การแสดงธรรมที่ดี
ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริง ตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล คฤหัสถ์ก็ต้องมีความรู้น้อยกว่าพระภิกษุ เพราะฉะนั้น เวลาที่คฤหัสถ์สนทนาธรรมกัน ก็เท่าที่จะกระทำได้ตามอัธยาศัย แต่ว่าถ้าเป็นภิกษุแล้วเนี่ย ก็ต้องมีความสำนึกในความเป็นภิกษุที่จะต้องรู้ว่า ควรแสดงธรรมอย่างไร ข้อที่ ๑ ค่ะ คุณธนากร
อ.ธนากร เราจักแสดงธรรมไปตามลำดับ ครับ
ท่านอาจารย์ เห็นไหมคะ สำหรับคฤหัสถ์เดี๋ยวเรื่องนั้นก็เดี๋ยวเรื่องนี้ ก็สนทนาได้ แล้วแต่ว่าใครมีความข้องใจเรื่องอะไรก็สนทนากัน ประโยชน์ คือเพื่อความเข้าใจ แต่สำหรับพระภิกษุ ก็ต้องรู้ว่า ถ้าเราสับสนเราพูดเรื่องผลก่อน และก็ตัวเหตุอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วชาวบ้านเนี่ยสามารถจะเข้าใจได้ไหม แต่อะไรก็ตาม ที่จะทำให้เขาเนี่ยสามารถมีความเข้าใจขึ้น ต้องไม่ลืมนะคะ ว่าประโยชน์ของการฟังมีอย่างเดียว คือใ ห้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น เพราะว่า บางคนเนี่ยฟังเรื่องนี้ แต่จริงๆ ไปถามเรื่องอื่น แสดงว่าฟังเรื่องนั้น หรือเปล่า ในขณะที่จะถามเรื่องอื่นเนี่ย แสดงว่าคิดเรื่องอื่น ไม่ได้ฟัง และเข้าใจคำที่ได้ฟัง ก็แสดงอยู่ชัดเจน
เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะเข้าใจธรรมเนี่ย ก็ต้องรู้ว่าด้วยความมีเมตตา คือ หวังดีที่จะให้เขาเข้าใจ ใช่ไหม จึงมีการสนทนาธรรม และกล่าวถึงธรรม เพราะฉะนั้น ความหวังดีไม่ใช่ว่า ผู้พูดอยากจะพูดอะไรก็พูดไปตามใจชอบ คนฟังจะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ เข้าใจมากน้อยก็ไม่สนใจ เพราะคนพูด อยากจะพูดอย่างเงี้ย แต่ถ้ามีความหวังดีก็ต้องตามลำดับ เขายังไม่รู้จักธรรมเลย แล้วไปพูดเรื่องอริยสัจ ๔ หรือปฏิจจสมุปบาท หรือธาตุ แล้วเขาจะเข้าใจอะไร
เพราะฉะนั้น ก็เป็นของธรรมดาที่แน่นอนว่า ต้องคิดถึงประโยชน์ของคนฟัง เพื่อเขาจะเข้าใจ รู้แน่ว่า คำนี้เขาไม่เข้าใจ อย่าเพิ่งไปถึงคำอื่น เพราะว่าควรที่จะได้เข้าใจแต่ละคำ อย่างมั่นคงจริงๆ นะคะ การศึกษาธรรมไม่เหมือนการศึกษาวิชาอื่น เพียงแค่จะสอบ หรือได้ว่าเข้าใจเผินๆ แต่การศึกษาธรรมเนี่ย ความลึกซึ้งของสิ่งที่มี และก็ยากที่จะรู้ ถ้าไม่เข้าใจตามลำดับ ไม่มีทางเข้าใจแน่ บางคนพอมาถึง ก็อยากให้พูดเรื่องสติ ยังไม่รู้เลยว่าสติ คือ อะไร เป็นเรานี่แหละอยากฟังเรื่องสติ และก็อยากทำสติ จะมีประโยชน์อะไร
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าอยากจะพูดอะไรก็พูด หรือคนฟังอยากจะฟังอะไรก็ฟัง แต่ประโยชน์ของคนฟังสำคัญที่สุดว่า พูดตามลำดับให้เขาเข้าใจ ถ้าเขาเข้าใจแล้วก็ตามลำดับที่เขาได้เข้าใจแล้วได้
อ.ธนากร ข้อที่ ๒ เราจักแสดงอ้างเหตุ ครับ
ท่านอาจารย์ ไม่พูดเลอะเทอะ
อ.ธนากร ข้อที่ ๓ เราจักแสดงธรรม อาศัยความเอ็นดู ครับ
ท่านอาจารย์ ก็แน่นอนค่ะ ทำไมไม่สนทนากันเรื่องอื่นละคะ ไปสนุกสนานไปเที่ยว ไปพักผ่อน อะไรก็ได้ แต่นี่เพื่อให้ประโยชน์สูงสุด คือ ให้เขาได้เข้าใจสิ่งซึ่งเป็นโอกาสที่ในชีวิตหายากมากเลย
อ.ธนากร ในเรื่องของความเมตตา หรือว่าความเอ็นดูนี้ พระภิกษุที่แสดงก็จะต้องมีความเข้าใจพระธรรม แล้วก็เห็นโทษของวัฏฏะ เห็นโทษของกิเลส
ท่านอาจารย์ ไม่รู้ธรรม แสดงธรรมได้ไหม
อ.ธนากร ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง พูดอะไรก็ไม่รู้ เลอะเทอะ
อ.ธนากร เพราะฉะนั้น การที่ท่านจะมีจิตเอ็นดูได้ ก็เพราะว่า เข้าใจว่าทุกคนยังมีกิเลส แล้วก็ตกอยู่ในทุกข์ ในวัฏฏะ ไม่เข้าใจพระธรรม
ท่านอาจารย์ เอ็นดูที่เขาไม่เข้าใจธรรม เพราะเขาไม่เข้าใจธรรมก็หวังดี ที่จะให้เข้าใจธรรม ใครจะหวังดีกับใคร รู้ได้เลยนะคะ ถ้าหวังดีที่สุด ก็คือ ว่าให้เขาได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น หวังดีให้เขาฟังเรื่องตลก หรือคะ นั่นหวังดี หรือเปล่า ถ้าพูดตลกหวังดีต่อคนฟัง หรือเปล่า ไม่ได้ให้เขาเข้าใจอะไรเลยนะคะ เท่ากับหวังไม่ให้เขาเข้าใจธรรม สมควรไหม เป็นพระภิกษุแล้วพูดตลก หวังไม่ให้เขาเข้าใจธรรม อาจจะบอกว่าให้เขาเข้าใจธรรมในแนวตลก ได้ยังไง เพราะว่า ขณะที่ฟังธรรมแล้วรู้สึกตลก เข้าใจธรรม หรือเปล่า
อ.ธนากร ไม่เข้าใจครับ ข้อที่ ๔ เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ครับ
ท่านอาจารย์ หวังอะไร ถ้าให้ คือ ให้ ถ้าให้แล้วหวังเนี่ย ให้ หรือเปล่า นั้นไม่ใช่ให้เลย
อ.ธนากร ข้อที่ ๕ คือ เราจักไม่แสดงธรรมกระทบตน และผู้อื่น ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะว่า ขณะนั้นไม่ใช่ความหวังดีที่จะให้เข้าใจธรรม
อ.ธนากร ถ้ายังมีความเป็นเรา มีความเป็นตัวตน ไม่ใช่ธรรม เมื่อแสดงธรรมก็กระทบตน และก็ผู้อื่น
ท่านอาจารย์ หมดกิเลสหมดตัวตน หรือยัง
อ.ธนากร ยัง ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เข้าใจธรรมจริงๆ หรือเปล่า
อ.ธนากร ยังไม่เข้าใจจริงๆ ครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ แล้วพูดได้ไหม
อ.ธนากร พูดไม่ได้ ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ เข้าใจแค่ไหน จริงแค่ไหน ก็พูดตามความเป็นจริงที่เข้าใจ เพราะเหตุว่า ธรรมยาก คนที่ไม่เคยฟังธรรมเลยเนี่ย พอฟังแล้วจะรู้สึกว่ายากมาก แต่ว่าถ้าคนพูดเข้าใจแค่ไหน แล้วก็มีความหวังที่จะให้คนอื่น ได้เข้าใจอย่างที่ได้เข้าใจ ก็เป็นประโยชน์แล้ว แต่ว่าถ้าไม่เข้าใจ และพยายามไปพูด จะให้คนอื่นเข้าใจ ได้ไหม
อ.ธนากร ไม่ได้ ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นนะคะ คนพูดต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจก็พูดธรรมตลกๆ ได้ โดยที่ว่า คิดว่าไม่เข้าใจธรรม แต่พูดธรรม ตลก