เพียงฟัง เพื่อสะสมอะไร
เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นๆ แต่ให้ทราบความหมายของวิถีจิตกับภวังคจิต ซึ่งไม่ใช่วิถีจิตก่อน เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่วิถีจิต ต้องเป็นภวังคจิตแน่นอน เพราะว่าปฏิสนธิจิตมีขณะเดียว เกิดสืบต่อจากชาติก่อน และตลอดชาตินั้นไม่เกิดอีกเลย แต่ภวังคจิตจะเกิดคั่นสลับทุกวาระของวิถีจิตแต่ละทาง
เพราะฉะนั้นอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ขณะนั้นมีจิตไหมคะ? มี ทำกิจอะไรคะ? ภวังคกิจ ไม่เห็น ไม่ได้ยินทั้งหมด
เพราะฉะนั้นก่อนเห็น ก่อนวิถีจิตจะเกิด จิตเป็นอะไรคะ ต้องเป็นภวังค์ และถ้าดำรงความเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ ไม่มีรูปมากระทบ ก็ไม่มีการหยุดการเป็นภวังค์ได้ แต่เมื่อมีสิ่งที่มากระทบทางตา หรือทางหูก็ตาม ก่อนที่จะมีวาระที่เป็นวิถีจิตเกิด จะมีคำว่า ภวังค์ไหว แสดงให้เห็นว่า จะเกิดทันทีไม่ได้นั่นเอง แต่ไม่ได้ไหวแบบรูป หรือไหวแบบที่เราคิด แต่เริ่มที่จะเปลี่ยนจากการมีอารมณ์ของภวังค์ไปรู้อารมณ์อื่น ๑ ขณะ แล้วหลังจากที่ จริงๆ แล้วต้องละเอียดกว่านั้น เพราะว่าขณะที่รูปกระทบกับภวังค์ จะใช้คำว่า อตีตภวังค์ เพื่อแสดงอายุของรูป ซึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะว่า รูปนั้นจะดับเมื่อไร เร็วเกินกว่าที่ใครจะประมาณได้ทั้งสิ้น เพียงฟัง เพื่อสะสมอะไรคะ สะสมความเห็นถูกว่า ไม่ใช่เรา สะสมความเห็นถูกว่าเป็นสิ่งที่มี และต้องอาศัยความเข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้น จะค่อยๆ คลายความไม่รู้ในขั้นการฟัง เพื่อที่จะให้ถึงกาลที่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป
เพราะฉะนั้นสำหรับภวังคจิตที่เกิดพร้อมกับรูป จะมีชื่อว่า “อตีตภวังค์” เพื่อแสดงให้รู้ว่า รูปที่กระทบมีอายุ ๑๗ ขณะนั้นจะดับเมื่อไร
ภวังค์ขณะที่ ๒ ซึ่งเกิดต่อจากอตีตภวังค์ คือ ภวังคจลนะ เมื่อดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉท หมายความถึงภวังค์ขณะสุดท้าย เมื่อภวังคุปัจเฉทเกิด คือ สิ้นสุดกระแสภวังค์ จะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้เลย ซึ่งถ้าภวังคุปัจเฉทไม่เกิด วิถีจิตเกิดไม่ได้เลย จะเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ แล้วก็อาจจะเป็นภวังคจลนะ แต่ถ้ายังไม่ถึงภวังคุปัจเฉท วิถีจิตจะเกิดไม่ได้
ที่มา ...