เมื่อประจักษ์แจ้ง


    เมื่อมีโลภะเกิดขึ้น มีความสำคัญตนไหม มีความเห็นผิดที่ยึดถือสิ่งที่ไม่ใช่เหตุผลเลย แต่เข้าใจว่าเป็นเหตุผลไหม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตจริงๆ ก็คือธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดนั่นเอง เพียงแต่ว่าเมื่อฟังแล้วขอให้เข้าใจว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงขณะนี้จะได้ไม่ลืมว่าเป็นธรรม ถ้าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในกระดาษนี่ลืมแน่ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นธรรมขณะนี้ก็มีการรู้ได้ ระลึกได้ว่าขณะนี้เองอะไรกำลังเป็นธรรมในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเรื่องของอกุศลเหตุกับกุศลเหตุก็มีความละเอียดที่ว่าอกุศลเหตุมี ๓ ใช้คำว่า “มูล” ก็ได้ ได้แก่โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เกิดเมื่อไหร่เป็นอกุศลเท่านั้น เป็นอื่นไม่ได้ แต่สำหรับเจตสิกที่ดีงามที่เป็นมูลเป็นเหตุให้มีการเจริญงอกงามเจริญขึ้นทางฝ่ายกุศลก็มีอโลภะตรงข้ามกับโลภะ ความติดข้องคือความไม่ติดข้อง อโทสะ ความไม่โกรธ และอโมหะซึ่งได้แก่ปัญญาเจตสิก ความรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอีกระดับหนึ่งหลังจากที่ได้ยินได้ฟังแล้วต้องถึงการประจักษ์แจ้งด้วย เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้สมบูรณ์ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ทั้งขั้นฟังเข้าใจ ขั้นที่สติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะที่เป็นธรรม และขั้นแทงตลอดความจริงของสภาพธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ไม่ใช่เพียงทรงแสดงไว้ครึ่งๆ กลางๆ แต่ว่าไม่ได้แสดงหนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้ง แต่พระธรรมที่ทรงแสดงจนกว่าเมื่อไหร่ประจักษ์แจ้งก็จะได้รู้ถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235


    หมายเลข 11610
    28 ส.ค. 2567