ความติดข้อง โลภมูลจิต หรือจิตที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย


    คุณนีน่า เรื่องธรรมที่ปรากฏเดี๋ยวนี้เอง ให้อาจารย์ช่วยอธิบายให้เข้าใจดีขึ้น ไม่ใช่เรื่องสติเท่านั้น ทุกอย่างที่เราอ่านต้องเป็นเรื่องเดี๋ยวนี้เอง

    สุ. เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการสนทนาธรรม ก็อาจต่างคนต่างเข้าใจ และอาจเข้าใจผิดด้วย อนภิชฌา ความไม่โลภ ยากไหม คุณสุกิจ ไม่ยากหรือคะ ความไม่โลภยากมาก เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า เราโลภ หรือติดข้องในเรื่องอะไรบ้าง ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในขณะที่กำลังปรากฏ แม้ไม่ปรากฏก็ยังติดข้อง และทุกวันด้วย วันไหนบ้างไหมที่เราไม่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่ปรากฏ แล้ววันไหนบ้างที่เราไม่ได้คิดด้วยความติดข้องในเรื่องราว ในสิ่งที่เราเห็นแล้ว แล้วก็ยังต้องการต่อไปอีก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อสะสมความติดข้องไว้มาก นานแสนนาน ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว แล้วจะไม่ติดข้อง จะเป็นไปได้อย่างไร อย่างรวดเร็ว ต้องเป็นจีรกาลภาวนาจริงๆ ด้วยการเป็นผู้ตรงที่จะต้องรู้ว่า แม้ว่าจะมีการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ละการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยยังมีการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะไม่ติดข้องในรูป ในเสียง แต่ไม่มีความรู้เรื่องสภาพธรรมว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ด้วยเหตุนี้ ความติดข้องจึงมีความติดข้องในความเห็นผิด เข้าใจผิด เพราะไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริง ที่จะหมดความติดข้องด้วยความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้นสำหรับโลภมูลจิต หรือจิตที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ก็จะแยกเป็นโลภะในความเห็นว่า มีตัวตน ซึ่งเป็นความเห็นผิดอย่างหนึ่ง และโลภะ แม้ไม่มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน แต่ก็มีความพอใจในสิ่งที่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 242


    หมายเลข 11705
    31 ส.ค. 2567