ไม่ประมาทในกุศลและอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย *
ท่านอาจารย์ บางคนวันหนึ่งๆ ไม่ค่อยได้ทำกุศล เพราะคิดว่ากุศลจะต้องเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเป็นเรื่องบริจาคเงิน สร้างโน่น ทำนี่ สารพัดอย่าง แล้วกุศลเล็กๆ น้อยๆ ทำไมประมาท เห็นไหม ถ้าไม่ทำ อกุศลทั้งนั้นเลยทั้งวัน เพราะฉะนั้นตอนนี้ที่เข้าใจประโยชน์ และคุณของกุศล เห็นโทษของอกุศลเพิ่มขึ้นไหม หรือว่ายังพอใจที่จะให้อกุศลทุกประการ มันมากเหมือนเดิม โลภะก็ยังเท่าเก่า โทสะก็ยังให้เหมือนเดิม หรือว่าปัญญาเริ่มนำ ไม่ใช่เรา แต่ปัญญานำไปให้เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย และเห็นประโยชน์ของกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เห็นไหม ปัญญาทำให้ขยันในกุศล และค่อยๆ เบาบางทางฝ่ายอกุศล แต่ก่อนนี้เราจะไม่รู้ว่าเราเป็นคนเห็นแก่ตัว เขาทำผิดต้องเขา แต่ถ้ากุศลเกิด ประโยชน์อะไรที่เราจะไปทำให้มีความเดือดร้อนต่อไป ถ้าเราสามารถที่จะแก้ไขได้ ใช่ไหม ก็ทำไปเลย ไม่เดือดร้อนที่จะไปเพิ่มอกุศล ความเดือดร้อนให้เขา และกุศลของเราก็สามารถที่จะเกิดขึ้น ขัดเกลาการที่ว่าเราจะทำทำไม นั่นเขาควรทำ คนเขาทำไม่ดี เขาไม่ล้างจานก็ให้เขาล้าง ไม่ใช่เราไปล้างให้เขา ใช่ไหม ละเอียดอย่างนี้ คิดดูสภาพของจิต เขาก็ทำจานเลอะ ก็ไม่เป็นไร เขาลืมไปก็ได้ เขาอะไรก็ได้ ถ้าเราล้างมันดีกว่าไหม ดีกว่าไปโวยวาย ทำไมไม่รู้จักล้าง ทิ้งไว้ได้ตั้งนานอะไรอย่างนี้ มันเป็นคนละเรื่องเลย เรื่องของกุศลกับอกุศล เห็นประโยชน์เลย แม้เพียงเล็กน้อย ละเอียดขึ้นๆ ๆ จะไม่รู้เลย ว่านั่นเป็นหนทางบารมี เพราะเหตุว่ากุศลเท่านั้น ความดีเท่านั้น ที่ขณะนั้นไม่มีอกุศล แต่ถ้าไม่เป็นกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล แล้วเราก็ให้โอกาสแก่อกุศลมาเท่าไรในชีวิตของเรา ใช่ไหม คิดแต่ว่าต้องถูก ต้องผิด ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ทำเสียเลยไม่ได้หรือ ใช่ไหม นี่คือความละเอียด แม้แต่เพียงเล็กน้อยปัญญานำไป ไม่ใช่ใครจะคิดได้เอง
เพราะฉะนั้นเครื่องวัดว่า เรามีปัญญาระดับไหน ชีวิตประจำวันที่ค่อยๆ เปลี่ยนบ้างหรือเปล่า ค่อยๆ ทำอย่างอื่นที่เป็นกุศล โดยไม่ได้ขัดเคือง โดยไม่ได้ไปเพ่งโทษใคร ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็เห็นต่างกันมากเลยว่า ถ้าเราไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้เข้าใจอย่างนี้ เราก็เหมือนเดิม ใช่ไหม แต่ปัญญานำไปในกิจที่เป็นกุศลทั้งปวง แม้ใครไม่รู้ แม้เล็กน้อย แต่ขณะนั้นกุศลจิตหรืออกุศลจิต คนนั้นก็ย่อมเห็นคุณ เห็นประโยชน์
อ.ธีรพันธ์ ท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้ผมนึกถึงคุณธรรมของท่านพระราหุล
ท่านอาจารย์ ใช่
อ.ธีรพันธ์ ที่ท่านไม่ได้กล่าวเลยว่า ภิกษุรูปโน้นรูปนี้นำไม้กวาดหรือว่าที่เทหยากเยื่อหรืออะไร ไม่ได้กล่าวเลย ท่านได้ยินแล้ว ก็ไม่เสียเวลาตอบโต้อะไร คือท่านก็นำไปจัดการทำความสะอาดให้เรียบร้อย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวัน ก็เป็นเครื่องส่องให้รู้ ปัญหาทั้งหมดมาจากอกุศล และก็ปัญหาทั้งหมดไม่มี เมื่อจิตเป็นกุศล
อ.ธีรพันธ์ พูดถึงเรื่องความอิ่มในธรรม ผมก็ได้ยินที่ว่า ท่านสรรเสริญคุณธรรมของท่านพระอานนท์ที่ว่า อัจฉริยัพภูตธัม คือไม่อิ่มเลย ในการที่ท่านพระอานนท์จะกล่าวหรือแสดง คือถ้าเป็นเรื่องของธรรม ไม่มีวันอิ่ม เพราะว่าเป็นไปเพื่อความยินดี ในความเป็นจริงของรสพระธรรม
ท่านอาจารย์ พอได้ฟังอย่างนี้ ปัญญาที่มีวันนี้ ก็จะเริ่มทำให้เราเห็นว่า เราเป็นอกุศลขณะไหน และพอได้ฟัง เป็นปัจจัยให้กุศลเกิด เปลี่ยนจากเดิม ใช่ไหม นี่ก็คือคุณอย่างยิ่ง ของการที่จะไม่ละเลยที่จะทำสิ่งที่เป็นบารมี เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นได้มากมายทันทีเลย กุศลต้องมีกำลัง เพราะอะไร อย่างทานก็สละความเห็นแก่ตัว สามารถที่จะให้คนอื่นได้ จะให้สิ่งของที่เป็นประโยชน์ ให้คำที่เขาสบายใจ หรือมีกาย วาจา อะไรก็ได้ เหมือนกับให้เขาได้มีความสุข ขณะนั้นก็เป็นทานอย่างหนึ่ง ให้วัตถุก็ได้ ให้คำพูดก็ได้ ให้ความเข้าใจธรรมก็ได้ ขณะนั้นก็ค่อยๆ ละความที่เราจะเหนื่อยหรือเราจะลำบากหรืออะไรๆ ไม่มีเลย ใช่ไหม เพราะเหตุว่าขณะนั้นเพื่อการละ เพื่อการสละ เพราะว่ามากมายมหาศาล ไม่มีทางจะหมดได้ ถ้าไม่มีกุศล แล้วถ้าไม่เริ่มต้น และใครก็บังคับใครไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปัญญา