มั่นคงในเรื่องของกรรมและผลของกรรม


    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้เราก็จะรู้จักจิตที่เป็นกุศลหนึ่ง ที่เป็นอกุศลหนึ่ง ที่เป็นวิบากหนึ่ง ชื่อยังไม่พอ แต่ว่าขณะนี้ต้องสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าจิตเห็นเป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่คือการที่เราจะเข้าใจลักษณะของสภาพเห็น ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เลือกกาลที่จะให้จิตเห็นเกิดก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าบางทีได้ยิน ไม่ใช่เห็น เพราะเหตุว่ากรรมที่จะทำให้จิตได้ยินซึ่งเป็นวิบากสุกงอมพร้อมที่จะให้ผลคือจิตได้ยินเกิดขึ้น ได้ยินเสียง ซึ่งเลือกไม่ได้อีกเหมือนกันว่าจะเป็นเสียงที่น่าพอใจ หรือว่าเป็นเสียงที่ไม่น่าพอใจ นี่คือเราเริ่มรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล อกุศลซึ่งเป็นเหตุ ขณะใดซึ่งเป็นวิบาก เพื่อที่จะได้เข้าใจความละเอียดของแม้แต่คำที่เราได้ยิน เช่น คำว่ามูล หรือเหตุ แต่ก็จะต้องมีความเข้าใจที่เป็นพื้นฐานที่มั่นคง ไม่ลืมว่าขณะใดก็ตามที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทั้งหมดเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นผู้ที่มีความมั่นคงในเรื่องเหตุ และผล ในเรื่องของกรรม และผลของกรรมว่าเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วดับไปๆ ให้คนอื่นได้รับผลได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็มีกรรมเป็นของๆ ตน ด้วยเหตุนี้ลักษณะของวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมก็จะมีต่างกันไป ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม วิบากจิตนั้นจะไม่มีเจตสิกใดๆ ซึ่งเป็นเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235


    หมายเลข 11602
    28 ส.ค. 2567