง ชอบหรืออยากครับ
ท่านอาจารย์ ทั้งอยาก ทั้งชอบ ใช่ไหม ถ้าไม่ชอบจะอยากไหม เพราะฉะนั้นคำว่าอยาก คำว่าชอบมีจริงๆ เป็นเจตสิกที่มีหน้าที่ติดข้อง เริ่มตั้งแต่คำว่าติดข้องแล้วก็ชอบ และก็ชอบมาก เพราะฉะนั้นตะกละนี่คือกินมากๆ ไม่ใช่แต่อาหารอย่างเดียว ถ้าตะกละมากๆ ก็กินทุกอย่าง นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เห็นโทษของความชอบไหม ความติดข้องไหม แม้เพียงเล็กน้อย ถ้ามีคนเขาบอกว่า ชอบ ไม่ดี เราจะเชื่อทันทีหรือ
เพราะเหตุว่าเกิดมาแล้ว มีแต่สิ่งที่เราชอบทั้งนั้น แต่ว่าธรรมเป็นธรรมความจริงเป็นความจริง เพิ่งจะรู้ตัวว่าไม่ดี เพราะเหตุว่าความชอบนำมาซึ่งโทษภัย คนที่ชอบน้อย ก็สามารถที่จะสละได้มาก แต่คนที่ติดข้องมากๆ สละไม่ได้ คนตะกละกับคนที่ไม่ตะกละ เขาสามารถที่จะแบ่งปันอาหารให้คนอื่นได้ใช่ไหม คนที่ไม่ตะกละ แต่คนตะกละแบ่งได้ไหม ตะกละกินเอาๆ
ผู้ฟัง ยากครับ
ท่านอาจารย์ ยาก เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราค่อยๆ เข้าใจธรรมเราค่อยๆ คล้อยตามสิ่งซึ่งเราคิดไม่ถึงเลย ว่าชอบน่าจะดี ชอบทำอย่างนั้น ชอบทำอย่างนี้ แต่ว่าลักษณะสภาพของความติดข้องจริงๆ เป็นโทษอย่างไร เพราะเหตุว่าเป็นโทษจริงแต่น้อยมาก ถ้าเป็นปกติธรรมดา เพราะฉะนั้นเราจะได้ยินคำว่าโลภะ โลภ เป็นอีกคำหนึ่งของตะกละ ต้องการมากๆ ได้ยินคำว่าโลภะ ดูเหมือนว่าเขาต้องการมาก จนทุกคนรู้บอกว่าเขาโลภะมาก ใช่ไหม แต่ว่าความจริงที่ใช้คำว่าโลภะมาก หมายความว่าติดข้อง ชอบทุกสิ่งทุกอย่างมาก เพราะฉะนั้นโลภะเป็นโลภะ จะมากหรือจะน้อยก็คือเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง เราค่อยๆ รู้ความจริงทีละเล็กทีละน้อย และจะได้รู้ว่าทุกคนเกิดมาติดข้อง มีใครไม่ติดข้องบ้าง แต่ว่าความติดข้องของแต่ละคนมากน้อย แล้วก็แต่ละอย่าง บางคนติดข้องทางตา รูปต้องสวย บางคนติดข้องทางหู เสียงต้องเพราะมีดนตรีต่างๆ บางคนติดข้องในกลิ่น ชอบกลิ่นหอมราคาแพง ตอนเป็นเด็กยังซื้อไม่ได้ โตขึ้นจะซื้อใช่ไหม มีเงินพอเมื่อไหร่ก็จะซื้อกลิ่นที่หอมๆ อย่างนั้นก็เป็นไปได้ รสอร่อย รสสำคัญตั้งแต่เกิดจนตายสำหรับคนที่ต้องรับประทานอาหาร ต้องบริโภค ติดรสกันทั้งนั้นเลย แม้แต่เด็กเล็กๆ เกิดมาพี่น้องก็ยังชอบรสต่างกัน ตามการสะสม สะสมหมายความว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ จนกระทั่งคุ้นเคย สิ่งนั้นก็มีกำลัง ถ้าเรารับประทานอะไรที่อร่อยสักครั้งหนึ่ง อยากรับประทานอย่างนั้นอีกไหม อยาก ไปอีกทีนึงพอไหม หรือต้องหลายๆ ที ยังชอบอยู่ตราบใด ยังต้องการสิ่งนั้นอยู่ตราบนั้น จนกว่าจะเบื่อ
เพราะฉะนั้นทั้งหมดเป็นธรรมทั้งนั้น เพียงแต่ว่าไม่มีใครแสดงความจริงของธรรมโดยละเอียด ว่าสิ่งที่มีโทษ มีโทษ แต่ถ้ามีน้อยก็โทษน้อย ถ้ามีมากก็โทษมาก เพราะฉะนั้นเราก็เห็นโทษมาก แต่โทษน้อยเราไม่เห็น แต่มากต้องมาจากน้อย เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษแม้นิดเดียวก็เป็นโทษ จริงไหม ไม่ใช่ให้ใครเชื่อ ไม่ใช่ให้ใครหมดโลภะ แต่ให้รู้จักตามความเป็นจริงว่าแต่ละคน คืออย่างนี้ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นเริ่มรู้จักตัวเอง ถ้าเรารู้จักตัวเอง คนอื่นเหมือนกับเราไหม ก็เหมือนกัน มีใครบ้างที่ไม่มีความพอใจติดข้อง เพียงแต่ว่าติดข้องในแต่ละเรื่อง ในแต่ละอย่างต่างๆ กัน มากหรือน้อยต่างกัน
เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าตะกละคำเดียว แต่ก่อนเราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่เดี๋ยวนี้เรารู้แล้ว ติดข้องต้องการมาก ถ้าเป็นในเรื่องอาหารก็รับประทานไม่หยุดเลย ตะกละมากจนกว่าจะอิ่ม บางคนก็จนกว่าจะท้องเสีย ท้องแตกหรืออะไรอย่างที่พูดๆ กันใช่ไหม ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคำ สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นธรรม จะเอาคำอื่นอีกก็ได้ ถ้าสนใจ เพื่อที่จะไปถึงความเป็นธรรม สู่ความเป็นธรรม ว่าได้แก่ธรรมอะไร ถ้าเราสะสมมา ที่เคยได้ฟังธรรมในครั้งก่อน กี่ชาติมาแล้วก็ไม่รู้ และก็มีโอกาสได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง เราจะรู้ได้เลย เป็นสิ่งซึ่งเราเห็นประโยชน์ว่าควรรู้ยิ่งกว่าอะไร เพราะว่าสิ่งอื่นเราหารู้ได้ มหาวิทยาลัยก็มีหลายมหาวิทยาลัย วิชาการต่างๆ ก็มาก แต่วิชานี้ถ้าไม่มีความสนใจเพียงพอ ไม่สามารถที่จะสนใจหรือว่าเห็นประโยชน์ได้เลย
เพราะว่าบางคนแค่ได้ยินก็ไม่ฟังแล้ว แต่บางคนพอได้ยินคำนี้ไม่เคยได้ยินมาเลย แล้วแต่ละคำ สามารถที่จะมีคำอธิบายที่ละเอียดขึ้นๆ จนกระทั่งรู้ความจริงได้ว่า ตรงทุกคำ เช่นคำว่าธรรมต้องเป็นธรรม แล้วธรรมก็หลากหลายมาก ปัญญาความเห็นถูก ความเข้าใจถูก มีจริงๆ เป็นเราหรือเปล่า ไม่ ถ้าสิ่งนั้นไม่เกิดขึ้น ก็ไม่มีใครที่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดแล้วไม่รู้ และก็รวมกันทำให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็หลงเข้าใจว่าเที่ยง ยั่งยืน มีคน มีสัตว์ มีสิ่งต่างๆ แต่ถ้าฟังแล้ว มีแต่ธรรม มั่นคงมั่นใจหรือยัง ว่ามีแต่ธรรมหลากหลายมาก ประเภทต่างๆ แต่ก็ต้องเป็นธรรมนั่นแหละ