รายการพิเศษวันตำรวจ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ขอเชิญฟัง รายการพิเศษ พันตำรวจเอก วิรัตน์ บุญยรัตกลิน
สนทนาธรรมกับอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
เนื่องในวันครบรอบวันสถาปนากรมตำรวจ
เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖
พันตำรวจเอก วิรัตน์ สวัสดีครับท่านผู้ฟัง เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมตำรวจในครั้งนี้ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมตำรวจ ได้เรียนเชิญ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระศาสนา คือ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ซึ่งท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ในด้านการสนทนาธรรม ให้กับทางสถานีวิทยุในเครือข่ายของกรมตำรวจทั่วประเทศทีเดียว ทั้งในกรุงเทพมหานคร และก็ตามต่างจังหวัด
สำหรับในวันนี้เราได้เรียนเชิญท่านมาพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องธรรม หรือว่าการสนทนาธรรม ที่จะให้บรรดาเพื่อนข้าราชการตำรวจนั้น มีไว้ในจิตใจหรือว่าจะได้มีการปฏิบัติกันบ้าง ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์ มีข้อแนะนำอย่างไรที่จะให้บรรดาข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ได้รู้ซึ้งถึงหลักของธรรม
ท่านอาจารย์ การที่เราจะเข้าใจธรรมได้ ก็จะต้องมีการศึกษาธรรม ถ้าเราไม่ศึกษาพระธรรม เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ แต่ว่าการศึกษานั้นมีหลายอย่าง คือ การศึกษาโดยการฟัง หรือว่าโดยการสนทนาธรรมก็ได้
พันตำรวจเอก วิรัตน์ สำหรับการศึกษาโดยการฟัง หรือว่าการสนทนาธรรม อย่างที่อาจารย์ได้กล่าวเมื่อสักครู่แล้ว ไม่ทราบถ้าสมมติว่า ในปัจจุบันนี้จะสังเกตเห็นบรรดาข้าราชการตำรวจทั่วไป มักจะถูกกล่าวขานกันว่า ปฏิบัติหน้าที่ไม่ค่อยมีความเที่ยงตรงกันบ้าง หรือว่าบางครั้งบางคราวนั้น ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะ ที่ไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจกับบรรดาประชาชน อยากจะให้อาจารย์เน้นสักนิดหนึ่งว่า เราจะใช้หลักธรรมอย่างไร มาใช้กับบรรดาผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เพราะว่าปัจจุบันนี้ เราก็เปรียบเสมือนว่า ข้าราชการตำรวจนั้นก็คือ ประชาชนคนหนึ่ง อยากจะให้อาจารย์ช่วยเน้นตรงจุดนี้
ท่านอาจารย์ ประชาชนทุกคนที่เป็นชาวพุทธ ก็ควรที่จะได้ศึกษาให้เข้าใจพระธรรม ถึงจะได้เข้าใจว่า พระธรรมนั้นคืออะไร และจะปฏิบัติอย่างไร ถ้ายังไม่ศึกษาพระธรรมเลย เพียงแต่เราทราบว่า พระพุทธศาสนามีศีล ๕ และก็ทุกคนก็ควรที่จะประพฤติปฏิบัติตามศีล ๕ แต่ว่า ทั้งๆ ที่เพียง ๕ เราก็จะสังเกตได้ว่า น้อยคนนักที่จะได้ครบสมบูรณ์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรายังขาดความเข้าใจ และความมั่นใจจริงๆ ในเรื่องประโยชน์ของพระธรรม
เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาจะทราบได้ว่า ที่จะสมบูรณ์ในศีล ๕ ได้นั้น ต้องถึงความเป็นพระอริยบุคคล ขั้นพระโสดาบัน แต่ก็คงจะไม่มีใครไปถึง การรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระโสดาบัน โดยที่ว่ายังไม่ได้เริ่มศึกษาพระธรรมเลย เพราะฉะนั้นดิฉันเองขอให้ทุกท่าน ได้เริ่มเห็นความสำคัญของพระธรรม และได้ฟังบ้าง ศึกษาบ้าง หรืออ่านบ้าง สนทนาบ้าง ที่เกี่ยวกับธรรม เพราะว่าจริงๆ แล้วตำรวจ ก็คือ ประชาชน
พันตำรวจเอก วิรัตน์ ใช่ครับ และเชื่อว่าตำรวจทุกคน ก็อยากจะปฏิบัติตามหลักธรรมเหมือนกัน แต่บางครั้ง บางคราว หรือบางคนยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน อยากให้อาจารย์ช่วยแนะนำสักนิดหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วก็ต้องศึกษาตามลำดับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ขอเรียนให้ทราบว่า สำหรับพระธรรมนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งใครคิดว่าจะหยิบหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง แล้วก็อ่าน และเข้าใจได้ ซึ่งความจริงก็เข้าใจได้บ้างพอสมควร แต่ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้เข้าใจอริยสัจธรรม หรือว่าพระรัตนตรัยโดยลึกซึ้ง เช่น ที่เราสวดมนต์ว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมังสรณัง คัจฉามิ สังฆังสรณัง คัจฉามิ ทุกคนก็จะกล่าวคำนี้ได้ แต่ว่ามีใครบ้างที่จะเข้าใจจริงๆ ถึงคำที่ว่า มีพระพุทธรัตนะ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ
นี่คือยังไม่เข้าใจความหมายจริงๆ ของพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระกรุณาคุณ ที่ทำให้พระองค์เป็นพระพุทธรัตนะ เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะถึงเพียงแค่คำกล่าว ซึ่งจริงๆ แล้วพระปัญญาคุณนั้นมีมาก พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ซึ่งเราจะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อเราได้ศึกษา
พันตำรวจเอก วิรัตน์ เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ก็เข้าใจว่าบรรดาเพื่อนข้าราชการตำรวจ เรียกกันว่าเกือบทั่วประเทศทีเดียว ยังมีอีกมากทีเดียว ที่ยังเป็นอย่างที่อาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่ว่า ยังไม่รู้ซึ้งถึงว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆังนั้น ความหมายของธรรม หรือว่าคำแปลจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ก็ได้แต่เพียงกล่าวกันเท่านั้นเอง ลักษณะอย่างนี้ อยากจะให้อาจารย์ช่วยย้ำ เน้นลึกลงไปอีกสักนิดหนึ่ง เพื่อบรรดาข้าราชการตำรวจทั่วประเทศที่ฟังกันอยู่นี้ จะได้เอาหลักธรรมนี้ ไปยึดปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่กันบ้าง
ท่านอาจารย์ รวมทั้งประชาชนคนไทยทั้งหมดด้วย
พันตำรวจเอก วิรัตน์ ใช่
ท่านอาจารย์ พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งกว้างขวางมากทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราจะหยิบยกส่วนหนึ่งส่วนใดมา ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ชัดเจน เพียงในระยะเวลาสั้นๆ แต่ดิฉันอยากจะให้เห็นว่า การศึกษาธรรมเป็นเรื่องละเอียด เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเข้าใจความหมาย แม้แต่แต่ละคำ ก็จะทำให้ทุกคน ได้เป็นผู้ที่กระทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ขึ้น เช่น คำว่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ก็เป็นคำที่ใช้กันชิน แต่ว่าถ้าได้เข้าใจความหมายจริงๆ ก็จะทำให้มีการพัฒนาความเข้าใจ แล้วก็ได้กระทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ขึ้น เช่น คำว่า พิทักษ์ ก็คงจะเข้าใจกันแล้วว่า หมายความถึงเป็นผู้ที่คุ้มครอง รักษา ปกป้อง สันติ ก็คือ ความสงบ นี่ก็ต้องแสดงให้เห็นแล้วว่า ต้องมีความไม่สงบ หรือว่ามีปัญหา ซึ่งจะต้องอาศัยผู้ที่มีหน้าที่ ที่จะกระทำให้เกิดความสงบขึ้น ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ ที่จะกระทำให้เกิดความสงบ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีธรรม ถ้าไม่มีธรรม ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่สงบมากก็ได้
พันตำรวจเอก วิรัตน์ ก็คิดว่าในลักษณะอย่างนี้ ยังมีผู้ที่เข้าไม่ถึง หรือว่ายังไม่รู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะอย่างที่อาจารย์กล่าว ก็คงจะมีหลายท่านทีเดียว ปัจจุบันนี้เป็นที่กล่าวขานกันในลักษณะที่ว่า บรรดาข้าราชการตำรวจนั้น ไม่ได้เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง ถ้าหากว่าได้มีการศึกษาธรรมกันอย่างแท้จริงแล้ว คงจะใช้หลักธรรมนี้ ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างมากเลยทีเดียว
สำหรับหลักธรรมปฏิบัติ ที่จะเป็นคู่กับชีวิตประจำวัน ของบรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจ อยากจะให้อาจารย์ชี้แนวทางสักนิดหนึ่ง หรือว่าชี้แนะสักนิดหนึ่ง เพื่อบางท่าน จะได้ยึดเป็นแนวปฏิบัติต่อไป ในการปฏิบัติหน้าที่การงาน หรือในลักษณะของการที่ว่า อาจจะเป็นที่ยึดเหนี่ยว ของบรรดาครอบครัวทั้งหลายด้วย
ท่านอาจารย์ สำหรับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ต้องเหมาะกับทุกคน คือ ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เท่านั้น แต่ว่าพระธรรมมีมาก อย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะขอยกเพียงบางส่วน ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับทั้งผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ และราษฎร ทั้งสองฝ่าย
พันตำรวจเอก วิรัตน์ มีอะไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ทั่วไป ก็คือ พรหมวิหาร ๔ ซึ่งแม้แต่คำนี้ ก็ควรที่จะได้ทราบว่า วิหาร หมายความถึง ความเป็นอยู่ หรือว่าธรรมซึ่งเป็นเครื่องอยู่ ของพรหม คือ ผู้ประเสริฐ ซึ่งทุกคนก็สามารถที่จะค่อยๆ อบรม ไม่ว่าจะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์หรือราษฎร เพื่อที่จะช่วยให้เกิดความสงบขึ้น
สำหรับพรหมวิหาร ก็คงจะทราบแล้วว่ามี ๔ เริ่มด้วยเมตตา ๑ กรุณา ๑ มุทิตา ๑ อุเบกขา ๑ ก็คงจะน่าสงสัยว่า ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์นี้จะมีเมตตาได้อย่างไร ใช่ไหม
พันตำรวจเอก วิรัตน์ คือ บางครั้งบางคราว ก็ต้องเรียนตรงๆ ว่า ข้าราชการตำรวจ ก็คือ ประชาชนคนหนึ่ง ตามความรู้สึกของผมแล้ว คิดว่าถ้าหากว่าจะเอาพรหมวิหาร ๔ ไปใช้ บางครั้งอาจจะใช้ไม่ได้ อย่างเช่น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บางครั้งบางคราวแล้ว มันจะมีสภาวะแวดล้อมกดดัน เป็นบางคน ทีนี้ถ้าหากว่าทุกคนยึดหลักอย่างที่อาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่ว่า จะต้องมีพรหมวิหาร ๔ ก็เชื่อว่าสังคมนี้คงจะอยู่กันอย่างมีความสงบสุข
แต่ปัจจุบันนี้ สังคมไม่ค่อยมีความสงบสุข ก็เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วขาดพรหมวิหาร ๔ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเข้าไปแก้ไขหรือเข้าไปช่วย ในลักษณะของการเป็นผู้พิทักษ์บ้างก็ตาม ก็ยังไม่ค่อยได้ผล แม้แต่ตัวข้าราชการตำรวจเองบางคน ก็อาจจะมีแรงกดดันกันบ้าง หรืออะไรกันบ้าง อยากจะให้อาจารย์ชี้แนะว่า จะปฏิบัติตนอย่างไร
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องยากที่ใครจะมีพรหมวิหารครบทั้ง ๔ ได้ทุกวัน แต่ถ้าเราจะค่อยๆ เข้าใจ และเห็นประโยชน์ แม้แต่ พรหมวิหารที่ ๑ คือ เมตตา เมตตา หมายความถึง ความเป็นมิตร เพราะฉะนั้นตำรวจย่อมเป็นมิตรได้แน่นอน ถ้าเห็นประโยชน์ว่า เมตตาคือความไม่เป็นศัตรู เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าผู้นั้นจะทำผิด เพราะว่าเป็นหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งจะต้องช่วยคนที่ถูกทำร้าย หรืออะไรก็ตามแต่ เพราะฉะนั้นก็อาจจะต้องมีการจับกุม หรือว่าสืบหาผู้ใดกระทำผิด แต่ว่าสามารถจะทำด้วยความเมตตา หรือว่าด้วยความเป็นมิตร ไม่ใช่ด้วยความเป็นศัตรู เพราะว่าคงจะไม่มีใครอยากจะทำผิด แต่ว่า เมื่อได้กระทำแล้ว ซึ่งทุกคนก็ต้องเคยทำ ไม่ว่าจะทำผิดในเรื่องเล็ก หรือว่าเรื่องใหญ่ ตั้งแต่เด็กจนโต ก็คงจะไม่มีใครบอกว่า เขาไม่เคยทำอะไรผิดเลย แต่ว่าถ้ามีใครที่มีความเห็นใจ มีความเข้าใจ มีความเป็นมิตร แต่ว่าต้องทำตามหน้าที่ ก็คงจะทำหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ด้วยความเมตตาได้ ใช่ไหม
พันตำรวจเอก วิรัตน์ ใช่ แต่ทีนี้บางครั้ง เราใช้ความเมตตา ผลที่ได้รับกลับออกมา มันไม่เป็นอย่างที่เราตั้งความหวังไว้ ผู้กระทำบางทีก็อาจจะมีความรู้สึกที่สูญเสียลงไป จะแก้ไขอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าเขาเห็นความเมตตา คือ ความเป็นมิตรของเรา เขาก็คงจะเข้าใจ ว่าเราทำตามหน้าที่ และในขณะเดียวกัน ทุกคนที่อยู่ร่วมกัน ก็ต้องมีหน้าที่ ในเมื่อเขาได้ทำผิดไปแล้ว หน้าที่ของเขาก็คือว่า ต้องยอมรับความผิดนั้น แต่ว่าในขณะที่เราปฏิบัติต่อเขา ถ้าเรามีความเมตตา คือ มีความเป็นเพื่อนในทุกทาง ก็จะทำให้จิตใจของเขาอ่อนโยน แล้วก็สามารถที่จะมองเห็นว่า สิ่งที่เราทำนั้น ไม่ใช่ทำด้วยความไม่พอใจส่วนตัว แต่ว่าเป็นการกระทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม เพื่อสันติของราษฎร
พันตำรวจเอก วิรัตน์ คือลักษณะอย่างนี้ไม่ทราบว่า ผมมีความคิดเห็นหรือว่ามีความขัดแย้ง กับความคิดของอาจารย์ แต่ในลักษณะอย่างที่อาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่ บางครั้งบางคราว เจ้าหน้าที่ตำรวจทำด้วยความเมตตา แต่ผู้ถูกกระทำไม่ได้คิดอย่างนั้น จะมีผลหรือว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำลงไปด้วยความเมตตา มีผล มีความรู้สึกตรงกันข้าม
ท่านอาจารย์ ในทางพระพุทธศาสนา ไม่ได้หวังผลอย่างอื่น นอกจากหวังผล คือ ผู้ที่มีเมตตานั่นเอง เป็นผู้ที่มีความสุขใจ คือ ไม่ต้องการผลอื่นทั้งสิ้นเพราะว่า สิ่งใดจะเกิดกับแต่ละคน เราก็รู้ว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ วันนี้เราอาจจะถูกใครทำร้ายก็ได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเรา เหตุนั้นก็ไม่เกิดกับเรา
เพราะฉะนั้นในพระธรรม ไม่ได้ทรงแสดงให้โกรธ ให้พยาบาท หรือให้อาฆาตใครเลย เพื่อประโยชน์ของจิตใจของผู้นั้น ที่จะไม่เดือดร้อน ด้วยความโกรธหรือด้วยความพยาบาท แต่ไม่ว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทน ก็เป็นเครื่องที่ทำให้เราเจริญเมตตา คือ อบรมความเป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นเพื่อนกับทุกคนเพิ่มขึ้น
พันตำรวจเอก วิรัตน์ ก็คิดว่าข้อแรกของพรหมวิหาร ๔ บรรดาเพื่อนข้าราชการตำรวจ ก็คงจะนำไปคิด สิ่งใดที่น่าจะเป็นประโยชน์ ก็เอาไปถือปฏิบัติกัน สำหรับข้อที่ ๒ ที่อาจารย์กล่าวว่า มีความกรุณา อยากจะให้อาจารย์เน้นสักนิดหนึ่งว่า เกี่ยวข้องอย่างไรกับการปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนกันบ้าง
ท่านอาจารย์ คือ ความจริงกรุณา ก็สืบเนื่องมาจาก เมตตา คือ ความเป็นมิตร เพราะว่าโดยมากคนไม่ค่อยทราบว่า ภาษาไทยที่ใช้คำว่า มิตร คือ ความเป็นเพื่อนกัน ไม่ใช่ศัตรูกันนั้น ก็เป็นลักษณะของเมตตานั่นเอง คือ พร้อมที่จะเกื้อกูล แล้วก็ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับบุคคลนั้น นี่คือเมตตา
เพราะฉะนั้นถ้าเห็นคนที่เขากำลังเดือดร้อน เป็นทุกข์ จะเป็นผู้ร้ายก็ได้ แต่ว่าเขากำลังหิว หรือว่ากำลังเจ็บไข้ เราก็คงจะไม่เมินเฉย หรือว่าปล่อยให้เขาทนทุกข์ทรมาน โดยที่ว่าไม่มีการช่วยเหลือ ให้เขาพ้นจากสภาพที่เป็นทุกข์นั้น เพราะฉะนั้นความต่างกันของเมตตากับกรุณา ก็คือว่า เมตตานั้นมีความเป็นมิตร เป็นเพื่อน พร้อมที่จะเกื้อกูล หวังดี ให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์สุข ส่วนกรุณานั้น ก็คือว่า เมื่อผู้ใดได้รับความทุกข์ด้วยประการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทุกข์กาย ทุกข์ใจ เราก็มีจิตที่เข้าใจ ในสภาพความทุกข์ของบุคคลนั้น แล้วก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ ถ้าเราสามารถจะช่วยได้
พันตำรวจเอก วิรัตน์ คือ การช่วยเหลือ ผมขออนุญาตอาจารย์นิดหนึ่งว่า เมื่อช่วยไปแล้ว จะเป็นในลักษณะชาวนากับงูเห่า ทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีเหตุที่จะทำให้เรา ได้รับผลจากงูเห่า เพราะว่าเราไม่ควรจะกลัว การที่เราจะช่วยใคร ถ้าเราช่วยแล้วก็ได้รับผลตอบแทนที่ไม่ดี หมายความว่า เรามีเหตุในอดีต ที่จะทำให้ได้รับผลนั้น แม้ไม่ใช่จากบุคคลนั้น อย่างตึกถล่ม ไม่มีใครที่จะต้องการให้เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครที่กำลังพยาบาทอาฆาต ให้บุคคลนั้นบุคคลนี้ได้รับทุกข์ แต่เมื่อถึงคราวที่กรรมจะให้ผล ก็มีเหตุที่จะทำให้เกิดผลนั้น
เพราะฉะนั้นแทนที่จะคิดว่า เกิดจากงูเห่า หรือว่าเกิดจากคนที่เรามีเมตตากรุณาด้วย ก็ไม่ต้องคิดถึงความเป็นบุคคลนั้น ซึ่งเขาเองก็ได้รับความทุกข์ เพราะจิตใจหรือว่าการกระทำที่ไม่ดี แต่ว่าใจของเรา ถ้าไม่ดีเมื่อไร ก็จะสะสม แล้วก็ทำให้เกิดผลที่ไม่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
พันตำรวจเอก วิรัตน์ อย่างนั้นก็เปรียบเสมือนว่า เป็นกรรมเก่า ถูกต้องไหม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
พันตำรวจเอก วิรัตน์ ถ้ากรรมเก่า ผมก็ถามย้ำไปเลยว่า เหตุกรณีตึกถล่ม ทุกคนที่เสียชีวิต เป็นกรรมร่วมกันอย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ ที่จริงถ้าใช้คำว่า ร่วมกัน ต้องใช้ว่าทั้งโลกหรือทั้งจักรวาล ใช่ไหม จริงๆ แล้วแต่ละคน ก็เป็นแต่ละชีวิต ซึ่งมีกรรมที่สะสมมาวิจิตรมาก ละเอียดมาก ต่างกันมากเลยในแต่ละวัน
พันตำรวจเอก วิรัตน์ แล้วทำไมถึงมารวมกันที่จุดๆ นั้น
ท่านอาจารย์ เรื่องสถานที่คงจะไม่จำเป็น เพราะว่าถ้าพูดถึงขณะที่เสียชีวิต แม้ในขณะที่เรากำลังคุยกัน ก็คงจะมีคนตายในที่ต่างๆ กัน หรือที่เดียวกันก็ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องสถานที่ ก็เป็นแต่เพียงเรื่อง ที่เราคิดด้วยความสงสัยว่า ทำไมต้องเป็นที่นี่ และเวลานั้น แต่ถ้าคิดถึงเพียงว่า เมื่อถึงคราวที่กรรมจะให้ผล ใครก็ยับยั้งไม่ได้ และสำหรับพุทธศาสนา ก็จะแสดงเรื่องเหตุ และผล คือ เรื่องกรรม และผลของกรรม
พันตำรวจเอก วิรัตน์ ก็คิดว่าข้อ เมตตา นี้ ก็คงจะสรุปได้ว่า คงจะต้องให้ทุกคน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันอย่างนั้น ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ทั้งผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ และราษฎรด้วย ทุกคน
พันตำรวจเอก วิรัตน์ ขอบคุณมากครับ และขอต่อไป มุทิตา
ท่านอาจารย์ มุทิตา คือ ความยินดีด้วยในความสุขของคนอื่น นี่ก็แสดงให้เห็นสภาพของจิตใจ ซึ่งละเอียดขึ้น เพราะว่าบางคนก็อาจจะไม่เคยสังเกตเลยว่า เวลาที่คนอื่นได้รับสิ่งที่ดี แล้วเรารู้สึกอย่างไร บางคนอาจจะริษยา บางคนอาจจะไม่พอใจ เวลาที่อ่านหนังสือพิมพ์ ก็คงจะมีทั้งข่าวที่จะทำให้เกิดชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ในบุคคลนั้นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการสนทนา หรือการพูดคุยกัน การออกความคิดเห็น เราจะสังเกตได้ว่า ความเห็นนั้นมาจากจิตใจชนิดไหน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เขาก็มีทั้งกรรมดี และกรรมชั่ว แล้วก็มีทั้งสุข และทุกข์
เพราะฉะนั้นถ้าใครที่กำลังได้รับสิ่งที่ดี ก็ควรจะอนุโมทนาในผลของกรรมดีที่เขาทำไว้ ลืมความเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ เพื่อจิตใจของเราจะได้ไม่เดือดร้อน
พันตำรวจเอก วิรัตน์ อยากจะเรียนถามอาจารย์ต่อไป ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้มีประสบการณ์ในด้านนี้ หรือว่าเป็นผู้ที่บรรยายข้อปฏิบัติธรรมหลายแห่ง หลายหนแล้วก็ตาม เมื่ออาจารย์บอกว่า สังคมนั้นถ้าหากมีความยินดี ในสิ่งที่คนอื่นได้รับผลดี หรือว่าได้รับกรรมดี มีการส่งเสริมกัน ไม่มีการอิจฉาตาร้อนกัน จะถามอาจารย์ว่า สังคมปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยของเรา หรือว่าในที่ใดๆ ในโลก สังคมนี้ยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า ในลักษณะของการ มีการยินดียินร้าย หรือว่ายังมีข้ออิจฉาตาร้อนกันอยู่ ซึ่งถ้าหากว่าเอามาเปรียบกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หรือว่ากับประชาชน อยากจะให้ข้อเปรียบเทียบสักนิดหนึ่ง ว่ามันเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ธรรมนี้เป็นเรื่องที่เป็นจริง เราต้องยอมรับว่า ธรรมมี ๒ ฝ่าย คือธรรมที่เป็นฝ่ายดี เป็นกุศลฝ่ายหนึ่ง และธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี คือธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล และถ้าเราไม่เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอย่างละเอียด เราจะไม่ทราบเลย เพราะเหตุว่าบางครั้งจิตใจที่เป็นกุศล ก็สั้นมาก เล็กน้อยมาก แล้วก็จิตใจที่เป็นอกุศล ก็เกิดสืบต่อสลับกันเร็วมาก อย่างที่กล่าวว่า ยินดีด้วยกับความสุขหรือความเจริญของคนอื่น ถ้าไม่เข้าใจธรรม จริงๆ จะไม่ทราบว่า อาจจะไม่ใช่ มุทิตา ซึ่งเป็นพรหมวิหารก็ได้ แต่เป็นโลภะ ความยินดี เบิกบาน พอใจ ในเมื่อบุคคลนั้นผู้เป็นที่รัก ได้มีความสุขความเจริญ
นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า สำหรับธรรมเครื่องอยู่ของพรหม ต้องเป็นผู้ที่ประเสริฐจริงๆ คือ ต้องทราบความละเอียด ความต่างกันว่า ถ้าเป็นคนที่รักประสบสิ่งที่ดี และเราดีใจด้วย เป็นโลภะ ไม่ใช่เป็นมุทิตา แต่มุทิตานี้ ต้องทั่วไปหมด ไม่ว่าใครทั้งนั้น ถ้าในประเทศไหน ซึ่งกำลังประสบภัยพิบัติ แล้วก็มีการช่วยเหลือ และเรารู้สึกยินดีที่คนนั้นได้พ้นจากสภาพอย่างนั้น ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เรารู้จักหรือเราจะไม่รู้จักก็ตาม แต่จิตของเรา ก็เกิดความยินดีที่เขาได้รับสิ่งที่ดี
พันตำรวจเอก วิรัตน์ ก็ถือว่าเป็นมุทิตา ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจิตใจเป็นกุศล เป็นสภาพของจิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นต้องไม่ใช่เกี่ยวข้อง ด้วยความผูกพัน ในฐานะของเพื่อน หรือว่าในฐานะของญาติ แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เราต้องสังเกตจิตใจของเราว่า เป็นความพลอยยินดีด้วยที่เป็นกุศล หรือว่าเป็นความรื่นเริง ที่คนที่เรารู้จักมักคุ้น เป็นผู้ที่ได้รับสิ่งที่ดี
พันตำรวจเอก วิรัตน์ อย่างนั้นแสดงว่า จะอย่างไรก็ตาม ตัวของเราเองย่อมจะรู้ว่า เราเป็นผู้มีมุทิตา หรือว่าเราเป็นผู้มีโลภะ อย่างนั้นใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ธรรม ทำให้รู้จักตัวเองขึ้น แล้วก็ทำให้รู้จักคนอื่นทะลุปรุโปร่งด้วย
พันตำรวจเอก วิรัตน์ รู้สึกว่าผมก็พอจะเข้าใจขึ้นมาบ้าง ซึ่งแต่เดิมก็ไม่ค่อยเข้าใจกันเลย สำหรับอีกข้อ ข้อสุดท้าย อุเบกขา การวางเฉย ไม่ทราบว่าจะเอามาใช้กับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์หรือว่าบรรดาข้าราชการตำรวจ หรือประชาชนอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ทุกวันนี้เหตุการณ์ของโลก หรือแม้แต่ว่าในวงศาคณาญาติ ในหมู่มิตรสหาย ก็จะต้องมีบางคน ซึ่งกำลังประสบความทุกข์ บางคนก็ประสบความสุข แต่เรามีความเป็นมิตร คือ เมตตา หวังดี แล้วก็มีกรุณา ถ้าเราสามารถจะช่วยได้ และสำหรับผู้ที่ได้รับสิ่งที่ดี เราก็มีมุทิตา พลอยยินดีด้วย แต่ถ้าเราไม่สามารถที่จะช่วยเขาได้ ถึงแม้ว่าเป็นเพื่อนสนิท หรือว่าเป็นพี่น้อง เป็นวงศาคณาญาติ หรือว่าเป็นใครก็ตาม ซึ่งเดือดร้อน เพื่อใจของเราจะได้ไม่เป็นทุกข์หวั่นไหว เราก็ควรจะได้ทราบว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน ซึ่งแลกเปลี่ยนกันไม่ได้ ถึงคราวที่บุตรป่วยไข้ได้เจ็บ มารดาก็อยากจะป่วยแทน สงสารบุตรเหลือเกิน แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะเหตุว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน เพราะฉะนั้นเพื่อจิตใจจะได้ไม่หวั่นไหว ก็ควรที่จะได้ทราบความจริงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้ง หรือว่าบันดาลให้เกิดสิ่งที่ต้องการได้ แต่ว่าทุกอย่างที่จะเกิด ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เขาทุกข์ เราทุกข์ เขาสุข เราสุข ก็หมุนเวียนเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นถ้าเราจะช่วยเขา ก็ควรที่จะช่วยให้เขา เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ในเรื่องของสภาพธรรม ซึ่งเป็นเหตุที่ดี ที่จะทำให้เขากระทำแต่สิ่งที่ดี ซึ่งจะทำให้เกิดผลที่ดี
พันตำรวจเอก วิรัตน์ คิดว่าบรรดาเพื่อนข้าราชการตำรวจ และประชาชนทั่วไป ก็คงจะได้รับทราบ พรหมวิหาร ๔ ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้มีการชี้แจงรายละเอียดให้ฟัง ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาเพียงน้อยนิดก็ตาม
สุดท้ายนี้ก็อยากจะให้ท่านอาจารย์ ช่วยสรุปอีกสักครั้งหนึ่งว่า พรหมวิหาร ๔ นั้น น่าจะใช้ควบคู่กับข้าราชการตำรวจของเรา เป็นการยึดหลักในด้านการทำงานประการใดกันบ้าง
ท่านอาจารย์ ถ้าตำรวจเป็นมิตรกับราษฎร ราษฎรก็มีความสุขมาก และถึงแม้ว่าจะเป็นมิตรกับผู้กระทำผิด ผู้กระทำผิดก็ได้รับน้ำใจที่ดี จากตำรวจ เพราะฉะนั้นทุกคน ก็จะมองตำรวจด้วยความชื่นชม แล้วก็ให้ความร่วมมือมากขึ้น เพราะว่าตำรวจทำตามหน้าที่ของตำรวจ แม้แต่การที่เราจะพิทักษ์สันติราษฎร์ให้ราษฎร ก็ไม่ได้หมายความว่า คนอื่นจะพอใจเสมอไป คนที่ไม่พอใจ คือ ผู้ที่กระทำผิด ก็คงจะมีบ้าง แต่ถ้าเราสามารถที่จะให้เขารู้จักเรา ว่าเราทำตามหน้าที่ ด้วยความเป็นมิตร ก็คงจะลดความคิดที่ไม่ดี ต่อผู้ที่กระทำหน้าที่ เพราะรู้ว่าเป็นหน้าที่จริงๆ นี่ในเรื่องของเมตตา
สำหรับในเรื่องของกรุณา ก็เป็นโอกาสที่ตำรวจ จะกรุณาทุกคนได้อยู่แล้ว ไม่ว่าทางฝ่ายที่เสียหาย หรือฝ่ายที่ถูกกระทำให้เสียหาย ก็มีความที่จะกรุณาเฉพาะราย เฉพาะเหตุการณ์ เฉพาะกิจ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่า มีทางใดที่จะช่วยใครที่กำลังเป็นทุกข์ในขณะนั้น โดยไม่ใช่เราต้องทำความผิด แต่หมายความว่า เราช่วยด้วยน้ำใจ ที่จะทำให้เขาพ้นจากความทุกข์ แม้เพียงเล็กน้อย ในชีวิตประจำวันจริงๆ ที่สถานีตำรวจก็คงจะมีมาก แล้วก็สำหรับมุทิตา ก็ในระหว่างเพื่อนตำรวจ หรือไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าเราทราบว่า ถ้าเราพลอยยินดีเฉพาะกับคนที่เราพอใจ นั้นไม่ใช่กุศลจริงๆ เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ที่จะรู้ว่าจะเป็นเพื่อนหรือไม่ใช่เพื่อน ความรู้สึกของเราก็เหมือนกัน คือ ยินดีกับทุกคนที่เขามีความสุข
สำหรับอุเบกขานั้น ก็คงจะต้องเป็นชีวิตประจำวันของตำรวจเลย ไม่ว่าจะเป็นคดีใดทั้งสิ้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนั้น อาจจะเป็นเพื่อน หรือว่าเป็นญาติ หรือคนที่ไม่รู้จักเลย แต่ว่าถ้าเรามีการกระทำต่อทุกคนเสมอกัน ขณะนั้นก็เป็นกุศล คือ ไม่หวั่นไหวด้วยการที่จะต้องเป็นข้างหนึ่งข้างใด แต่ว่ามีความเป็นธรรม ที่จะรู้ว่าทุกคนที่ทำผิด ก็จะได้รับผลของกรรมนั้น สำหรับกรรมที่จะได้รับข้างหน้านั้น มากกว่าที่ทางเราคิดว่า เราเป็นฝ่ายทำให้
พันตำรวจเอก วิรัตน์ เนื่องในวันตำรวจในปีนี้ ก็อยากจะให้อาจารย์ฝากข้อคิดอะไร สำหรับบรรดาข้าราชการตำรวจทั่วประเทศอีกสักนิดหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ขอให้ทั้งผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ และราษฎร ได้สนใจในการศึกษาพระธรรม เพราะเหตุว่าพระธรรมมีคุณค่ามาก แต่ว่าการที่เราจะคิดว่าเพียงอ่านเท่านั้น ไม่พอ เพราะเหตุว่ากว่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้า จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาก และทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา ไม่ใช่เฉพาะบุคคลหนึ่ง บุคคลใด แต่ทั่วไปไม่ว่าคนนั้นจะมีกิจหน้าที่ใด
ในครั้งอดีตแม้พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล สีหเสนาบดี พ่อค้า นักธุรกิจทั้งหมด ก็ได้รับประโยชน์จากพระธรรม เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้เห็นว่า พระธรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่าเราจะเข้าใจได้ แต่ต้องศึกษาจริงๆ และก็เป็นผู้ที่ละเอียด แล้วก็จะได้ประโยชน์ แม้แต่การที่จะเข้าใจพรหมวิหารหรือธรรมอื่นๆ ซึ่งมีอีกมากทีเดียว
พันตำรวจเอก วิรัตน์ ต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ไว้ ณ ที่นี้ ที่ได้ให้เกียรติ รับเชิญมาที่สถานีวิทยุกระจายเสียง กรมตำรวจของเรา และก็คิดว่าโอกาสหน้า คงจะได้รับเกียรติจากท่านใหม่อีกครั้งครับ ขอบพระคุณมากครับ