รู้ประมาณในการศึกษาธรรม


        อ.อรรณพ รู้ประมาณในการศึกษา และก็รู้ฐานะของตนเอง คือ อย่างไรครับ จึงจะเป็นไป เพื่อประโยชน์ที่แท้จริง

        ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม ในภาษาของตนๆ จะขวนขวายไปใช้คำอะไรที่ไม่รู้จัก และก็อยากเข้าใจคำนั้น เพราะคิดว่ายังไม่รู้คำนั้น ถูกต้องไหม

        อ.อรรณพ ก็ไม่ถูกต้อง ขณะนั้นก็ อกุศล โลภะก็สนใจเรื่องภาษาเรื่องคำ

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจว่าขณะนี้ มีสิ่งที่มีจริง ที่สามารถรู้ความจริงตามที่ได้ฟังได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความขวนขวาย ด้วยความเป็นตัวตน แต่ต้องเพราะปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จึงสามารถที่จะละความเป็นเรา แล้วก็เป็นหนทางที่จะทำให้ ละความเป็นเราได้ ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าพอได้ยินคำว่า มรรคมีองค์ ๘ พูดได้เลยอะไรบ้าง แล้วจะทำ อย่างนั้นถูกต้องไหม

        เพราะฉะนั้น ก็คือว่า ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจเดี๋ยวนี้ ทีละเล็กทีละน้อย จะน้อยสักเท่าไหร่ก็ตามแต่ แต่ทีละน้อยนี่แหละ วันหนึ่งก็สามารถที่จะทำให้รู้ว่า นี่คือ หนทางที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังตั้งแต่คำแรก สิ่งที่มีจริงขณะนี้มีจริง เกิดขึ้น และดับไป ทุกขอริยสัจจะ ธรรมที่มีจริงๆ คือ สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา ค่อยๆ เข้าใจว่า ตอนนี้ไม่ได้เข้าใจว่า ธรรมเกิดดับเลย เป็นเราหมดเลย เราเห็น เราโกรธ เราชอบ ยังเป็นเราเต็มที่

        เพราะฉะนั้น สิ่งที่เคยเป็นเรานี่แหละ ไม่ใช่เรา ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย สิ่งที่เคยเป็นเราทั้งหมดนี่แหละ ไม่ใช่เรา เมื่อมีความเข้าใจถูกต้องขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น ใครจะไปบังคับว่า เดี๋ยวนี้ เห็น เกิดดับไม่ใช่เรา ให้ประจักษ์แจ้ง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ใช่ไหม แต่เมื่อมีความเข้าใจ ที่มั่นคงขึ้น และรู้ว่ายังไม่ถึงเวลา ที่ปัจจัยจะทำให้ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่า ความเข้าใจยังไม่พอที่จะละความต้องการ และความเป็นเราอริยสัจจะที่ ๑ เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เพราะเกิดดับ อริยสัจจะที่ ๒ ทุกขสมุทย เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ความติดข้องเป็นสิ่งที่ควรละ ถ้าไม่ละ จะถึงได้ยังไง เพราะฉะนั้น การละไม่ใช่ไปละเมื่อไหร่เลย ค่อยๆ ละความไม่รู้ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น จนถึงอีกระดับหนึ่งของปัญญา ซึ่งเป็นปฏิปัตติ ซึ่งมาจากการที่เข้าใจธรรม

        เพราะฉะนั้น จะเป็นนั่งปฏิบัติสำนักไหน ไม่มีทางเป็นปฏิบัติได้เลย เพราะเห็นว่า ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ไม่หวังเพราะเหตุว่า ต้องละความหวัง เมื่อปัญญารู้จริงๆ ว่าหวังไม่ได้ แต่เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ มากน้อย ก็แล้วแต่ เข้าใจนิดนึงแล้วก็ไม่เข้าใจ ใช่ไหม เห็นไหม เพราะว่าถูกอกุศลทับถมอยู่ตลอดเวลา กำลังฟังเข้าใจแล้วก็ไปเพลิดเพลินซะเรื่องอื่น อกุศลนั้นก็ทับถม ก็ต้องตั้งต้นอีก ตั้งต้นใหม่ทุกครั้ง ที่จะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ฝ่าคลื่นลมของกระแสกิเลส เหมือนอยู่ในมหาสมุทรเลย ก้าวไป ว่ายไป แล้วก็ถอยกลับ เพราะคลื่นลม ก็ไปอีก จนกว่าสามารถที่จะมีกำลังพอที่จะฟันฝ่าคลื่นลมแม้ใหญ่ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต บางคนก็บอกว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พอละได้ เรื่องใหญ่ๆ ละไม่ไหว ไม่จริง เป็นปัญญาแล้วทั้งใหญ่ และเล็ก จึงสามารถที่จะละได้ ถ้าไม่มีปัญญา เล็กก็ละไม่ได้ ใหญ่ก็ละไม่ได้ แต่ถ้ามีปัญญาที่มีกำลัง ไม่ใช่เรา ขณะนั้นก็เริ่มเข้าใจ เวลาที่มีความโกรธเกิดขึ้น เคยคิดยังไง

        อ.อรรณพ จะทำไม่ให้โกรธ ด้ยังไง

        ท่านอาจารย์ ทำยังไงจะไม่ให้โกรธ นั่นหรือเข้าใจธรรม เห็นไหม ต้องรู้ตัวเลย นั่นไม่เข้าใจธรรม ถ้าเข้าใจธรรม ปัญญารู้ว่า โกรธมีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วปรากฏ แล้วทำไมไม่รู้ ก็ฟังมาตั้งแต่ต้นว่าทุกอย่างเป็นธรรม พอถึงเวลาจริงๆ โกรธ ทำยังไงจะไม่ให้โกรธ ตัวเรา ความต้องการมาทันที

        เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในสังสารวัฏ ปัญญาน้อยมาก เพราะเหตุว่า ขาดการฟัง แต่ว่าเพราะไม่รู้ กับเพราะติดข้องเนี่ยมากมายมหาศาล จนกระทั่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมาก่อน โลภะมาก่อน ความไม่รู้มาก่อน จนกว่าปัญญามีกำลังทีละเล็กทีละน้อย นี่คือ หนทาง ไม่ใช่ไปนั่งสัมมามรรค สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ แล้วก็ไปนั่งทำ แต่ว่าไม่ได้รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเนี่ยหนทาง ก็คือ ความเข้าใจตั้งแต่ต้น จนกว่าจะถึงระดับขั้นของปฏิปัตติ ขณะนั้น ไม่มีเราจะไปเลือกลมหายใจ หรือว่าไม่มีเราที่จะไปบอกว่า สติที่เกิดให้รู้อย่างนั้นอย่างนี้ เพราะสติเกิดทันที ระลึกทันทีขณะนั้น ใครไปทำอะไรได้ เพราะฉะนั้น ทางนี้เป็นหนทางที่เข้าใจในความเป็นอนัตตาโดยตลอดยิ่งขึ้นเพิ่มขึ้นเมื่อไหร่ ไม่หวั่นไหวเมื่อไหร่ เพราะรู้ว่า ขณะนั้นก็มีธรรมที่ปรากฎความเป็นธรรม ให้เข้าใจถูกต้อง จนกว่าวันนี้ทั้งวันเป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งคุณอรรณพหรือใครๆ ก็ไม่รู้ แต่พอปัญญาได้อบรมแล้ว ไม่ว่าเมื่อไหร่หลงลืม ก็รู้ว่าเป็นธรรม แม้หลงลืมก็ยังรู้ว่าเป็นธรรม จึงไม่หวั่นไหว แล้วเวลาที่สติเกิด ก็รู้ว่าไม่ใช่เรา ทั้งหมดต้องทั่ว

        สิ่งที่เคยถูกปกปิดไว้ในชีวิตทั้งวันค่อยๆ เปิดเผย เดี๋ยวนี้มีอะไร ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะไม่รู้ ก็เห็นแท้ๆ ยังไม่รู้เลยว่าเดี๋ยวนี้เห็น รู้ไหม เดี๋ยวนี้มีอะไร ก็ไม่รู้ ก็เห็นก็มี คิดก็มี ได้ยินก็มี นี่คือ สิ่งที่ปรากฏเพียงเล็กน้อย แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจิตกี่ประเภท เจตสิกเท่าไหร่ แม้แต่ความรู้สึกเดี๋ยวนี้ก็มี รู้สึกอย่างไรไม่เห็นมีใครตอบ หมดแล้ว ดับแล้ว ผ่านไปหมดด้วยความไม่รู้ จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ ถึงเฉพาะ เหมือนแสงสว่างที่ส่องไปที่แต่ละหนึ่ง ที่มีจริงๆ ที่จะเข้าใจถูกต้องในสิ่งนั้นว่า เป็นสิ่งนั้นไม่ใช่เราจนทั่ว อย่าลืม จนทั่ว หมายความว่า จนไม่สงสัย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าความดีใจเกิดขึ้น เอ๊ะ นี่เราหรือเปล่า หรือเป็นสภาพรู้ หรือเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก ก็คือ ไม่ใช่เรา

        เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้น ที่สามารถที่จะรู้ความค่อยๆ เจริญขึ้น ที่จะไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอะไร ไม่ต้องเรียกชื่อ กว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ขึ้นๆ ๆ ก็คือหนทางที่จะทำให้เป็นมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น ก่อนที่ปัญญาจะเจริญจนกระทั่งสามารถเข้าใจสภาพธรรมได้เพิ่มขึ้น สภาพธรรมก็ต้องเกิดตามที่ได้ทรงแสดงไว้ จิตเห็นประกอบด้วยเจตสิก ๗ แต่ก็ไม่ปรากฏสักหนึ่ง

        เพราะฉะนั้น เลือกให้ปรากฏได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น หนทางนี้ เป็นหนทางของอนัตตาโดยตลอด เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ อนัตตาชัดเจนไปทำอะไรก็ไม่ได้ ใช่ไหม จะให้เกิดเวลานั้น หรือเวลานี้ก็ไม่ได้ แต่เกิดเมื่อไหร่ รู้ในความเป็นอนัตตาเมื่อนั้นทันที และก็ไม่ได้เลือกอารมณ์ด้วย ไม่ใช่ว่าต้องไปที่ลมหายใจหรืออะไร ถ้าจะรู้ที่ลมหายใจ ได้ไหม

        อ.อรรณพ แล้วแต่

        ท่านอาจารย์ เห็นไหม ไม่อย่างนั้นกลัวอะไร จะเริ่มบังคับสตินิดๆ ว่าอย่าไปรู้ที่ลมหายใจ เห็นไหม ว่าความไม่รู้เนี่ยมากมายมหาศาลระดับไหน และความเข้าใจที่ถูกต้องที่มั่นคง ไม่มีใครทำร้ายหรือทำอันตรายแก่ปัญญาได้เลย และไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนปัญญาให้เป็นความไม่รู้ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ที่รู้ขึ้นๆ จะทำให้ความไม่รู้นั้น ลดน้อยลงไป หนทางเดียว ถ้าไม่รู้ ก็ยังไม่รู้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าค่อยๆ รู้เมื่อไหร่ วันนึงความรู้ก็เพิ่มขึ้น และสิ่งที่ไม่ปรากฎ สติระลึกมีจริงๆ ความรู้สึกก็มีจริง ความจำมีไหม เดี๋ยวนี้ก็มี ก็ไม่โผล่สักที ไม่ได้ปรากฎให้รู้สักที ว่ากำลังจำ แต่ถ้าสติเกิดระลึกได้ไหม เลือกไม่ได้เลย มิฉะนั้นแล้ว จะละความติดข้องในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ได้อย่างไร

        เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หนทางที่เป็นไปด้วยความไม่รู้ แล้วไปนั่งทำหวังจะรู้ แต่ว่าเป็นหนทางที่เรียกว่า ยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ไม่ใช่เรา แต่เพราะเข้าใจขึ้นจากการได้ฟัง และไตร่ตรอง ก็จะทำให้ปัญญาขั้นฟังปริยัติ เป็นปัจจัยทำให้ปฏิปัตติ สติสัมปชัญญะเกิด ความสงสัยหมดไหม

        อ.อรรณพ ยังไม่หมดทีเดียว

        ท่านอาจารย์ ยังไม่หมด ใช่ไหม เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะเกิด สามารถจะสงสัยในสิ่งที่ปรากฎ ได้ไหม เพราะนั่นไม่ใช่เรา แต่กำลังสงสัยเป็นเรา เมื่อไหร่จะหมดก็ต้องปัญญาที่ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้นๆ


    หมายเลข 11783
    31 ธ.ค. 2566