ความละเอียดของปัญญาก็สามารถที่จะรู้ความต่างได้ยิ่งขึ้น


    ผู้ถาม สภาพของกุศลจิต กุศลมีทั้งที่เป็นไปในวัฏฏะ และไม่ได้เป็นไปในวัฏฏะ ทีนี้โดยปกติแล้วการศึกษาธรรม พิจารณากุศลก็ค่อนข้างจะยาก ทีนี้กุศลยังแบ่งออกเป็นตั้ง ๒ ประเภท ก็เลยจะกราบเรียนถามว่าลักษณะสภาพธรรมจริงๆ มีความต่างกันไหม

    สุ. โดยมากเราจะสนใจชื่อ และพยายามไปหาเวลาที่ไม่ปรากฏ อย่างเวลานี้จะหาอะไรที่ไม่ปรากฏ จะเจอไหม และจะเข้าใจในลักษณะนั้นหรือว่าคิดเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ แทนที่จะรู้ลักษณะนั้นจริงๆ และเข้าใจตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วการที่จะเข้าใจธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่าแม้ในขั้นฟังยังต้องเริ่มจากการที่จะเห็นถูกจริงๆ ว่าทุกอย่างเป็นธรรมหมายความว่าไม่ใช่ใครคนหนึ่งคนใด ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลได้ และธรรมที่มีก็ต่างกันเป็น ๒ อย่างคือนามธรรม และรูปธรรม ถ้าเราตั้งต้นอย่างนี้จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ได้ แต่ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากนามธรรม รูปธรรม เราพูดถึงกุศลจิต อกุศลจิต เราสามารถที่จะไปรู้ความจริงในความเป็นนามซึ่งไม่ใช่ตัวตน และลักษณะนั้นก็เป็นฝ่ายดีด้วย ไม่ใช่ฝ่ายไม่ดี ได้ไหม ถ้าเราไม่เริ่มต้นที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เพราะว่าขณะนี้จริงๆ เราจะกล่าวถึงชื่อ ถึงเรื่องราวของสภาพธรรมได้ตามพระไตรปิฎก และอรรถกถา แต่ว่าสภาพธรรมที่เรากล่าวถึง หรืออ่าน หรือคิด ก็เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ไม่เหลือเลย นอกจากสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วหมดไปเรื่อยๆ สิ่งที่เหลือคือนิมิตของไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ก็ตาม เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) หรือลักษณะของเจตสิกต่างๆ ความโกรธไม่ใช่หนึ่งขณะที่เกิด แต่ว่าสามารถที่จะรู้การเกิดดับสืบต่อในความเป็นลักษณะหนึ่งซึ่งเป็นความโกรธหรือว่าลักษณะต่างๆ ของสภาพธรรม แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็ว ประมาณไม่ได้เลย จนหลอกลวงให้เห็นเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ สิ่งที่เราเข้าใจว่ามีจริงอย่างคน ก่อนฟังธรรมมีคนรูปร่างต่างๆ มีสัตว์รูปร่างต่างๆ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นธรรมแต่ละประเภทซึ่งเกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วจริงๆ จะค่อยๆ คลายการที่จะยึดถือโดยความไม่รู้ว่ามีคนจริงๆ มีสัตว์จริงๆ ไม่ได้เกิดดับเลย นี่คือเพียงขั้นเริ่มที่จะเข้าใจความต่างของบัญญัติ และปรมัตถ์ เราใช้คำนี้บ่อยๆ ปรมัตถธรรมกับบัญญัติ แต่ว่าจริงๆ แล้วขณะนี้เอง ขณะใดที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใดของสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏกับสติสัมปชัญญะ ลักษณะนั้นมีจริงๆ เกิดแล้วดับแล้วก็สืบต่อจนกระทั่งเหมือนว่าไม่ดับเลย เพราะฉะนั้นการที่จะไปรู้ว่าขณะนี้เป็นจิตที่เป็นกุศลจิตต่างกับอกุศลจิต จะรู้เมื่อไหร่ ถ้าไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรมเสียก่อน กุศลจิตเกิดแล้วดับเร็วไหม อกุศลเกิดดับเร็วไหม แล้วก็ไม่รู้ลักษณะนั้นเลย แล้วก็จะไปพยายามคิดว่าจะต่างกันยังไง ๒ อย่าง แต่ว่าถ้าจะคิดต่างโดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แม้ลักษณะของเจตสิกก็ไม่ได้ปรากฏว่าต่างกับจิต แต่ว่าเพียงขั้นฟังเข้าใจว่าที่จิตเป็นอกุศลบ้าง เป็นกุศลบ้าง เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เข้าใจอย่างนี้ แต่ถ้าจะรู้จริงๆ ก็คือต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรม และรูปธรรมก่อน และลักษณะนั้นก็ปรากฏอย่างนั้นแหละ ตามความเป็นจริงอย่างนั้นแหละ แต่ความละเอียดของปัญญาก็สามารถที่จะรู้ความต่างได้ยิ่งขึ้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238


    หมายเลข 11643
    28 ส.ค. 2567