อัตตานุทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ ไตรลักษณะ
สุ. เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังฟัง ก็เข้าใจถูกว่า มีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ไม่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำ ๒ คำ คือ อัตตานุทิฏฐิ กับสักกายทิฏฐิ
ทิฏฐิ กลางๆ นี่หมายถึง ความเห็น ถ้ากล่าวถึงทิฏฐิเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงมิจฉาทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิ แต่เมื่อไรที่กล่าวถึง ความเห็นผิด จะมีคำว่า มิจฉาทิฏฐิ ถ้ากล่าวถึงความเห็นถูก ก็จะมีคำว่า สัมมาทิฏฐิ
เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการเห็น แล้วไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เห็น สิ่งนั้นปรากฏเหมือนมีจริง ยั่งยืน ตรงกันข้ามกับไม่เที่ยง ใช่ไหมคะ ความจริงของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้น เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะเป็นไตรลักษณ์ คือ ลักษณะทั้ง ๓ ของสภาพธรรมที่เกิด เมื่อเกิดแล้วต้องดับ เป็นอนิจจัง แล้วก็บังคับบัญชาไม่ได้ด้วย เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นทุกขัง ก็คือทุกข์จริงๆ ก็คือสิ่งที่ใครก็ไม่สามารถจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ คือ การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ถ้าป่วยไข้ รักษาได้ ใช่ไหมคะ แต่ใครจะรักษาสิ่งที่เกิด ไม่ให้ดับได้บ้าง ไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย
เพราะฉะนั้นไตรลักษณะทั้ง ๓ ของสิ่งที่เกิดขึ้น คือ อนิจจัง แต่ว่าเห็นเป็นนิจจัง อนัตตา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ไม่ใช่ของใคร และไม่ใช่ใคร แต่เห็นเป็นเรา เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นอัตตา ตรงกันข้ามกับอนัตตา
ด้วยเหตุนี้ ขณะที่เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นอัตตานุทิฏฐิ แต่สักกายทิฏฐิ หมายถึงความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่เกิดกับตนว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็มุ่งหมายเฉพาะส่วนที่ยึดถือว่าเป็นเราเป็นสักกายทิฏฐิ แต่สักกายทิฏฐิก็คืออัตตานุทิฏฐินั่นเอง
เพราะฉะนั้นความหมายของอัตตานุทิฏฐิก็กว้าง รวมทั้งสักกายทิฏฐิ และที่ไม่ใช่สักกายทิฏฐิ แต่ก็เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นที่คุณสุกัญญาถามถึงภายนอก รูปภายนอก เพราะฉะนั้นตอนนี้บอกซิคะว่า ภายนอก รูปอะไรบ้าง
สุกัญญา อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว ก็ยังเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน
สุ. เป็นต้นไม้ เป็นภูเขา เป็นอะไรทั้งหมด ใช่ไหมคะ นั่นคืออัตตานุทิฏฐิ ไม่ได้รู้ความจริงว่า เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะจริงๆ กระทบจักขุปสาท สิ่งนั้นจึงปรากฏ
ที่มา ...