ปัญญาไม่ลวง
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจ ความต่างของบรรพชิตกับคฤหัสถ์ จะเรื่องย้อมผม จะเรื่องแต่งตัว จะเรื่องเสื้อผ้า จะเรื่องตัดผม หรืออะไรทั้งหมด ให้รู้ว่าคฤหัสถ์เป็นใคร ต่างอัธยาศัย มีใครบ้างคะ ที่ไม่ชอบสิ่งที่สวยๆ งามๆ ดอกไม้ก็ยังต้องชอบ เสียงก็ต้องชอบ ดนตรีต่างๆ กลิ่นก็ต้องชอบ รสก็ต้องชอบ สัมผัสก็ต้องอากาศกำลังสบาย ไม่ร้อนเกินไปไม่เย็นเกินไป ผู้ที่จะละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นผู้ที่ตรง และจริงใจ เป็นคุณธรรมของพระอนาคามีบุคคล ไม่ใช่พระโสดาบัน
เพราะฉะนั้น เห็นไหมคะว่ากิเลส ละยากมาก เพราะลึกมาก ไม่ใช่ปลอม ไม่ใช่ว่าจะฟังธรรมต้องนุ่งขาวห่มขาว ไม่มีในครั้งพุทธกาล ทำไม ต้องมีเหตุผล ทำไมต้องนุ่งขาวห่มขาว นุ่งขาวห่มขาวแล้วเข้าใจธรรม หรือ หรือว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เปล่า แต่เห็นความต่างอย่างมาก ความตรง และความจริงใจ ในสังสารวัฎที่สะสมมา รู้ไหมว่า ธรรมที่เกิดขึ้นเพียงหนึ่ง ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย หาอีกไม่ได้ในสังสารวัฎ แต่สิ่งที่เป็นกุศล และอกุศลความชอบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สะสมอยู่ตลอดเวลา ทำให้แต่ละบุคคลต่างอัธยาศัย บางคนก็ไม่แต่งตัวเลย ไม่สนใจผม ไม่สนใจอะไรเลย แต่ต้องนอนให้หลับสบายๆ ต้องมีหมอนเฉพาะที่จะทำให้นุ่ม แต่ละหนึ่ง นี่คือ ปุถุชน
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าความลึกของกิเลสที่สะสมมาต่างอัธยาศัย เป็นเพศคฤหัสถ์ แต่ฟังธรรม เข้าใจธรรมในเพศของตนๆ ได้ วิสาขานิคารมารดา ท่านก็มีอัธยาศัย ท่านก็ยังมีเครื่องประดับที่สวยงาม แต่ท่านก็ฟังธรรม แต่ละหนึ่งตามความเป็นจริงคือ ไม่ลวงไม่หลอกใครในสิ่งภายนอก แต่ต้องรู้จริงๆ ว่าปัญญาเป็นสิ่งภายใน ที่ใครก็รู้ไม่ได้ ถ้าไม่มีการสนทนากัน ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าเราจะขัดกิเลสแบบเรา พยายามที่จะไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ ฝืนอัธยาศัย หรือว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ว่าสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น ใครก็บังคับให้ใครเป็นอะไรไม่ได้ ใช่ไหม แต่ละหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อไหร่จะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม ความชอบ อาหารนี่ค่ะ บางคนชอบเผ็ด บางคนชอบเค็ม บางคนชอบหวาน ไปบอกให้เขาชอบอย่างเดียวกันได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์ แต่เขาสามารถเข้าใจธรรม ได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ เพราะรู้ว่าขณะนั้น หวานก็เป็นธรรม เค็มก็เป็นธรรม ข้อสำคัญที่สุด กว่าจะเข้าใจว่าเป็นธรรม โดยละการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนต้องถึงระดับไหน ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ว่ามีใครสามารถจะไปเข้าห้องปฏิบัติ ๑๐ วัน ๓๐ วัน หรือปีนึง แล้วก็จะเป็นพระโสดาบันได้ แต่ต้องรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญา ทุกคำของพระองค์นำไปสู่ความเข้าใจถูก ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องลวง หรือเรื่องหลอกทั้งสิ้น ใครก็ตามอัธยาศัยใดๆ ที่สะสมมาก็ตาม ถ้าเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม ผู้นั้นได้ประโยชน์ และก็เป็นผู้ที่ตรงด้วย ก็เป็นผู้ที่มั่นคงในสัจจะ ในความจริง ซึ่งตรงต่อความจริง ก่อนอื่นต้องรู้ความต่างกันของเพศคฤหัสถ์ และบรรพชิต ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงทั้งหมดเลย จะตำหนิใคร ตำหนิพระภิกษุที่ละเมิดสิกขาบท หรือจะตำหนิคฤหัสถ์ ซึ่งเขามีชีวิตอย่างคฤหัสถ์