เมตตา-โทสะ


    เด่นพงศ์ สมมติผมอยากให้มีนิสัยเมตตา สะสมเพื่อให้เกิดเมตตาไปเรื่อยๆ จะทำให้ผมเข้าใจขึ้นอีก

    สุ. เมตตาเป็นธรรมฝ่ายดี “ผมอยากมีเมตตา” คือการที่ฟังธรรม เพื่อวันหนึ่ง เราจะเข้าใจความเป็นธรรมโดยตลอดทุกประการว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ถ้าฟังโดยความเป็นเรา เราก็อยากจะมีธรรมฝ่ายดี โดยไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้ว ทุกขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไป สะสมสืบต่อ ปรุงแต่ง ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น โดยที่ใครก็บังคับไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้าได้ฟังธรรมแล้วมีความเข้าใจความต่างกันของ “อวิชชา” กับ “วิชชา” หรือแม้แต่ขณะที่เป็นเมตตากับโทสะว่าต่างกัน ก็แสดงให้เห็นว่า เรารู้แล้วว่า โทสะเกิดขึ้น ๑ ขณะ ไม่มีประโยชน์อะไรกับใครเลย แม้แต่ตนเองก็ไม่มีประโยชน์ ยังไม่ทันคิดทำร้ายใครด้วยกาย ด้วยวาจา

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ ก็คืออโทสะ และอโทสะเป็นเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตทั้งหมด แต่เวลาที่เป็นเมตตาจะมีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ ขณะนั้นเราก็จะได้รู้ว่า วันหนึ่งๆ เราคิดถึงใครบ้างตลอดเวลา แม้ในขณะนี้ก็เห็นเป็นคน และจิตขณะนี้มีเมตตา มีความอ่อนโยน พร้อมที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นๆ หรือเปล่า นี่คือเข้าใจลักษณะของเมตตา และก็รู้ตามความเป็นจริงว่า เมตตาตรงกันข้ามกับโทสะ

    เด่นพงศ์ คือบางครั้งสภาพจิตผมรู้สึกตัวว่ามีเมตตา นี่โดยสัจจริง แต่บางครั้งอยู่ดีๆ ก็หายไปไหนไม่ทราบ มันคิดไม่ทัน มาคิดอีกที สายไปเสียแล้ว แล้วก็เสียใจ

    สุ. ก็หมายความว่า คุณเด่นพงศ์ลืมว่า จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เร็วมาก เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ เดี๋ยวเป็นวิบาก เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล เดี๋ยวเป็นกิริยา ไม่มีใครสามารถจะไปจัดแจงลำดับการเกิดของจิตให้เป็นอย่างที่ต้องการได้ แต่ละขณะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น

    ที่ฟังอย่างนี้ ฟังแล้วฟังอีก ก็เพื่อที่จะให้ถึงความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ว่าไม่ใช่เราเลย วันหนึ่งวันใดก็จะเห็นธรรมว่า เป็นธรรม เป็นอนัตตา

    เด่นพงศ์ อย่างเวลาขับรถไป คนจะออกจากซอย ผมก็หยุดให้เขาออก ผมก็ว่าผมมีเมตตากับเขา พอขับไปอีกสักหน่อย คนมาตัดหน้า เมตตาหายไปไหนแล้ว

    สุ. จิตเกิดดับค่ะ

    เด่นพงศ์ ทีนี้กรณีอย่างนี้ ผมจะทำอย่างไร

    สุ. ถ้ามีกฎเกณฑ์ ก็คือไม่เข้าใจอุปนิสยปัจจัย ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย ถ้าทราบว่า เมตตาที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วดับไปก็จะเป็นปัจจัยให้เมตตาเกิดต่อไปได้ แต่โทสะที่สะสมมาก็มากมาย เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นอะไรมีกำลังที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล และอกุศล


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 244


    หมายเลข 11751
    28 ส.ค. 2567